ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ จีนยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบนพื้นฐานภายใต้แนวคิด “ใหญ่และดี” โดยเดินหน้าขยายการผลิตสัตว์น้ำในลักษณะ “อุตสาหกรรมขนาดใหญ่” เพื่อรองรับแนวโน้มความต้องการโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นอาหารเสริมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ องค์กรอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (U.N. Food and Agriculture Organization) ได้กล่าวไว้ว่า “การบริโภคอาหารทะเลโลกในปัจจุบันขยายตัวมากกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับของ 60 ปีก่อน และโดยที่จำนวนประชากรโลกและรายได้เพิ่มขึ้น การบริโภคอาหารทะเลจะยังคงเติบโตต่อไป”
ด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศน์ลดลงอย่างต่อเนื่อง การทำประมงแบบดั้งเดิมในผืนแผ่นดิน และริมชายฝั่งที่มากเกินไปได้กลายเป็นข้อห่วงใยในวงกว้าง
นี่ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ การก่อตัวของสภาพอากาศในแถบทะเลจีนใต้ มีแนวโน้มถี่และะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหลายปีหลัง
จึงไม่น่าแปลกใจที่ในระยะ 2-3 ปีหลัง หลายองค์การระหว่างประเทศ และผู้คนโดยรวมต่างมองว่า “การประมงที่ยั่งยืน” ที่มาพร้อมกับจุดเด่นในเรื่อง “ความแม่นยำ” และ “ประสิทธิภาพ” เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาอาหารในระยะยาว
ด้วยความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น ข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ของจีน และปัจจัยอื่น การทำประมงนอกชายฝั่งจึงกลายเป็น “คำตอบ” ของจีน โดยอีกหนึ่งโครงการฟาร์มประมงอัจฉริยะขนาดใหญ่รูปแบบใหม่ที่น่าจะพูดถึงก็ได้แก่ “Blue Diamond 1”
โครงการนี้ริเริ่มตั้งแต่ปี 2014 เมื่อคณาจารย์ของ Ocean University of China ได้จับมือกับกลุ่มธุรกิจว่านเจ๋อเฟิง (Wanzefeng Group) ด้านการประมงแห่งมณฑลซานตง ทดลองเลี้ยงปลาแซลมอนแอตแลนติก ที่มีแหล่งกำเนิดสายพันธุ์จากนอร์เวย์ ในบริเวณนอกชายฝั่งทะเล
แม้จะสรุปผลว่า การทดลองจัดว่าประสบความสำเร็จ แต่โครงการนี้ในระยะแรก ก็ประสบปัญหาอุปสรรคหลายประการ อาทิ ความเสียหายของกรงจากผลกระทบของพายุไต้ฝุ่น และการเล็ดลอดออกนอกกรงของปลาจากคลื่นสูง
ว่านเจ๋อเฟิงได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว และประกาศแผนงานที่มีความทะเยอทะยานในชื่อ “12+1” ที่ประกอบด้วย 12 ฟาร์มประมงนอกชายฝั่งทะเล และ 1 แพล็ตฟอร์มที่จัดการแบบรวมศูนย์ในพื้นที่น้ำเย็นห่างจากชายฝั่งของอ่าวไหลโจว (Laizhou) มณฑลซานตงราว 10 กิโลเมตรที่มีอุณหภูมิระหว่าง 13-15 องศาเซลเซียส ซึ่งกลายเป็น “ต้นแบบ” ของโครงการพัฒนาในเวลาต่อมา
โครงการฟาร์มอัจฉริยะนี้ในระยะถัดมาถูกขยายใหญ่ โดยแต่ละชุดประกอบด้วย “กรงเหล็ก” จำนวน 40 ถัง ที่มีปริมาตรรวมถึง 160,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้เลี้ยงปลาสายพันธุ์ซูชิคุณภาพสูง
ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํานอกชายฝั่งของจีนโดยรวม ครอบคลุมพื้นที่น้ำถึง 44 ล้านลูกบาศก์เมตร และให้ผลผลิตอาหารทะเล 400,000 ตัน คิดเป็นมากกว่า 20% ของผลผลิตปลาทะเลโดยรวม
นอกจากนี้ ฟาร์มอัจฉริยะดังกล่าวยังสามารถทนทานต่อพายุไต้ฟุ่น และคลื่นทะเลที่มีความสูงได้ แต่เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทีมวิศวกรออกแบบของโครงการ ก็ยังได้เสนอการก่อสร้าง “กำแพง” ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือน “เขื่อนกั้นคลื่น” ในบริเวณที่ใกล้กับพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
การสร้าง “แนวป้องกัน” นอกชายฝั่งดังกล่าวช่วยกระจายกระแสคลื่น และลดระดับความสูงของคลื่นจากระดับ 16 เมตรเหลือประมาณ 2 เมตรเท่านั้น ช่วยลดความเสียหายและลดความเสี่ยงในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนอกชายฝั่ง ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบในอนาคตอีกด้วย
ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท (Ministry of Agriculture and Rural Affairs) ของจีนยังระบุว่า จีนเตรียมพัฒนารูปแบบใหม่ของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนอกชายฝั่งในบริเวณชายฝั่งอีกมากกว่า 20,000 บ่อ!!! ซึ่งเปรียบได้กับการสร้าง “สวนอุตสาหกรรมบนทะเล” เลยทีเดียว
ในด้านเทคนิค สถาบันวิศวกรรมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Engineering) ได้ให้ข้อมูลว่า ยิ่งปริมาณบ่อเลี้ยงปลามากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะทำให้ต้นทุนการเพาะเลี้ยงต่อหน่วยยิ่งลดลง และประสิทธิภาพด้านต้นทุนยิ่งสูงขึ้น
นอกจากนี้ ขนาดบ่อที่ใหญ่ขึ้นซึ่งทำให้มีปริมาณน้ำและผลิตภาพการเพาะเลี้ยงปลาสูงขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งมีทางเลือกสำหรับการเลี้ยงสายพันธุ์ปลาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านลอจิสติกส์ต่อหน่วยที่ลดลงอีกด้วย
ในด้านการตลาด ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนอกชายฝั่งที่ผลิตขึ้น ยังมีจุดเด่นที่เหนือกว่าผลผลิตที่นําเข้า ทั้งในแง่ของราคา และความสดใหม่ รวมทั้งสายพันธุ์ที่สอดคล้องกับความต้องการ
โมเดลธุรกิจที่มีผลตอบแทนสูงดังกล่าว ทำให้กระทรวงเกษตรฯ วางแผนเพิ่มขนาดพื้นที่ของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนอกชายฝั่งทั่วประเทศ เป็นมากกว่า 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำเป็นมากกว่า 600,000 ตันต่อปี คิดเป็นมากกว่า 25% ของผลผลิตปลาทะเลโดยรวมของจีนภายใน 5 ปีข้างหน้า
ผลจากการพัฒนา “เรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนอกชายฝั่งอัจฉริยะ” ของจีนดังกล่าว ทำให้ผลผลิตประมงส่วนนี้ มีปริมาณคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของผลผลิตประมงของไทยเข้าให้แล้ว!
ตัวอย่างนวัตกรรมด้านการประมงของจีน ถัดมาเป็นการบูรณาการ “ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” เข้ากับ “ฟาร์มพลังงานสีเขียว” ซึ่งเป็นโมเดล ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน แม้กระทั่ง แจ็ก หม่า (Jack Ma) ที่โด่งดังจากโลกการค้าออนไลน์ในอดีต ก็กำลังสนใจลงทุนในธุรกิจนี้
โดยเมื่อไม่กี่ปีก่อน กลุ่มธุรกิจหมิงหยาง (Mingyang Group) ได้ประกาศผลความสำเร็จในการทําอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า “Mingyu-1” ซึ่งถูกคิดค้นโดยหมิงหยางเอเนอร์จี (Mingyang Energy) กิจการในเครือ ที่ผสมผสานกังหันลม เข้ากับฟาร์มเลี้ยงปลาอย่างยั่งยืนเป็นครั้งแรกของโลก
โดยนวัตกรรมที่ก้าวล้ำดังกล่าวมีองค์ประกอบ 2 ส่วนสำคัญที่ทำงานอย่างเป็นอิสระจากกัน ส่วนแรกได้แก่ กังหันลมที่มีกําลังการผลิตไฟฟ้า 45 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการพลังงานของ 23,000 ครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 38,000 ตันต่อปี รวมทั้งเป็นแหล่งรายได้ใหม่จากประสิทธิภาพของการบริหารพื้นที่ที่มีอยู่
ส่วนที่ 2 ได้แก่ สถานที่เพาะเลี้ยงปลานอกชายฝั่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อเลี้ยงสายพันธุ์ปลาที่มีมูลค่าสูง เช่น ปลาเก๋า โดยมีความสามารถในการเลี้ยงปลามากกว่า 150,000 ตัว และได้ผลผลิตราว 75 ตันต่อปี
“Mingyu-1” ยังติดตั้งอุปกรณ์ไฮเทค และระบบการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะ ซึ่งครอบคลุมคุณสมบัติที่ดีหลายประการ เช่น การผสมพันธุ์อัจฉริยะ การตรวจสอบแบบเรียลไทม์ การทําความสะอาดตาข่ายเลี้ยงปลาอัตโนมัติ และการจัดเก็บปลาที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมอย่างรอบด้าน
อุปกรณ์เหล่านี้ยังถือเป็นตัวอย่างของความทุ่มเทของจีนในการพัฒนานวัตกรรม “สีเขียว” บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่แทรกซึมไปในหลากหลายอุตสาหกรรม
ในด้านหนึ่ง โมเดลธุรกิจนี้ทำให้จีน “ยกระดับ” แหล่งพลังงานสีเขียว อาทิ พลังงานลมและโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะช่วยให้เป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์สูงสุด และความเป็นกลางด้านคาร์บอนภายในปี 2030 และปี 2060 ตามลำดับ
ในอีกด้านหนึ่ง การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรด้านการเกษตรที่มีอยู่เพื่อการผลิตพลังงานสีเขียว ทำให้การทำประมงของจีนมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ซึ่งเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร หรือลดราคาของผลิตภัณฑ์ประมงในมุมมองของผู้บริโภค
ประการสำคัญ สิ่งนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายการสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับพื้นที่ชนบทและเพิ่มจำนวนคนชั้นกลางของจีนที่ตั้งเป้าให้เป็น 800 ล้านคนภายในปี 2035 อีกด้วย
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ก้าวสู่การเป็นผู้เล่นระดับโลกของหลายอุตสาหกรรม และดูเหมือนว่า “วงการประมง” ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นแต่อย่างใด ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน