ประดิษฐ์ปัญญา ฉากที่ 14

22 มี.ค. 2567 | 23:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2567 | 11:03 น.

ประดิษฐ์ปัญญา ฉากที่ 14 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3977

แฟนคลับรู้ไต๋ว่า ชาติก่อนผมเป็นนกฮูก จึงส่งมุกเกทับบลัฟรอบวง มาให้ผมชิมว่า “ฮาไหมคะเนี่ย!” ผมยังไม่แสดงความเห็น ให้ท่านผู้อ่านลองเดาใจไปพลางๆ ก่อน  

ก่อนอื่นต้องคุกเข่า ขอขมา ตัวละครทุกคนที่ผมถือวิสาสะหยิบเอามาเล่าตามหลัก “ครูพักลักไก่” เนื่องจาก วาทะปะฉะดะ ของแต่ละคนต่างก็ “มุ่งมัน!” โพสต์เกทับกันในเฟซบุ๊กแบบไม่อ่านไม่ได้ เขาตั้งกระทู้  “ภาษาไทยไม่ใช่เรื่องยาก” ทุกคนจึง กระทุ้ง กันนัว

คนแรก แหวกม่านฝุ่น ออกมา กระจองงอง นำร่องทันทีว่า “คำว่า มุขตลก ใช้ ก. ไก่ ไม่ใช่ ข. ไข่ ค่ะ เขียนภาษาไทยไม่ถูกแบบนี้  หมดสเหน่ห์! เลยนะคะ” 

คนที่สอง ฝ่าวงไทยมุง ลงมือ ขว้างมีดทู่ ครูดกันฉับพลันว่า “ขอ อนุญาต! สอนนะคะ เสน่ห์ เขียนแบบนี้ค่ะ!” 

คนที่สาม ตัดช่องน้อยแบบเผลอตัว เร่งรีบ ขว้างอาวุธหลับ จึงเซติดกับว่า “สอนคนอื่นแต่ตัวเองก็ยังเขียนผิด ขอ อนุญาติ ไม่มี สระอิ ค่ะ จำใส่ ศรีษะ! ไว้ด้วย” 

คนที่สี่ ฉวยโอกาสพรวดพราด ตีงูให้ฮ่องเตี้ย  (ฮ่องเตี้ย หมายถึง ผมเอง… ฮา!) คว้าหนังสะติ๊กกะยิงหน้าแข้ง มันสะบัดแรงเด้งกลับมาโดนตัวเองว่า “ศีรษะ เขียนแบบนี้ค่ะ ไม่รู้จริงก็อย่า พิมห์! มั่วๆ” 

การสะกดคำศัพท์ผิดเกิดขึ้นได้สามกรณี หนึ่ง เผลอพิมพ์ผิด สอง แกล้งพิมพ์ผิดๆ ให้มวลมิตรฮาคลายเครียด สาม สะกดผิดจริงๆ แต่ละท่านจึงโดนไปคนละดอก เหตุที่ผมของดการให้ความเห็นในกรณีนี้ ก็เพราะว่าผมชักจะเริ่มเป็นโรค “จิต - ตะ - เผลอ” พิมพ์ผิดเป็นอาชีพ (ฮา!) 

เรื่องเล่า คำถามสามข้อ มีราคาค่าควรเมือง เป็นภูมิปัญญาของบรรพชนคนยุโรป ซึ่งเกิดจาก ความรู้พื้นฐาน ความรู้จำเพาะ ความรู้ที่เกิดจากการคิดนอกกรอบแต่ไม่นอกลู่นอกทาง

อีกทั้ง ทักษะการสื่อให้ได้ความโดยจับสัญญาณจาก ความหมายของเรื่อง กริยาท่าทางที่เป็นไปตามอารมณ์ และ ความรู้สึกที่เปล่งผ่านเสียง

พระองค์จอห์น กษัตริย์แห่งอังกฤษ เขาไม่ชอบให้ใครดูดีกว่าเขา เจ้าอาวาสแห่งแคนเทอร์เบอรีร่ำรวย หรูหรา เขาจึงส่งทหารไปอุ้มเจ้าอาวาสมา ทหารได้ตัวเป็นๆ ก็นำมาเข้าเฝ้า เขาตรัสถามว่า “เรากับเจ้าใครใหญ่กว่ากัน กษัตริย์ หรือ เจ้าอาวาส เจ้ากล้าสร้างความสุขมากกว่าข้ารึ วางแผนจะเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษหรือเปล่า เห็นทีจะต้องฆ่าเจ้าซะให้ตาย"

เจ้าอาวาส ตกใจกลัวฝุดๆ ละล่ำละลักว่า “ฝ่าพระบาท ข้าพระองค์  ใช้เงินส่วนตัวของข้าพระองค์เองเช่นนี้ถือเป็นอาชญากรรมด้วยหรือ”

“ใช่สิ การมีชีวิตอยู่อย่างยิ่งใหญ่กว่าพระราชา เป็นความผิดทางอาญา เอางี้ ข้าจะเปิดโอกาสให้เจ้าได้รับอภัยโทษด้วยการตอบคำถามสามข้อ ของข้าให้ถูกต้องจนเป็นที่พอใจ ไม่งั้นก็ไม่รอด

ข้อแรก เจ้าว่ามีค่าแค่ไหน ข้อสอง ข้าจะใช้เวลาเดินทางรอบโลกนานแค่ไหน  ข้อสาม ตอนนี้ข้ากำลังคิดอะไรอยู่”  เจ้าอาวาสขอคิด 21วัน
เจ้าอาวาส ขอปรึกษากับผู้รอบรู้ใน ม.อ็อกซ์ฟอร์ด และ ม.เคมบริดจ์ ไม่มีใครชี้แนะคำตอบที่เหมาะสม ระหว่างเดินทางกลับที่พักก็ได้พบกับ คนเลี้ยงแกะ เขาถาม เจ้าอาวาส ว่า  “ทำไมท่านอาจารย์จึงดูเศร้าโศก!”

หลังจากปรับทุกกันจะแจ้ง คนเลี้ยงแกะ อาสาทันทีว่า “ให้ข้าไปแทนท่านเถิด ข้าจะเสี่ยงตอบคำถามนี้เอง มีคนว่าข้าหน้าเหมือนท่าน ข้าขอสวมชุดของท่าน พระราชาจะได้ไม่ขัดขวาง"
พระราชานึกไม่ถึงว่า เจ้าอาวาส จะปัญญาไวเพียงนี้ พระราชาตรัสว่า “เจ้าว่ามาสิ ข้ามีค่าเพียงใด?"

                              ประดิษฐ์ปัญญา ฉากที่ 14

คนเลี้ยงแกะตอบว่า “ในพระคัมภีร์ พระเยซู ผู้เป็น ราชาแห่งสวรรค์ มีคนตั้งราคาให้สามสิบเพนนี มูลค่าของพระองค์ท่าน จำต้องน้อยกว่า พระเยซู หนึ่งเพนนี ราคาตัวท่าน ยี่สิบเก้าเพนนี” 

ทรงได้ฟังก็หัวเราะ จึงถาม ต่อว่า “ข้าจะขี่ราชรถรอบโลกได้เร็วแค่ไหน?” คนเลี้ยงแกะ ทูลว่า “ฝ่าพระบาท พระองค์ต้องขึ้นมาพร้อมกับดวงอาทิตย์ ทรงขี่มันไปทั้งคืน ด้วยวิธีนี้ท่านก็จะสามารถเดินทางรอบโลกได้ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง” 

คราวนี้หัวเราะเสียงดังกว่าเดิม ทรงมองดูคนเลี้ยงแกะอย่างจริงจัง ตรัสว่า “บอกข้ามาเร็วๆ ว่าข้ากำลังคิดอะไรอยู่?”

คนเลี้ยงแกะ ตอบว่า “ฝ่าบาทกำลังคิดว่า ข้าเป็นเจ้าอาวาส ข้าไม่ใช่เจ้าอาวาส ข้าเป็นแค่คนเลี้ยงแกะที่เห็นใจเจ้าอาวาส ข้ามาขอขมาแทนเจ้าอาวาสและตัวข้าเอง” ว่าแล้วก็รีบถอดชุดเจ้าอาวาส คุกเข่าลงต่อหน้าพระราชาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ

พระราชาหัวเราะอยู่นาน ในที่สุดก็ตรัสว่า “ข้าพอใจกับสติปัญญาของเจ้า ข้าจะให้เจ้าเป็นเจ้าอาวาส”

คนเลี้ยงแกะ ทูลว่า “ฝ่าบาท ข้าอ่านและเขียนไม่เป็น ข้าไม่มีปัญญาเป็นเจ้าอาวาส” ท่านตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นเจ้าจะได้รับเงินหนึ่งปอนด์ต่อสัปดาห์ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ กลับไปบอกเจ้าอาวาสเถิด ข้ายกโทษให้เขาแล้ว”

ผมขยันฝึกฝน ประดิษฐ์ปัญญา ตั้งชื่อ คติพจน์ ไว้ว่า “ขบวันละขันธ์” โพสต์แปะฝากไว้ในเฟซบุ๊กว่า

○ เขาเหนือกว่าเราก็เพราะเขารู้จุดเรา

○ เราไม่เหนือเราเพราะเราไม่รู้จุดเรา

○ เราจะเสมอกับเขาถ้าเราล่วงรู้จุดเขา

○ เราเหนือยิ่งกว่าเขาถ้าช่วยอุดจุดเขา

○ ยากที่จะเหนือใครถ้าทำๆ แล้วหยุดๆ