พระยาติลิกี้กับคดีลึกลับ

16 ก.ย. 2566 | 04:39 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2566 | 04:48 น.

พระยาติลิกี้กับคดีลึกลับ คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

สัปดาห์ก่อนมีธุระเรื่องกฎบัตรกฎหมาย จึงมีโอกาสต้องแวะไปหารือกับสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายเก่าแก่ร้อยปีในไทย อย่างติลิกี้ & กิบบินส์ ที่ตึกปัจจุบัน ถนนพระราม 3
 
เปนสำนักงานติลิกี้ & กิบบินส์ ที่ก่อนนี้ทีไรมีไปประชุมหารือกันที่สำนัก งานของเขา ซอยต้นสน ใจกลางเมือง หิวข้าวเที่ยงก็ต้องพากันแวะร้านอิตาเลี่ยนฝีมือไทย ของ สุทัน สมบัติ ผู้คร่ำหวอดในประเทศรองเท้าบู้ทส์มาแต่ครึ่งศตวรรษก่อน และคิดค้นพริกดองน้ำมันมะกอกรสชาติถึงใจไว้รับรองบริการลูกค้าทุกท่านเสมอมา สมควรที่ อิ่ม_โอชาฯ คอลัมน์ข้างๆนี้จะได้เขียนถึงบ้าง
 
ที่ติลิกี้ & กิบบินส์ นี้เขามีมานานซึ่งพิพิธภัณฑ์ของปลอม ซึ่งประดาข้าวของแบรนด์เนมต่างๆทั้งของใช้ในชีวิตประจำวันเครื่องคิดเลข น้ำดื่ม น้ำอัดลม เสื้อผ้า อะไรก็อะไรก็ตามที่ละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา_ละเมิดสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าสำนักงานของเขามักได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาต้นทางให้ดำเนินการสืบเสาะเลาะคดีจับกุมมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง เมื่อจับมาได้แล้วเขาก็นำของต่างๆนั้นมาแสดงเป็นเครื่องประเทืองปัญญาสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างของสินค้าแท้สินค้าปลอมได้อย่างสนุกน่าสนใจ

ส่วนที่เรียนกับท่านผู้อ่านว่าสำนักงานของเขาเก่าแก่ 100 ปีนั้น ก็คงหาข้อเท็จจริงจากที่ไหนๆมาเถียงให้เปนอื่นคงเป็นเรื่องลำบาก
 
ด้วยพระยาติลิกี้ ท่านมีบทบาทในประเทศไทยมาตั้งแต่ครั้งยังใช้ชื่อราชอาณาจักรสยามอยู่ เป็นผู้มีเกียรติคุณชื่อเสียงเรืองนามในความสามารถทางกฏหมายและความยุติธรรมซื่อตรงมาแต่เก่าแก่นานมา ท่านผู้นี้เป็นหัวหน้าทนายความในคดีพระยอดเมืองขวางคราวเกิดวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112
 
คราวนั้นฝรั่งเศสแผ่อิทธิพลอำนาจรุกคืบเข้าครอบครองเวียดนามได้เป็นผลสำเร็จแล้วหาเรื่องลัดเลาะมาเอาดินแดนฝั่งแม่น้ำโขงของไทยซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชื่อว่าแขวงคำม่วน ซึ่งในเวลานั้นพระยอดเมืองขวางเป็นข้าราชการสยาม ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองปกครองอยู่ รายละเอียดการคดีจะเป็นอย่างไรท่านผู้สนใจสามารถศึกษาต่อได้เอง แต่ในที่นี้จะเล่าถึงว่า ในสมัยนั้นพระยอดเมืองขวางท่านได้พยายามรักษาเมืองจนสุดความสามารถและไปเกิดเหตุกระทบกระทั่งตามมาหลังจากพระยอดเมืองขวางข้ามกลับมาที่เมืองท่าอุเทนตรงแถวจังหวัดนครพนมแล้ว เกิดมีเหตุว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝรั่งเศสถูกกระสุนปืนตายในเหตุชุลมุนอันเกี่ยวเนื่องด้วยการขับไล่พระยอดเมืองขวางและการกลับไปชิงตัวประกันฝ่ายสยามของพระยอดเมืองขวาง ซึ่งทางฝรั่งเศสกุมตัวไว้อย่างไม่เป็นธรรม

คดีนี้เป็นเรื่องราวใหญ่โตและแลดูเหมือนว่าเปนองค์ประกอบลามปามมาจนถึงเหตุวุ่นวายในกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อฝรั่งเศสนำเรือรบมาอุดปากอ่าวไทย
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้ามีพระบรมราชโองการ ให้ตั้งศาลรับสั่งพิเศษเพื่อชำระคดีพระยอดเมืองขวาง โดยองค์ประกอบคณะตุลาการศาลรับสั่งพิเศษนี้มีกรมหลวงพิชิตปรีชากรอุปราชมณฑลที่เกิดเหตุเป็นประธาน มีตุลาการร่วมเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการของไทยหลายท่าน มีมีล่ามภาษาต่างๆและมีผู้แทนจากฝรั่งเศสมาร่วมฟังคดีหลายคน
 
เวลานั้นคำว่าอัยการคงใช้คำว่าทนายแผ่นดิน ผู้ที่เป็นทนายแผ่นดินนำคณะโดยคุณพระสุนทรโกษา ซึ่งต่อมาก็คือพระยาปฏิพัทธ์ภูบาล คอยู่เหล ณ ระนอง ซึ่งเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษคนไทยคนที่สอง มีความอินเตอร์สากลมาก (ถนนสุนทรโกษาตรงคลองเตยนั่นก็ตั้งชื่อตามท่านเพราะเปนเจ้าของที่มาแต่เดิมทั้ง 5 แยก ณ ระนองไล่ไปจดแม่น้ำเจ้าพระยา) ส่วนผู้กุมระเบียบพิธีการศาลและดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างที่เรียกว่าจ่าศาลยกกระบัตร ตกเป็นหน้าที่ของขุนหลวงพระยาไกรสีเนติบัณฑิตอังกฤษคนแรกของไทย ซึ่งสมัยนั้นยังไม่เป็นเจ้าคุณ เนื่องจากท่านเป็นมีความทันสมัยและเป็นสากลสูง
 
ส่วนทนายความ ที่ กล่าวท้าวความถึง นั้น ท่านพระยาติลิกี้ ท่านก็เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ ชั่วแต่ว่าท่านเป็นชาวสิงหล ต่อมารับราชการเป็นพระยาอรรถการประสิทธิ์ ส่วนนามของท่านที่ว่าติลิกี้นั้น เชื่อว่ามาจากรากศัพท์ภาษาสิงหลว่า ติละกะ หรือว่า ดิลก ในภาษาไทยนั่นเอง คำว่าดิลกจะว่าไปแล้วก็คือจุดสีแดงที่เขาแต้มกลางหน้าผากของชาวสิงหล มีนัยยะหมายความว่าเป็นยอดก็ได้เป็นความมงคลสูงอย่างยิ่งก็ได้ ท่านพระยาติลิกี้ผู้นี้ต่อมาได้ร่วมกันกับอดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชาวอังกฤษชื่อมิสเตอร์กิบบินส์ ทำสำนักงานกฎหมายสากลอย่างที่เรียกกันว่าinternational law firm ขึ้นเป็นแห่งแรกๆในประเทศไทย และคงอยู่ยืนหยัดมาจนกระทั่งบัดนี้


 
เวลานี้หัวหน้าสำนักงานผู้ใหญ่ได้แก่มิสเตอร์เดวิด ไลแมน ผู้ซึ่งเป็นนายทหารพระธรรมนูญ (ทหารกฎหมาย) ในกองทัพสหรัฐมาก่อนเป็นผู้ดูแลกิจการ ท่านผู้นี้วางตัวเองในตำแหน่ง Chief Value Officer ซึ่งแปลเป็นไทยแล้วก็เท่ดีคือประธานคณะผู้บริหารด้านคุณค่าองค์กร เมื่อได้อ่านหนังสือของท่านแล้วก็ได้เข้าใจในความหมายของตำแหน่งแห่งหนมากขึ้น กล่าวคือความสามารถในการยืนหยัดให้บริการด้านกฎหมายได้อย่างยาวนานเป็นเวลา 100 ปีนั้นหาได้อยู่ที่ความเก่งกาจในตัวบทกฎหมายและแนวทางความช่ำชองในการดำเนินคดีแต่เพียงอย่างเดียว หากขึ้นกับความสามารถในการรักษาคุณค่าคุณธรรมจริยธรรมของนักกฏหมายทนายความเอาไว้ได้อย่างสูงสุดและยั่งยืนต่างหากอีกโสตหนึ่ง
 
บรรทัดขอมีคารวะไปถึงยายผู้ล่วงลับ คุณนายเจ็งไซ่เฮียง อิ่มโอชา เมื่อยามเยาว์ท่านสอนจากประสบการณ์ว่ามีคดีความกับใครให้ปรึกษาหาใช้ทนายความสากลเอาไว้ก่อนมาตรฐานคุณธรรมเขาอาจสูงตามราคา แต่พอจะแน่ใจได้อย่างหนึ่งว่าเขาสู้คดี_ไม่ฮั้วคดี อย่างนี้เองล่ะกระมังที่ทำให้สำนักงานอย่างของเขายั่งยืนมาจนปัจจุบันได้
 
เดวิด ไลแมน เขียนหนังสือสรุปข้อคิดของเขาเอาไว้น่าสนใจ ฉบับหน้าจึงจะได้รวบรวมมาเรียบเรียงให้ท่านผู้อ่านเป็นข้อๆอย่างว่า how to be value officer!
 
ส่วนของแถมสำหรับวันนี้ก็คือว่า ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หก แบบธรรมเนียมในการพระราชทานชื่อราชทินนามประกอบบรรดาศักดิ์ของข้าราชการหรือผู้พิพากษาซึ่งรับราชการในฝ่ายยุติธรรมนั้น นอกจากจะทรงอนุวัฒน์ดึงเอาตามชื่อดั้งเดิมสมัยต้นกรุงมาแล้ว ยังทรงพระกรุณาตั้งชื่อขุนนางฝ่ายยุติธรรมตามชื่อเจ้าเมืองโบราณในอินเดียอีกด้วย ไม่ว่าจะเปนพระยา_มโหสถศรีพิพัฒน์_พรหมทัตศรีพิลาศ_มณฑาตุราชศรีพิจิตร_ประเสนชิตศรีพิไล_วิชัยราชสุมนตร์_นลราชสุวัจน์ สัตยพรตสุนันท์_หริศจันทร์สุวิทย์_กฤษณราชอำนวยศิลป์_หัสดินทร์อำนวยศาสตร์_กฤตราชทรงสวัสดิ์_อัชราชทรงสิริ_นิมิราชทรงวุฒิ_นหุษราชทรงพร_สครราชเรืองยศ_ภศิรถเรืองเดช_กุศะนเรศร์เรืองศิลป์_ลพนรินทร์เรืองศักดิ์ ชื่อหน้าเปนชื่อเจ้าเมืองโบราณที่ขึ้นต่อจักรพรรดิ์อินเดียทั้งนั้นเลย
 
ส่วนกรณีของขุนหลวงพระยาไกรสีนั้น ตกลงว่าท่านเป็นขุน หรือท่านเป็นหลวง หรือท่านเป็นพระยากันแน่? ก็ต้องขออนุญาตประธานกราบเรียนว่านี่เองคือบรรดาศักดิ์ดั้งเดิมของข้าราชการผู้รักษากฎหมายในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
 
เวลานั้นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หนึ่งทรงประกาศใช้กฎหมายตราสามดวง จะมีผู้รักษาต้นฉบับประมวลกฏหมายตราสามดวงนี้เอาไว้อยู่สองคน คนหนึ่งราชทินนาม “ขุนหลวงพระไกรสี” ว่าการตำแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวงอยู่ในสังกัดพระมหาราชครู พระราชครูปโรหิตาจารย์มีมาแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ดังปรากฏอยู่ในกฎหมาย “นาพลเรือน” และถือกันว่าเปนผู้รู้พระราชกำหนดกฎหมายชำนิชำนาญ แม่นยำยิ่งกว่าลูกขุนอื่นทั้งปวง คู่กับ“พระเกษมราชสุภาวดีศรีมนธาตุราช” และมักเรียกชื่อสั้นๆ ว่า “พระเกษม พระไกรสี” ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้รักษาพระราชกำหนดบทพระอัยการซึ่งเก็บไว้ ณ ศาลหลวง เมื่อจะพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายใด มาตราใด ก็ตกเป็นหน้าที่ของพระเกษมพระไกรสีที่จะพลิกกฎหมายและปรับบทว่าผิดบทนั้นบทนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลกมหาราชโปรดให้อาลักษณ์ ลูกขุนและราชบัณฑิต  ร่วมกันตรวจชำระกฎหมายและจัดรวบรวมขึ้นใหม่ ดังที่เรียกกันว่า “กฎหมายตราสามดวง” นั้น ในตอนท้ายของบานแผนกก็มีความว่า “ครั้นชำระแล้ว ให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึกสามฉบับ ไว้ห้องเครื่องฉบับหนึ่ง ไว้หอหลวงฉบับหนึ่ง ไว้ศาลหลวงสำหรับลูกขุนฉบับหนึ่ง ปิดตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ บัวแก้วทุกเล่มเป็นสำคัญ ถ้าพระเกษมพระไกรสี  เชิญพระสมุดพระราชกำหนดบทพระไอยการออกมาพิจารณาคดีใด ๆ ลูกขุนทั้งปวงไม่เห็นปิดตราพระราชสีห์ พระคชสิห์บัวแก้วสามดวงนี้ไซร้ อย่าให้เชื่อพึ่งเอาเป็นอันขาดทีเดียว” - อันนี้เรียกได้ว่าเปน security printing สมัยก่อนสมัยเก่า !!
 
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีผู้ใด้รับตำแหน่งเปนที่ขุนหลวงพระไกรสี มาแล้วสองท่าน คือ ขุนหลวงพระไกรสี (หนู) กับขุนหลวงพระไกรสี ( จันทร์ ) ซึ่งในเวลาต่อมาต่างก็ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนหลวงพระยาไกรสี” ทั้งสองท่าน สรุปได้ว่าตำแหน่งขุน_หลวง_พระยาไกรสีนี้เปนพระยา!
 
ส่วนกรณีคุณพระยอดเมืองขวางนั้นแม้พระยาติลิกี้ท่านแก้คดีจนหลุดแล้วไซร้ ฝรั่งเศสก็ยังไม่พอใจขอให้ตั้งศาลตุลาการผสมนำขุนนางฝรั่งเศสมาร่วมกับตุลาการไทย แล้วใช้วิธีโหวตคะแนนตุลาการ ซึ่งก็แน่นอนว่าจำนวนตุลาการฝ่ายฝรั่งเศสมากกว่า ส่งผลให้พระยอดเมืองขวางท่านแพ้คดี ซึ่งตรงนี้ขัดกับหลักกฏหมายสากลว่าด้วยเรื่องดับเบิ้ล jeopardy ที่มีหลักการว่าคนคนหนึ่งเมื่อถูกตัดสินแล้วจะถูกตัดสินซ้ำในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ อย่างที่เรียกว่าฟ้องซ้ำต้องห้าม


 
แต่ด้วยอิทธิพลทางการเมืองอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งได้เสียสิทธิสภาพทางการศาลไป ผลลัพธ์ก็ออกมาว่าพระยอดเมืองขวางของเราต้องถูกจำคุก พระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงพระกรุณาจ่ายเงินเดือนให้ทั้งที่ท่านถูกจองจำโดยสม่ำเสมอ ต่อมาภายหลังท่านได้รับพระมหากรุณาพระราชทานอภัยโทษแล้วพระราชทานบำนาญเลี้ยงตลอดชีวิต
 
ข้างเรื่องลึกลับ onirique ที่พูดกันในวงทหารก็คือมีนายทหารชั้นนายพลผู้หนึ่งท่านฝันเห็นดวงวิญญาณลักษณะแต่งกายคล้ายพระยอดเมืองขวางมาปรากฏในความฝันเล่าถึงความประสงค์จะให้ตั้งศาลเพียงตา ประกอบกับเวลานั้น กรมทหารราบที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่นครพนม เดิมชื่อค่ายนาโพธิ์เกิดเหตุประหลาดฟ้าผ่าลงที่ไปชื่อนาโพธิ์ทำให้ ป้ายหักสองท่อนถึงสองครั้ง เมื่อได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าขอรับพระราชทานเปลี่ยนชื่อค่ายนาโพธิ์เป็นค่ายพระยอดเมืองขวางตามชื่อวีระบุรุษผู้รักษาเมืองท่านนี้ ก็ไม่เกิดเหตุประหลาดอัปมงคลขึ้นอีกเลย ส่วนพระยาติลิกี้ ท่านสละสัญชาติเดิมลงหลักปักฐานในเมืองไทยและเป็นต้นสกุลคุณะดิลกสืบต่อมา และกรณีท่านเจ้าคุณขุนหลวงพระยาไกรสีเนติบัณฑิตอังกฤษคนแรกของไทยจะเปนอย่างไร เรื่องลึกลับ onirique มีอยู่ค่อนข้างน่าสะพรึงใจ จะขอเก็บไว้เล่าสู่ท่านฟังตอนหน้า

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,923 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2566