ผ้าทรงสะพัก

03 ก.ย. 2566 | 05:55 น.
อัพเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2566 | 07:23 น.

ผ้าทรงสะพัก คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ต่อเนื่องมาจากฉบับก่อนหน้าตอน ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ. คุณผู้อ่านท่านกรุณาทักถามมา ถึงว่า อันรูปตราสัญลักษณ์ หรือ อาจจะเรียกภาษาลำลองสมัยใหม่ๆว่าโลโก้ อย่างว่าตราประจำพระองค์ของสยามมกุฎราชกุมารพระองค์นั้น ที่ประดิษฐานบนหน้าบันพระวิหาร วัดมหาธาตุฯ ถ้าดูให้ละเอียดแล้วเปนรูปอะไร

ก็ขออนุญาตกราบเรียนว่า ตรานี้จำลองรูปศิราภรณ์ (ศิระ-อาภรณ์) แปลว่าเครื่องประดับศีรษะ ตามลำดับเกียรติยศ_อิสริยยศของท่านเจ้าของ ซึ่งในที่นี้ได้ไปทำการบ้านค้นหาข้อมูลมานำเรียน ก็เผอิญได้หนังสือเก่าฉบับหนึ่งซึ่ง คุณหญิงบุษบา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ท่านรับหน้าที่เปนบรรณาธิการ แม้มิได้ออกเลข ISBN และไม่ระบุชื่อหนังสือ แต่ข้างในเล่มมีชื่อท่าน คำบรรยายโดย หม่อมราชวงศ์ แสงสูรย์ ลดาวัลย์ และพิมพ์ที่อมรินทร์พรินติ้ง โดยหน้าหนังสือเปนอักษรเลขไทยเรียงตามรัชกาลที่ ๑ ถึง ๙ เเลแล้วเหมาะเจาะพอดีพอดิบจึงขออนุญาตนำรูปจากท่านมาประกอบข้ออธิบาย


ภาพรูปถ่ายนี้แสดงให้เห็นภาพสามมิติ (3-Dimensions) ของศิราภรณ์ ที่ชื่อว่าพระเกี้ยวยอดฝังเพชร สำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า แต่เดิมมาเยาวชนไทยต้องไว้ผมทรงผมจุก

การประดับศีรษะซึ่งเปนผมทรงจุกนี้เด็กชาวบ้านอาจทำดอกไม้ร้อย เปนวงอย่างมาลัยสวมไว้ แต่เจ้านายเล็กๆ ชั้นเจ้าฟ้า เวลาเปนการเปนงานแล้วท่านประดับพระศิระด้วยพระเกี้ยว ครอบลงบนจุกผมที่เกล้าไว้ ยึดให้อยู่ด้วยปิ่นปัก อันมีลักษณะเปนเข็มยาวแทงตรึงเข้าไปหัวเข็มประดับเพชรมีค่าดารดาษงามงด บนพระเกี้ยวนี้มีดอกไม้ไหวฝังเพชร ซึ่งอาจขยับไหวๆได้ตามกิริยาท่านเจ้าของเสียด้วย


ทีนี้เมื่อศิลปินช่างหลวง ต้องจำลองพระเกี้ยวนี้มาทำเปนตราประจำพระองค์ ก็ต้องย่นย่อลงจาก 3 มิติ เหลือเปน 2 มิติคือมิติทางลึกหายไป ดังนั้น

ท่านก็เชิญพระเกี้ยววางลงบนหมอน หมอนก็มีตุ้มมีภู่ เลยแลผาดๆเหมือนพระเกี้ยวต้องมีหมอนรองประกอบเสมอไป

อนึ่งหากจะกล่าวถึงในทางรหัสอีก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เดิมทีพระปรมาภิไธยว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ เวลามีพระราชกระแสกล่าวถึงพระองค์เองกับประดาฝรั่ง ทรงใช้ว่า King Mongkut ตรงๆเลย ไม่ทรงนิยมใช้ว่า Prachomklao สักเท่าไรนัก ทั้งนี้ด้วยว่ากันว่ามีพระราชปรารถนาให้ในยุคต่อๆมาผู้สืบพระราชสันตติวงศ์ มีพระนาม King Mongkut The Second บ้าง พระองค์จะได้รับการกล่าวถึงในทางสากลว่า ทรงเปน King Mongkut The First

ส่วนว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ พระราชโอรส เดิมที่เปน เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงกรมที่กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ เมื่อเฉลิมพระปรมาภิไธยแล้วทรงเปนพระบาทสมเด็จพระ ‘จุล’ จอมเกล้า ด้วยทรงเปน จุล-เล็กๆ ของพระจอมเกล้า นัยหนึ่งคือทรงถ่อมพระองค์ว่าทรงเล็กกว่าพระราชบิดาด้วยและนัยหนึ่งทรงเปนทายาทของพระจอมเกล้าด้วย

และหากว่าพระจอมเกล้าทรงเปน King Mongkut แล้ว องค์ท่านผู้ลูก ก็เปนจุล-มงกุฎ = มงกุฎเล็กๆ และมงกุฎเล็กนั้นก็คือพระเกี้ยวนั่นเอง

พระเกี้ยวจึงเปนสัญลักษณ์ของพระองค์ท่านเรื่อยมา และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใช้พระนามปรมาภิไธยพระองค์ท่าน ใช้ตราสัญลักษณ์แห่งพระองค์ท่านเปนพระเกี้ยวดังนี้

ส่วนรัชกาลที่ ๖ ทรงพระนามเจ้าฟ้า(มหา) วชิราวุธ ก็ตราสัญลักษณ์แห่งองค์ท่านคือ ตราวชิระ อาวุธของมหาเทพอย่างพระอินทร์ มีออกแบบไว้ทั้งแบบวชิระเดี่ยว และ วชิระคู่ ซึ่งภาพจะเกิด 3 มิติ และ 2 มิติ อีกที ซึ่งจะกล่าวถึงต่อๆ ไป
 

ถัดมาจะขออนุญาตกล่าวถึงว่า อันสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์นั้นท่านก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชย์ รับพระราชทานชั้นตรา เหมือนบุรุษฝ่ายหน้า แต่ว่าในอดีตกาลฝ่ายในไม่มีเครื่องแบบอย่างเครื่องแบบทหาร เมื่อได้รับพระราชทานแล้วจะประดับอย่างไร

ก็ขอประธานกราบเรียนว่า ยังมีผ้าชนิดหนึ่งเรียกว่าผ้าทรงสะพัก ซึ่งสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์ฝ่ายในใช้ห่มคลุมเฉวียงบ่า ผ้าทรงสะพักเหล่านี้กรองด้วยเส้นทองคำ และปักดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำคัญชนิดต่างๆเอาไว้อย่างเด่นชัด จะขอนำเอารูปผ้าทรงสะพักจากหนังสือชุดดังกล่าวมานำลงประกอบการบรรยายให้ท่านชมให้จุใจ

ส่วนเครื่องยศนอกจากนี้ ยังมีการพระราชทานหีบหมากทองคำลงยาประดับดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้ให้อีกด้วย


หลายคราวพระราชทานหีบหมากทองคำลงยาระดับดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้กับฝ่ายในซึ่งรับราชการสนองพระเดชพระคุณมาเป็นเวลานานต่อเนื่องกัน 30 ปี ก็มี พระราชทานให้กับฝ่ายในซึ่งรับราชการสนองพระเดชพระคุณมาเป็นเวลานานต่อเนื่อง 20 ปีก็มี มีรายละเอียดความงามและอัญมณีมีค่างามงดต่างๆประดับแตกต่างกันไป ขอนำรูปมาลงไว้เช่นกัน

หีบ 30 ปี (ลายเทพนม) หีบทองคำลงยา (ลายเทพนม) สีต่างๆ ประดับเพชร ที่ฝามีพระปรมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์” ภายใต้พระจุลมงกุฏและพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนแผ่นกระเบื้องประดับเพชรโดยรอบ กลางหีบจำลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์

อันประกอบด้วยตราและสายสะพาย ทองคำลงยาตามสีและลายแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งสาม ลายสีเหลือง ขอบสีเขียว แดงและน้ำเงินของเครื่องราซอิสริยาภรณ์ อันเปนโบราณมงคลนพรัฒนราชวราภรณ์ ลายสีเหลืองเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และลายสีชมพูเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
 


ในขณะที่หีบ 20 ปี เปนหีบทองคำลงยา (ลายก้านแย่ง) ที่ฝามุมหนึ่งมีพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดับเพชรโดยรอบ ประดิษฐานอยู่ภายใต้พระจุลมงกุฎ อีกมุมหนึ่งมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ตรงกลางมีช่อดอกไม้ทองประดับเพชร และใบไม้

ทองคำลงยาสีเขียว ช่อดอกไม้นี้รองรับแผ่นทองคำสลักลายสีมพูและน้ำเงิน ซึ่งมีข้อความว่า “พระราชทาน” ประดับเพชรจารึกอยู่


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,919 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2566