อันเนื่องมาจากเสมาทองคำ

12 ส.ค. 2566 | 01:30 น.

อันเนื่องมาจากเสมาทองคำ คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

วานนี้ท่านผู้อ่านส่งรูปเหรียญทองคำทรงใบเสมาคว่ำบรรจุรหัสอักษรฉลุสวยงามลงยามาให้ชมพร้อมถามไถ่ว่ารหัสนี้คือ อย่างไร ลักษณะคล้าย ร เรือ สองตัว เทินตราอุณาโลม 
 
ก็หวลให้นึกถึงว่าอีกไม่นานจะถึงวาระ 13 ตุลาคม เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง วันซึ่งทำให้ปวงไทยทั้งหลายพากันออกเดินทางประคองพุ่มดอกไม้จันทน์ไปกราบถวายบังคมลาส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระมหาบุรุษรัชกาลก่อนสู่สวรรคาลัย
 
ในห้วงอากาศหม่นหมอง ละอองหมอกโรยคลุมเมือง ราวม่านกำมะหยี่รัตติกาล ชนทั้งหลายในชุดดำอมทุกข์ทยอยเดินเท้าเข้าพื้นที่พระเมรุมาศสี่มุมเมืองถวายเพลิงพระบรมศพ ยามนั้นคงแต่เพียงดวงจิตแน่วแน่และพึ่งพาสองขาแห่งตนที่จะนำพาตัวไปกระทำภารกิจสำคัญอันจะเพิกเฉยเสียมิได้

เรื่องบางเรื่องแห่งรัชสมัยที่ผ่านพ้นไปต่างๆนั้น หากบันทึกไว้เพื่อเปนสดุดีพระเกียรติคุณ อย่างว่าเล่าเท่าที่รู้ ถือได้ว่าเปนการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้น่าจะเปนการณ์อันดี
 
เหรียญทรงเสมานี้คนไทยๆนับถือกันมาแต่โบราณว่า เสมาหรือสีมาเปนเครื่องบอกและป้องกันอาณาเขต อาณาเขตอย่างที่เรียกกันว่า “ขอบขัณฑสีมา” นั่นแล ใครผู้ในจะรุกเข้ามาในอาณาเขตขอบขัณฑสีมานี้เปนไม่ได้ ต้องโดนรบพุ่งป้องกัน ที่โบสถ์นั้นก็มีใบเสมาบอกเขตพุทธาจักร รักษาพื้นที่ของหมู่สงฆ์ทำสังฆกรรมเฉพาะพวกท่านใครรุกล้ำต้องระมัดระวังอย่างสูง ที่รั้วกำแพงวังพระราชฐานแต่ก่อนมาก็มีใบเสมาอยู่บนกำเเพง (ต้องเปนรั้วของเจ้านายราชวงศ์ระดับชั้นสูงอย่างเจ้าฟ้าจึงจะมีใบเสมาบนกำแพงได้) ดังนี้แล้วรูปทรงของใบเสมาจึงมีค่ามีคุณอย่างว่าเปนรูปทรงแห่งการคุ้มภัยดังนั้น


 

เสมาทองคำ ฉลุลายที่คุณผู้อ่านกรุณานำมาถามไถ่นี้ โดยทั่วไปแล้วเปนประเพณีนิยมในราชสำนักมานาน ว่าพระเจ้าอยู่หัวท่านมักพระราชทานแก่ ‘คนหลวง’ ของท่าน ให้คล้องคอ และโดยทั่วไปอีกเช่นกันมักพระราชทานแก่เด็กๆบุตรหลานวงศ์วานข้าราชบริพาร ทหารตำรวจที่รับใช้ใกล้ชิด จัดทำขึ้นจากโลหะมีค่าต่างๆ ทั้งเงิน ทั้งทองคำ และทองคำลงยา บ้างก็มีฝังเพชรพลอย ก็อาจจะด้วยว่าเด็กๆนั้นยังพูดไม่ได้ ไปไหนมาไหนเข้านอกออกในก็ได้รู้ว่าเปนพวกใด หลงพลัดไปใครเห็นเสมาก็เอาตัวมาส่งถูก
 
ช้างก็เช่นกัน ช้างสำคัญที่ขึ้นระวางถวายงานก็มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเสมาให้ช้างนั้น โดยเฉพาะช้างเผือกชั้นต่างๆ เรียกว่าเปนหนึ่งในเครื่อง คชาภรณ์ - คชอาภรณ์ - อาภรณ์ของช้าง ได้ขอเจ้าของภาพนำลงประกอบไว้ให้ชมโดยคร่าวๆ รายละเอียดคงต้องพักไว้ตอนต่อไป
 
กลับมาที่เรื่องเสมาทองคำ หากพูดถึงว่าปริศนาส่วนอักษรที่เหมือน รร คือ ร เรือ 2 ตัวนี้คืออย่างไร แท้แล้วก็คือ ร เรือ 2 ตัวจริงๆนั่นแล เปนอักษรย่อ พระปรมาภิไธย ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ย่อมาจากคำว่า “รามรามาธิบดี” ซึ่งก็แปลว่าองค์พระเจ้าอยู่หัว ส่วนที่แลเห็นว่า รร นี้เทินตราอุณาโลมลงยาสีขาวนั้น ก็สังเกตให้ดีจะพบว่าอุณาโลมนี้เขียนแบบเลข ๖ ไทย คือโค้งวนขวากลับทิศกันกับอุณาโลมปกติที่วนซ้าย (เรื่องอุณาโลมกับราชสำนักรัตนโกสินทร์จะขอเล่าทราบกันอีกตอนต่อๆไปอีก)
 
รวมความหมายคือว่า = รร ๖ =
 
เกิดเปนคำว่า รามรามาธิบดีที่ ๖ ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ นั่นเอง
 
รหัสย่อเช่นนี้ ถือเปนแบบธรรมเนียมทางทหารด้วย เวลาเรียกขานนามหน่วยต่างๆในหนังสือราชการทางทหาร มีระเบียบกำหนดไว้ให้ใช้นามรหัสเรียกขานเปนหลัก ไม่เขียนเต็ม ดังนั้นเวลาเขียนหนังสือราชการกันภายในกล่าวถึง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเปนโรงพยาบาลทหาร จึงเขียนรหัสว่า ‘รพ.รร.๖” คือ โรงพยาบาลของ (พระบาทสมเด็จ) พระรามรามาธิบดีที่ ๖ และใช้ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
 
คำย่อต่างๆนี้ บางท่านคิดว่าเปน Rule of Thumb คือ ก็จำๆไป ไม่ต้องหาเหตุผล เช่น ฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งย่อว่า ฐท.สส. ก็ว่า ฐท.-ฐานทัพ เข้าใจได้ แต่ สส -สัตหีบตรงไหน? ถ้าจะสัตหีบต้อง สห. สิ จึงจะตรง 
 
ดังนี้ก็ต้องว่าก่อนจะเปนฐานทัพ พื้นที่ตรงนั้นรัชกาลที่ ๖ ท่านวางให้เปนจุดยุทธศาสตร์ ตั้ง ‘สถานีทหารเรือ’ ขึ้นมาไว้ก่อน 


 
สส. จึง ย่อมาจาก ‘ส’ ถานีทหารเรือสัตหีบ’ ห. หีบจึงไม่ได้มาเกี่ยวข้องด้วยแต่แรกก็ประการะฉะนี้
 
ส่วนกรณีอักษรย่อพระปรมาภิไธยนั้นยังมีอีก กล่าวคือ ย้อนขึ้นไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงใช้ “สพปมจ” - สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ มาก่อน ก่อนที่จะทรงใช้ “จปร” ทุกวันนี้ตรารหัสพระปรมาภิไธย วพปมจ ยังคงใช้อยู่ที่เครื่องแบบประจำหน่วยทหารรักษาพระองค์อันดับ ๑ คือ ร.1 รอ. ให้สังเกตที่ปลายแขนเสื้อสักหลาดแดงจะปักตรารหัส “สพปมจ” ด้วยดิ้นทองและเงิน ต่างจากหน่วยอื่นที่แม้จะเปนเสื้อสักหลาดแดงเหมือนกันแต่ชายเเขนไม่มีตรานี้
 
ทีนี้เพื่อให้ต่อเนื่องกับกรณีเสมาต้นเรื่อง เอาเปนว่าขยับถอยอดีตที่ลึกให้เข้ามาสู่รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ 
 
เสมาพระราชทานมีความสำคัญและปรากฏในระเบียบข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสำนัก เรียกภาษาชาวบ้านว่า “เปนเรื่องเปนราว” เลยทีเดียว กล่าวคือว่า ตั้งแต่ปี 1979 เปนต้นมา ระเบียบสำนักราชเลขาธิการ ว่าด้วยการขอพระราชทานชื่อบุตรและบุตรี พ.ศ. ๒๕๒๒ ระบุไว้เลยทีเดียวว่า
 
“โดยที่ปัจจุบันได้มีผู้ขอพระราชทานชื่อบุตรและบุตรีเป็นจำนวนมากขึ้น ดังนั้น เพื่อความเรียบร้อยและเป็นการถือปฏิบัติในแนวเดียวกันทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและผู้ขอพระราชทาน จึงเห็นสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

หลักเกณฑ์การขอพระราชทาน
 
๓.๑ ประเภท ก. พระราชทานหัตถเลขาขนานชื่อ และเสมาทองพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
 
๓.๑.๑ โอรสและธิดาของพระราชวงศ์และตั้งแต่ชั้นหม่อมหลวงขึ้นไป
 
๓.๑.๒ บุตรและบุตรีของข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนและรายวัน สังกัดสำนักราชเลขาธิการ และสำนักพระราชวัง ที่มีเวลารับราชการไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยผู้บังคับบัญชารับรอง บุตรและบุตรีของนางสนองพระโอษฐ์และคุณข้าหลวงกับบุตรและบุตรีของผู้ที่เคยเป็นนางพระกำนัล
 
๓.๑.๔  บุตรและบุตรของคู่สมรสที่ทรงประกอบพิธีสมรสพระราชทาน
 
๓.๑.๕  บุตรและบุตรีของผู้ที่ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล
           
๓.๑.๖  บุตรและบุตรีของนายทหารราชองครักษ์พิเศษ นายตำรวจราชสำนักพิเศษ นายทหารราชองครักษ์ประจำ นายตำรวจราชสำนักประจำ นายทหารราชองครักษ์เวร และนายตำรวจราชสำนักเวร
      
๓.๑.๗ บุตรและบุตรีของข้าราชการทหารประจำกรมราชองครักษ์ และข้าราชการทหารแผนกรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญประจำกรมราชองครักษ์ ที่มีเวลารับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดหรือหน่วยงานดังกล่าวไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยผู้บังคับบัญชารับรอง
 
๓.๑.๘ บุตรและบุตรีของข้าราชการทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ที่มีเวลารับราชการในสังกัดไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยผู้บังคับบัญชารับรอง
         
๓.๑.๙ บุตรและบุตรีของพนักงานสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มีเวลาปฏิบัติราชการไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยผู้บังคับบัญชารับรอง
        
๓.๑.๑๐ บุตรและบุตรีของบุคคลที่นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ซึ่งจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
 
๓.๒ ประเภท ข. พระราชทานชื่อและเสมาเงินพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ได้แก่บุตรและบุตรีของบุคคลทั่วไป ที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ประเภท ก. ...”
 
ดังนั้นแล้วจากแบะแสหนังสือทางราชการฉบับนี้ ย่อมบ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปวัตถุชนิดใบเสมาในสังคมไทยฝ่ายราชการพระราชสำนักได้อย่างชัดเจน ทั้งในระเบียบฉบับนี้ยังสามารถจำแนกในทางราชการได้อีกว่า ใครเปนใคร ในระบบพระราชสำนักสมัยก่อนรัชกาลปัจจุบัน ท่านใดมีเสมาต่างๆไว้ในครอบครองก็หวังใจว่าข้อเขียนนี้จะเปนประโยชน์ทั้งในด้านคุณค่าและมูลค่าแด่ท่านบ้างตามสมควร 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18  ฉบับที่ 3,913 วันที่ 13 - 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566