ประธานาธิบดี ที่ไม่ใช่พลเรือน

09 ก.ย. 2566 | 06:32 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2566 | 06:35 น.

ประธานาธิบดี ที่ไม่ใช่พลเรือน คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เวลานี้นายกรัฐมนตรีใหม่ คุณอาเศรษฐา ทวีสิน ท่านเสนอชื่อ ส.ส. สุทิน ไปเปนรัฐมนตรีว่าการกลาโหม ผู้คนก็หวั่นๆเกรงใจทหารในกองทัพ ว่าพลเรือนมาคุมจะไม่รู้ ไม่เข้าใจแบบธรรมเนียมทหารจะพาลขัดใจกระทบกระทั่งลามไปจนคุกรุ่นวุ่นวายได้ ด้วยในอดีตพลเรือนต้องเปนระดับนายกถึงจะลำดับศักดิ์สูงมากพอจะมาควบเก้าอี้ว่าการกลาโหม
 
อันนี้ก็อาจจะคิดมากไป ด้วยในใจคนเปนทหารแท้ๆนั่นก็คือนักสู้ นักสู้ก็ย่อมจะยอมรับนับถือคนเปนนักสู้แท้ๆด้วยกันได้ ก็อยากเรียนว่าควรเปนเรื่องอีกมุมหนึ่งที่ว่า ดีเสียอีกที่คนพลเรือนแนวประชาธิปไตยจ๋า ได้มากำกับงานความมั่นคงจะได้เข้าถึงชั้นความลับว่าบ้านเมืองมีภัยอันตรายอะไรที่คุกคามล้ำรุกเข้ามาโดยเงียบเชียบและผู้คนที่เขาคอยระงับป้องภัยอันนั้นให้แก่เสรีชนคนพลเมืองในประเทศต้องวุ่นวายขายขนมกันขนาดไหน เรียกได้ว่า ส.ส. สุทิน ของเราเข้ามานั่งว่าการกลาโหมแล้วอาจจะเปลี่ยนทัศนคติไปยอมรับความคิดของฝ่ายอีกมุมอีกฟากก็เปนได้ 

อ้อ ใคร่อยากจะขอบันทึกไว้กันลืมว่า กลาโหมยุคเก่านั้น เคยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการเปนพลเรือนมาก่อนเเล้ว คือ ส.ส. นิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์
 
ในบรรยากาศประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานได้ดีในยามนี้ ก็ขอเรียนเล่านำเสนอว่าค่ายประชาธิปไตยตัวพ่ออย่างอเมริกานั้น ในวัน/เวลาผ่านมา ประธานาธิบดีก็มีทั้งนั้นแหละ_ที่เปนทหาร และกำเนิดอาชีพมาจากทหาร
 
เริ่มกันที่ ฯพณฯ พลโทจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกเลยในเวลาที่อังกฤษมาเปนเจ้าเข้าครอง การถือกำเนิดของอเมริกาก็ต้องฟันฝ่าทำสงครามประกาศเอกราชเปนธรรมดา เขาก็ต้องมีท่าทีตรงข้ามกับระบอบกษัตริยาธิราชเจ้าอาณานิคมอยู่แล้ว _ อ้าว ไม่งั้นจะหาจุดขัดแย้งมาทำสงครามกันอย่างไรได้


 

นายพลจอร์จ วอชิงตันนี้ ท่านก็เดิม เปนนักสำรวจ เข้าเปนทหารก็ที่เวอร์จิเนีย 
 
อีทีนี้ยุคก่อนประกาศเอกราชนั้น ทหารอย่างวอชิงตันเปนผู้พันก็สังกัดทัพอังกฤษในอาณานิคมอเมริกา เรียกได้ว่าเปนทหารอาณานิคม ไม่ใช่ทหารอังกฤษประจำการ
 
ทำการต่อสู้กับฝรั่งเศสที่รุกกันไปมาละแวก พิตส์เบิร์ก เวอร์จิเนีย ซึ่งมาๆไปๆก็ลามไปสู้กันทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือ ตั้ง 5-6 ปี
 
อีทีนี้ก็อีกล่ะ ยามชนะสงครามกองทัพอังกฤษยึดดินแดนใครได้ที่ได้ทางมาก็เอามาแบ่งปูนบำเหน็จให้ทหารอังกฤษ “ประจำการ” เสียก่อน ทหาร “อาณานิคม” อย่าง จอร์จ วอชิงตัน แกไม่ได้ ทั้งที่ก็ลงแรงต่อสู้มาด้วยกัน และที่ร้ายไปกว่านั้น เมื่อมีอำนาจรัฐาธิปัตย์แข็งแรง อังกฤษคุมอเม’กา ทางเศรษฐกิจก็ออกนโยบายกดราคายาสูบเวอร์จิเนีย ที่วอชิงตันแกเปนพ่อค้าอยู่ ซ้ำยังเก็บภาษี
 
ไฟชนวนปฏิวัติก็มาคุ มา_กรุ่นด้วยเหตุนี้ 

ต่อมากองทัพอาณานิคมที่จอร์จสังกัดก็แยกวงมาก่อตั้งเปนกองกำลังภาคพื้นทวีป continental army ไว้โจมตีอังกฤษเจ้าอาณานิคม 55
 
สถานภาพการต่อสู้ของจอร์จ วอชิงตันในสงครามประกาศเอกราชชื่อมันก็ฟังดูยิ่งใหญ่ดีแต่ทว่างานการติดอาวุธและกองกำลังมันก็ดูจะแร้นแค้น
รบกับเจ้าอาณานิคมทีไรอัตราการได้ชัยชนะก็ต่ำลงทุกทีทุกที จอร์จ วอชิงตันก็แก้เกมส์ยื้อขยายเวลาการต่อสู้เพิ่มเงินเดือนให้ทหารใช้ความพยายามหางบ แล้วก็เสริมกำลังทหารปืนใหญ่
 
ตำแหน่งสุดท้ายในกองทัพของเขาคือผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในปี 1783 สงครามจบสงบเรียบร้อยก็ลาออกไปเป็นเจ้าของฟาร์มขนาดใหญ่ แต่ปี่กลองการเมืองมันรุมเร้า การประชุมสมาพันธรัฐระบบการปกครองส่วนกลางในตอนนั้นคัดเลือกแกอย่างเป็นเอกฉันท์ให้มาเป็นประธานาธิบดี
 
ซึ่งแต่แรกคำว่าประธานาธิบดีนี้เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมาใหม่จากตัวเลือกหลายหลายตัว เช่นคำว่าเจ้าหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์, คำว่าผู้แทนของสหรัฐอเมริกา, คำว่าท่าน เป็นต้น
 
ทั้งนี้ตัวจอร์จ วอชิงตันเองเป็นคนเลือกใช้คำสำหรับตำแหน่งผู้นำว่าประธานาธิบดี ส่วนแบบธรรมเนียมการเป็นประธานาธิบดีไม่เกินสองวาระนั้น พลโทจอร์จ ก็เป็นผู้ริเริ่มโดยเป็นผู้ลาออกในวาระที่สองของการดำรงตำแหน่ง (แม้จะมีผู้แหกแบบธรรมเนียมและกฎกติกาอยู่บ้างคือประธานาธิบดี คนที่ 32)


 
ในที่นี้ก็จะลงรูปงานศิลปะอันเกี่ยวเนื่องด้วยประธานาธิบดีจอร์จวอชิงตันให้ท่านได้ชมเพลินเพลิน
 
รูปแรกก็คือรูปวอชิงตันข้ามแม่น้ำเดลาแวร์ ซึ่งเป็นการวาดภาพของศิลปินสำคัญ รอยซิเย่ ชาวเยอรมัน แกเก็บเอาภาพตอนกองทัพวอชิงตันข้ามแม่น้ำเดลาแวร์ไปโจมตีทหารรับจ้างชาวเยอรมันที่ตั้งค่ายชั่วคราวอยู่ที่เทรนตัน ซึ่งเป็นหนึ่งในชัยชนะด้านการทหารของท่านในพลที่มีอยู่น้อยนิด
ที่น่าสนุกคือผู้ที่ถือธงชาติอเมริกาในภาพนี้คือเจมส์ มอนโรม ภายหลังกลายมาเป็นประธานาธิบดีจากทหารคนที่ 5
 
ซึ่งก็อีกนั่นแหละในเวลาที่ยกทัพข้ามแม่น้ำเดลาแวร์นั้นอเมริกายังไม่เป็นชาติ ฉะนั้นแล้วธงชาติที่ ว่าที่ประธานาธิบดี เจมส์ มอนโร ถืออยู่จึงเป็นเรื่องสร้างขึ้นมาทีหลังโดยศิลปินเยอรมันผู้วาด ภาพนี้เก็บอยู่ที่ The Met
 
มาบัดนี้ก็จะกล่าวถึงว่า ไทยกับอเมริกาก็ไปมาสัมพันธ์กันมานาน ลุถึงปี 1856 แฟรงกลิน เพียร์ซ ประธานาธิบดีคนที่ 14 แต่งตั้งให้ เทาเซนด์ แฮรีส เป็นทูตมาสยามประเทศช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือรายการบัญชีเครื่องบรรณาการสำหรับถวายพระเจ้าแผ่นดินสยามทั้งสองพระองค์ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)มา หนึ่งในข้าวของนั้นเปนภาพสีน้ำมัน ของอดีตประธานาธิบดี นายพลจอร์จ วอชิงตัน
 
แกเข้าเฝ้าสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กราบบังคมทูลว่า “...ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานนำความเคารพด้วยความจริงใจและด้วยมิตรไมตรีอย่างสุดซึ้ง จากท่านประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามากราบบังคมทูลแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และขอกราบบังคมทูลว่าท่านประธานาธิบดีได้ทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ที่ได้ทรงต้อนรับชาวอเมริกันทั้งหลายผู้ได้มาเยือนประเทศสยามตลอดหลายปีที่ผ่านมาแล้ว
 
สหรัฐอเมริกามิได้ยึดครองดินแดนใดในตะวันออก ทั้งมิได้ปรารถนาที่จะยึดครองดินแดนแห่งใดแห่งหนึ่ง ระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกาห้ามการยึดอาณานิคม ฉะนั้นสหรัฐอเมริกาจึงไม่มีข้ออิจฉาริษยาอำนาจของประเทศตะวันออกประเทศใด ความสัมพันธ์ทางการค้าขายอย่างสงบสุขซึ่งจะทำให้ได้รับผลประโยชน์เสมอเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่ท่านประธานาธิบดีปรารถนาที่จะสถาปนาให้มีกับประเทศสยาม และนั่นเป็นจุดมุ่งหมายของคณะทูตของข้าพเจ้า
 
รัฐใหม่รัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกาได้เกิดขึ้นทีหลัง จากรัฐนี้การเดินทางมายังประเทศสยามสามารถทำได้ในเวลา 1 เดือน นี่ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นเพื่อนบ้านใกล้ที่สุด ซึ่งประเทศสยามมีอยู่ในบรรดาเชื้อสายคอเคเซี่ยน และเป็นเหตุผลอันแข็งแกร่งในการสมัครสมานสองชาติเข้าด้วยกัน..”


 
ผลแห่งการเข้าเฝ้าเจริญพระราชไมตรีนี้ทำให้ คงทูตแฮรีส ได้เข้าใจซาบซึ้งว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ มีพระราชปฏิภาณปรีชายิ่งนัก ศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ กิจการบ้านเมือง การทหารของอเมริกามาอย่างลึกซึ้ง เพราะทรงตั้งชื่อพระโอรสวังหน้าขององค์ท่านไว้ตั้งแต่ปีมะโว้โน่นแล้วว่า “พระองค์เจ้า จอร์จ วอชิงตัน” เปนพระองค์เจ้า ยอร์ชวอชิงตัน (สะกดตามไทย) ผู้ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเอม คนทั่วไปออกพระนามว่า พระองค์เจ้ายอด ต่อมา ได้ทรงรับพระราชทานพระนามใหม่ว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร และได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เฉลิมพระราชมณเทียรเป็นที่ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในสมัยรัชกาลที่ 5 และในเวลาต่อมาเปนที่โด่งดังในฐานะบุคคลประวัติศาสตร์คราวเกิดวิกฤตวังหน้าอันส่งผลให้ไม่มีการสถาปนาวังหน้าขึ้นอีกเลยนับแต่นั้น
 
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ผู้นี้ทรงเป็นเจ้านายที่มีความสามารถหลายด้าน ทั้งนาฏกรรม ทรงพระปรีชา เล่นหุ่นไทย หุ่นจีน เชิดหนัง ด้านการช่าง ทรงชำนาญเครื่องจักรกล ทรงต่อเรือกำปั่น ทรงทำแผนที่แบบสากล ทรงสนพระทัยในแร่ธาตุ ถึงกับทรงสร้างโรงถลุงแร่ไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล  ทรงได้รับประกาศนียบัตรจากฝรั่งเศส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาช่างอีกด้วย เปนที่ทราบกันดีว่าพระองค์เจ้ายอดทรงเปนลูกศิษย์รักของสมเด็จเจ้าพระยาบุนนาค
 
ในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยทรงตั้ง หอรัษฎากรพิพัฒน์_Auditing Office เพื่อรวบรวมการเก็บภาษีมาอยู่ที่เดียวกัน ซึ่งกระทบกระเทือนต่อการเก็บรายได้ ของเจ้านายและขุนนางเก่าแก่เป็นอันมาก โดยเฉพาะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งเดิมมีรายได้แผ่นดินถึง 1 ใน 3 ผู้สันทัดกรณีสังเกตว่า มีการสะสมอาวุธที่วังหน้า ฝึกซ้อมกำลังทหาร มีความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า จนเกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง 
 
หน่วยเสื้อเกราะทองข่าวกรองทางวังหลวงจึงหวาดระแวง ว่าท่านมีแผนการจะแบ่งดินแดนเป็นสามส่วนคือ ทางเหนือให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปกครอง ฝั่งตะวันออก ให้สมเด็จเจ้าพระยาบุนนาคปกครอง ทางใต้จะทรงครองเอง นัยว่าเมื่อแบ่งสยามให้เล็กลงแล้วจะได้อ่อนแอ ง่ายต่อการเอาเป็นเมืองขึ้นตามสูตรฝรั่งมังค่า
 
อยู่มาวันหนึ่ง เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ตึกดินในวังหลวง ไฟไหม้ลุกลามไปถึงพระบรมมหาราชวัง ทางวังหลวงเข้าใจว่าวังหน้าเป็นผู้วางระเบิด แถมไม่ส่งคนมาช่วยดับไฟ ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ก็เสด็จหลบหนีไปอยู่ในสถานทูตอังกฤษไม่ยอมเสด็จออกมา เหตุการณ์ตึงเครียดนี้กินเวลาถึงสองสัปดาห์ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เดินทางกลับจากทำเนียบเมืองราชบุรีเข้าเมืองมาไกล่เกลี่ย เกิดเปนตำนานวิกฤตวังหน้าที่อื้ออึงในหน้าประวัติศาสตร์ขึ้นมาดังนี้

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,921 วันที่ 10 - 13 กันยายน พ.ศ. 2566