เรืองามๆ ของโลก

19 ก.ค. 2567 | 23:05 น.

เรืองามๆ ของโลก คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เวลานี้กองทัพเรือกับกรมศิลปากรกำลังขะมักเขม้นเตรียมการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
 
เรือเด่นๆที่สวยงามทรงคุณค่าทางนาวาสถาปัตย์ (naval architecture) ในคอลเลกชั่นของชาติ คงไม่พ้นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งเดิมทีในตำนานชื่อว่า เรือศรีสุพรรณหงส์ ความงามของเรือนี้มิใช่แต่ว่างามสวยงามงดแต่เท่านั้น


 
งามวิศวกรรมศาสตร์เชิงช่างแต่โบราณคุณครูช่างท่านวางตัวเรือด้วยไม้ตะเคียน ด้วยว่าตะเคียนนั้นเส้นใยเซลูโลสแห่งต้นพืชชนิดนี้ถูกกันกับน้ำ โดนน้ำแช่น้ำแล้วทนที่สุดกว่าไม้ชนิดอื่น ส่วนที่พ้นน้ำขึ้นมาใช้ไม้สักทองเพราะคงทนในอากาศเปนไม้แกร่งในตัวไม่ใช่หนาหนักแต่เท่านั้นเหมือนไม้อื่น
 

เรือศรีสุพรรณหงส์ในตำนานสร้างในยุครัตนโกสินทร์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีหมายรับสั่งให้จัด “เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์” เปนเรือทรงพระบรมธาตุที่ได้มาจากเวียงจันทน์ ในจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 เรียกชื่อเรือนี้ว่า “เรือศรีสุพรรณหงส์” เช่นกัน เวลาผ่านไปเรือศรีสุพรรณหงส์ได้ชำรุดทรุดโทรมลงเรื่อยโดยได้รับการซ่อมแซมมาหลายครั้งหลายคราว จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงสร้างขึ้นใหม่และในยุคหลังมานี้ตัดคำว่าศรีออกเหลือแต่คำว่าเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
 
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์นี้โขนเรือเปนรูปหงส์เหมราชซึ่งเปนสัตว์หิมพานต์ชั้นสูงประเภททวิบาท_สองขาจงอยปากแหลมเรียวยาว ปลายเชิดสูงขึ้นเล็กน้อย มีเขี้ยวขนาดใหญ่ด้านละ 2 เขี้ยว ประดับกระจกเกรียบสีขาวและมีเขี้ยวขนาดเล็กที่งอยปากทั้งสองด้าน กายสีทองอร่ามนัยน์ตากลมโตประดับกระจกเกรียบสีเขียวแซมขาว ลำคอเรียวยาวระหงแลดูสูงสะโอดสะอง


 
ครูช่างยุคก่อนแกะสลักลายประจำยามก้านแย่ง ภายในแนวเส้นโค้งของลวดลายถี่ซ้อนกันเปนลักษณะขนหงส์ ปิดทองล่องกระจก ประดับกระจกเกรียบสีแดงแชมเขียว ห้อยพู่ขนจามรีสีขาว ประกอบด้วยลูกแก้วชุดบนพวงแก้วและลูกแก้วชุดล่าง ยามจะออกลงน้ำจะสวมมาลัยคอสีขาวเหลือบทองทำเปนตาข่ายดอกรักคลุมพวงมาลัย ห้อยเครื่องแขวนไทยระย้าทรงเครื่องน้อยโครงรูปดาวร้อยดอกรักชายห้อยอุบะตุ้งติ้ง ที่มุมทั้งหกและส่วนล่างของระย้าห้อยอุบะดอกไม้สีเเดง_เหลือง

ตัวเรือมีน้ำหนักมากราว 15 ตัน กินน้ำลึกราวฟุตเศษ ประจุฝีพาย 50 คน พายจ้วงลงครั้งหนึ่งเคลื่อนในน้ำได้ 3.5 เมตร เนื่องจากเปนเรือขนาดยาวใหญ่มากในกรณีตกที่ลำบากกำลังขับเคลื่อนไม่พอ น้ำเชี่ยว หรือความเร็วตก เรือสุพรรณหงส์นี้ยังสามารถเคลื่อนที่ได้โดยใช้เรือคู่ชัก มาเชิญเกี่ยวพ่วงชักลากออกไปได้ โดยเรือคู่ชักนี้ได้แก่เรือ เอกชัยเหิรหาว และ เรือเอกชัยหลาวทอง ซึ่งตามแบบธรรมเนียมแล้วเรือเอกไชยหรือเอกชัยเหล่านี้จะมีความเบากว่า เพรียวกว่า โขนเรือเรียบคมเปนไม้รูปดั้งเชิดสูง เขึยนลายรดน้ำรูปตัวเหราหรือ จระเข้ผสมมังกรนาคปิดทอง เรือนี้ตัดแหวกน้ำได้ดี มีกำลังฝีพายลำละ 38 นาย สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เช่นกัน ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานครสร้างความเสียหายให้กับเรือพระราชพิธีทั้งสองลำนี้อย่างมาก เพิ่งจะบูรณะเรือสองลำนี้ใหม่โดยใช้หัวเรือเดิมมาประกอบในสมัยต้นรัชกาลที่ 9 และ ครั้งหนึ่งเรือเอกไชยลำเหิรหาวเคยปฏิบัติหน้าที่เปนเรื่องพระที่นั่งรองด้วย


 
การจะชื่นชมพระบารมีดูกระบวนพยุหยาตราสำคัญนี้ให้สนุกประทับใจก็ควรจะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาแทรกไว้ เช่นว่า เรือพระที่นั่งชั้นสูง ชาวเรือเรียกเรือพระที่นั่งกิ่ง เพราะในรัชกาลบรรพกษัตริย์โบราณ ครั้งหนึ่ง เสด็จออกรบทางน้ำได้ชัยชนะ เพื่อเปนการฉลองชัยนั้น ได้ทรงหักกิ่งไม้ปักที่โขนเรือ เพื่อแสดงหมายมงคลและต่อๆมาช่างฝีมือต้องแกะรูป/เขียนลายกิ่งไม้ไว้ที่หน้าเรือชั้นสูงนี้ด้วย ต่อมาจึงเรียกกันว่าเรือกิ่ง ถือเปนเรือมีเกียรติยศสูงกว่าลำใดๆ
 
ต่อมาที่น่าสนใจคือว่า ในกระบวนเรือนั้นรายละเอียดของเรือนอกจากจะต่างกันไปแล้ว ประดาฝีพายก็ลักษณะต่างกันออกไปอีก
 
เรือรบชนิดว่าเรือพิฆาตที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยนั้น ผู้อำนวยการกระบวนจะจัดเรือเสือสองลำทำหน้าที่ตามประเพณี เรือเสือคู่นี้เบา เพรียว กินน้ำตื้นและติดปืนใหญ่ชนิดจ่ารงหน้าเรือ ทำหน้าที่พิทักษ์กระบวนเรือทั้งหมด บนเรือนั้นมีนายทหารผู้ใหญ่บังคับการ ชื่อเรือเสือทะยานชลกับเรือเสือคำรณสินธุ์ ถ้ามีวัตถุแปลกปลอมลอยตามน้ำมา เปนหน้าที่เรือเสือจะกวาดล้างไม่ให้ล่วงล้ำเข้าถึงเรือพระที่นั่งด้วย (กวาดล้างทุ่นระเบิดสมัยโบราณที่อาจปลอมแปลงมาในรูปหมาเน่า สัตว์เน่า) ใช้ฝีพายลำละ 28 นาย เรือเสือไม่มีการแกะสลักลงลักปิดทอง แต่ใช้การวาดลวดลายแทน ด้านบนหัวเรือทำเปนพนักลูกกรงไม้สำหรับวางปืนใหญ่ วาดลวดลายรูปหน้าเสือ มีดวงตาใหญ่ มีคิ้ว จมูก ปาก ฟัน และเขี้ยวที่แหลมคมตัดเส้นดูทรงกำลัง มีลวดลายดอกพุดตานด้วยสีฟ้าเข้ากับตัวเรือด้านนอกที่เปนสีเหลืองทั้งลำ ภายในทาสีแดง ท้องเรือ เขียนลวดลายเหมือนกับริ้วเสือลายพาดกลอนสีดำส่วนท้ายเรือเขียนเปนลายดอกพุดตานสีฟ้าอีก งามงด


 
ส่วนลำที่ชื่อน่ารักแต่ว่าดู rustic และ indigenous ที่สุด คือเรือแตงโม แม้เปนเรือที่ออกจะขี้เหร่ไป แต่ก็ดูอ่อนเพรียวบางในความเข้มขรึม คู่หูของเรือแตงโมคือเรืออีเหลือง ซึ่งทั้งสองลำไม่มีการปิดทองล่องชาดแกะสลักอะไรกับใครเขา แต่ทำหน้าที่สำคัญมากๆคือเปนเรือของผู้บัญชาการกระบวนเรือนั่ง แต่เดิมมีหน้าที่บรรเลงกลองแขกและปี่ชวาในเวลาแห่เสด็จ โดยเรือกลองต้องลอยลำถวายเสียงอยู่กลางน้ำตรงเรือพระที่นั่งจนเสด็จขึ้นบกแล้วจึงหยุด 

เรือกลองมี ๒ ลำ คือ เรือกลองนอก และเรือกลองใน อยู่ในสายกลางของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ในแนวเดียวกับเรือพระที่นั่ง


 
เรือกลองนอก(อีเหลือง)อยู่ในขบวนหน้า เดิมทีเปนเรือสำหรับเจ้ากรมอาสาหรือเจ้ากรมเขนทองผลัดเวรกันลง หากถวายงานข้างขึ้นเปนเวรเจ้ากรมอาสาเขนทองขวาลงเรือ หากถวายงานข้างแรมเปนเวรเจ้ากรมอาสาเขนทองซ้ายลงเรือ ปัจจุบันนี้รองผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ลงเรืออีเหลือง
 
เรือกลองในอยู่หน้าเรือคู่ชัก เดิมเปนเรือสำหรับเจ้ากรมอาสาหกเหล่า ซึ่งเปนแม่ทัพใหญ่ หากข้างขึ้นเปนเวรพระยาสีหราชเดโชชัย เจ้ากรมอาสาหกเหล่าขวาลงเรือ หากข้างแรมเปนเวรพระยาท้ายน้ำ เจ้ากรมอาสาหกเหล่าซ้ายลงเรือ ปัจจุบันเรือแตงโมปฏิบัติหน้าที่เรือกลองใน โดยผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารคลงเรือ
 
อีทีนี้เรื่องที่น่าสนใจก็ยังมิจบ ด้วยว่าเเต่เก่าก่อนมานั้น พระยาท้ายน้ำกับพระยาเดโชท่านก็เปนคู่หูกันพระ(ยา)ท้ายน้ำ ท่านถือตราองคตถือพระขรรค์ ขึ้นต่อสมุหพระกลาโหม มีหน้าที่ฝ่ายตั้งกองระวังรักษาการณ์หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กองคอยเหตุ” อยู่ที่ท้ายน้ำ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกนอกพระบรมมหาราชวังไปประทับที่แห่งใดแห่งหนึ่ง


 
ส่วนพระยาเดโช ท่านถือตราหนุมานแผลงฤทธิ์ ขึ้นต่อสมุหพระกลาโหมเช่นกัน หน้าที่คือการตั้งกองระวังรักษาทำกองคอยเหตุ รออยู่ที่เหนือน้ำ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชวังไปประทับที่แห่งใดแห่งนั้น
 
ส่วนกรมอาสาหกเหล่าที่ว่าสองท่านคุมนั้น คำว่า “อาสา” แปลว่า “ทหารหน้า” กล่าวอย่างปัจจุบันก็คือ ‘หน้าด่าน’ นั่นเอง มึหน้าที่วางด่านทาง ป้องกันข้าศึกศัตรูซึ่งแบ่งมาตามทิศซ้ายและขวา เลยมีคำว่าเจ้ากรมซ้ายเจ้ากรมขวา คอยเตรียมงานรบพุ่งประจันบาญอริราชศัตรูถ้าหากแหกด่านเข้ามา
 
แต่เดิมในสมัยอยุธยาอาสาหกเหล่า แบ่งออกเปนกรมอาสาใหญ่ กรมอาสารอง กรมเขนทองขวา กรมเขนทองซ้าย กรมทวนทองขวา และ กรมทวนทองซ้ายมิได้เกิดจากความสมัครใจออกมาอาสาสู้ศึกแบบว่า_Volunteer ของฝรั่ง เปนแต่คำนิยามว่าอาสาเปนหน้าด่านเฉยๆ
 
พระยาเดโช และพระยาท้ายน้ำ สองคู่หูนี้ท่านมีหน้าที่ป้องกันกรุง ไม่ใช่ออกนอกกรุงปราบกบฏในเขตประเทศราช จะออกนอกประเทศได้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินยกทัพหลวงเท่านั้น  

              
 
นอกจากนี้สองท่าน ยังรับหน้าที่ศึกษาข่าวศึก ดูแลด่านเก็บภาษีพ่วงอีกด้วย เล่ากันมาแบบกระซิบกระซาบว่ายุคนั้นผู้คนไม่ชอบเปนเดโชเปนท้ายน้ำ เพราะไม่มีโอกาสออกไปตีเมืองอื่น การที่จะได้ทรัพย์สมบัติจากเมืองเชลยก็น้อยมาก ได้รับพระราชทานแต่เพียงเบี้ยหวัดธรรมดา แถมอยู่ใกล้ชิดติดกับพระเนตรพระกรรณ โอกาสที่จะทำไรผิดพลาดโดนลงพระราชอาญามีมาก ว่ากันว่าปลายกรุงศรีอยุธยากรมนี้เสื่อมลงแทบหาตัวคนมาเปนพระยาเดโช พระยาท้ายน้ำไม่ได้เลย
 
ชื่อของพระยาท้ายน้ำนี้เคยปรากฏเปนตัวละครในวรรณคดีไทยขุนช้างชุนแผน ว่าเปนนายทัพจากอยุธยาไปทำศึกเชียงใหม่แล้วพลาดท่าถูกจับกุมคุมขังไว้พร้อมบริวาร 500 อีกท่าน ส่วนผู้มีตัวตนจริงสมัยพระเจ้าตากคือเจ้าเมืองเชียงเงิน ทำราชการถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินจนได้เปนพระยาท้ายน้ำ เปนที่รักเอ็นดูมาก โปรดรับสั่งสอนกลศึกวิชาทหารให้เรื่อยมา ปลายทางได้เปนเจ้าเมืองสุโขทัย 

(ต่อตอน 2)