พระสุภูโตกับศิลปะการขอฝน

06 ก.ค. 2567 | 22:25 น.

พระสุภูโตกับศิลปะการขอฝน คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ในสังคมเกษตรกรรมแต่ไหนแต่ไรมา หน้าที่ของคนก็คือการหว่านพืช ส่วนหน้าที่ของพืชที่หว่านเพาะก็คือต้องเจริญเติบโตผลิดอกออกผลให้คนในสังคมเก็บเกี่ยวเปนอาหารทำประโยชน์ ซึ่งงานอันนี้จะขาดเสียไม่ได้เลยในเรื่องของฝน สายน้ำและความชื้น ซึ่งเปนปัจจัยสำคัญทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารดูดดื่มซับซึมจนนำมาซึ่งการเติบโตเจริญดอกออกใบผลตามที่คาดหวัง
 
งานเรื่องของการทำฝนนี้ โบราณมีคำเรียกไว้อย่างครอบคลุมชัดเจน ว่าคือ การพระพิรุณศาสตร์ ซึ่งเปนการรวบรวมศิลปะ_ศาสตร์ ยุทธวิธีในการขอฝนรูปแบบต่างๆเอาไว้มากมาย ทั้งในเงื่อนไขชนิดว่า อ้อนวอนเว้าขอฝน จนไปถึงการทำประชดประชัน จนกระทั่งแช่งชักให้ฝนต้องตกลงมา รวมอยู่ในพิรุณศาสตร์ทั้งสิ้น


 
ตามที่ได้เรียนเล่าสู่ท่านฟังแล้วว่า กระบวนการสมมติให้ของไม่ใช่คนกลายเปนคนนั้นท่านเรียกวิชาบุคคลาธิษฐาน ในการเรื่องฟ้าเรื่องฝนนี่ก็เหมือนกัน ปวงเหล่ามนุษย์ทั้งหลายเรียกฝนว่า พระพิรุณ กำหนดให้เปนคนเหมือนกันแต่ชั้นวรรณะสูงกว่าเปนชั้นเทวา (ข้อสังเกต คำว่า เทโว_ก็แปลว่าฝน) 
 

เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงกระทำการเรียกฝนนั้น เหตุไปเกิดความเเห้งแล้งจัดขึ้นที่เมืองสาวัตตถี เปนความแล้งอย่างหนักหนาสาหัส ขนาดว่าชาวบ้านไม่มีน้ำดื่มกิน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จยังสระโบกขรณี ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงเปลื้องผ้าไตรจีวร ครองผ้าอาบ(น้ำฝน) แล้วเสด็จไปประทับ  ณ บันไดสระ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเรียกฝน  พระหัตถ์ซ้ายรองรับน้ำฝน ในทันใดนั้น  ด้วยอานุภาพของพระพุทธองค์ซึ่งมีพระหฤทัยเมตตากรุณาต่อหมู่สัตว์ทั้งหลาย  มหาเมฆก็ตั้งเค้าขึ้นแล้วให้ฝนตกลงมาเปนอันมากทั่วทิศานุทิศ นัยว่าให้พระพุทธองค์ได้สรงน้ำฝนสมพระกิริยาและสมพระกรุณาที่จะอนุเคราะห์สัตว์โลก
 
เวลาผ่านมาอีกราวสี่ร้อยกว่าปี พระเจ้ามิลินทราช  ผู้ครองเมืองคันธาระ  รำลึกถึงเหตุอัศจรรย์เรียกฝนของพระพุทธองค์ได้ จึงสร้างพระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ  ทรงผ้าอุทกสาฎก พระหัตถ์ขวายกขึ้นเปนกิริยากวัก แสดงอาการขอฝน  พระหัตถ์ซ้ายหงายแบรองรับน้ำฝนวางอยู่บนพระเพลา  
 
พระพุทธรูปปางนี้ขอฝนนี้นิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปางคันธารราฐบ้าง ปางคันธาระบ้าง เพราะสร้างขึ้นที่เมืองคันธาระเปนครั้งแรก (ซึ่งเปนคนละกรณีกับที่มีการทับซ้อนกันกับคำว่าศิลปะคันธาระ-สร้างรูปเคารพที่มีลักษณะเหมือนคนจริงๆ)


 
ในทางราชการงานเมือง การพระพิรุณศาสตร์ขอฝนนั้น ท่านนิยมอัญเชิญพระคันธารราฐเปนประธาน แต่อย่างไรก็ดี รองประธานในพิธีนั้น ท่านให้มีอีกท่านหนึ่งร่วมปะรำ ท่านผู้นี้คือพระพุทธอรหันตสาวก นามว่าพระสุภูโต
 

เดือนก่อนได้แวะขึ้นไปทางพิจิตร ถึงวัดบึงนาราง ซึ่งเก่าแก่โบราณกาลสมัย ที่หน้าโบสถ์มหาอุดสี่ห้าร้อยปีนั้น มีรูปพระอ้วนขนาดเท่าเด็กอ่อนประดิษฐานอยู่ ลักษณาการคล้ายกับพระสังกัจจายน์แต่ทว่าท่านชูแขนชูมือข้างหนึ่งขึ้นบนเวหาอากาศ เยาวชนว่าแปลกจริง พระสังกัจจายน์องค์นี้ยกมือสุดแขน?!?
 
ก็ได้เวลาอรรถาธิบายว่า องค์นั้นไม่ใช่พระสังกัจจายน์หรอก (เรื่องพระสังกัจจายน์เขียนไว้แล้วในตอนที่ราวสองร้อย ว่าด้วยเรื่องปัญหาของภิกษุรูปงาม) ท่านเปนพระสุภูติ หรือ พระสุภูโตต่างหาก
 
ท่านพระสุภูติผู้นี้เดิมทีกำเนิดเปนลูกพ่อค้าเศรษฐี เปนหลานลุงของอนาถบิณฑิกเศรษฐี บ้านอยู่กรุงสาวัตถี เปนผู้มีลักษณะดี ผิวพรรณผ่องใสสะอาด สวยงาม จึงได้นามว่า “สุภูติ” มีความหมายว่า “ผู้เกิดดีแล้ว” 
 
วันหนึ่งคุณลุงอนาถบิณฑิกะ ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ กรุงราชคฤห์ และได้ฟังพระธรรมเทศนา จนบรรลุโสดาบัน จึงกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จกรุงสาวัตถีบ้าง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาแล้ว ตัวรีบเดินทางกลับมากรุงสาวัตถีได้จัดซื้อที่ดินอันเปนราชอุทยานของเจ้าชายเชตราชกุมาร ด้วยวิธีนำเงินมาวางเรียงให้เต็มพื้นที่ เพื่อทำการสร้างพระคันธกุฎีที่ประทับ และเสนาสนะสำหรับพระสงฆ์สาวก แต่ยังขาดพื้นที่สร้างซุ้มประตูพระอาราม เจ้าชายเชตราชกุมารจึงขอมอบพื้นที่และจัดสร้างให้ โดยขอให้จารึกพระนามของพระองค์ไว้ที่ซุ้มประตูพระอารามว่า “เชตวัน” ดังนั้น พระอารามนี้จึงได้นามว่า “พระเชตะวันมหาวิหาร”
 
ในวันที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จัดการฉลองพระวิหารเชตะวันนั้นสุภูติกุฎุมพีผู้หลาน ได้ติดตามไปช่วยงานนี้ด้วย ครั้นได้เห็นพระฉัพพรรณรังสี ที่เปล่งออกจากพระวรกายของพระบรมศาสดา สวยงามเรืองรองไปทั่วบริเวณ ทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใส ทั้งเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมกถาอนุโมทนาทาน สุภูติกุฎุมพี ได้ฟังแล้วยิ่งเกิดศรัทธามากขึ้น จึงกราบทูลขออุปสมบท


 
จนท่านสุภูติสำเร็จเปนพระแล้ว ได้ศึกษาพระวินัยและพระอภิธรรมเรียนพระกรรมฐานจากพระบรมศาสดาแล้วหลีกออกไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล 
 
พระสุภูติเถระ โดยปกติแล้วมักจะเข้าฌานสมาบัติ เพื่อแสวงหาความสุขอันเกิดจากการสิ้นกิเลส ท่านนิยมเจริญฌานประกอบด้วยเมตตาอยู่อย่างคนไม่มีข้าศึกเปนนิตย์ พระเจ้าพิมพิสาร เมื่อได้ทราบว่าท่านเปนผู้มีปกติฌานที่ประกอบด้วยเมตตาเปนประจำไม่เว้นแม้แต่ในขณะบิณฑบาตก็ยังแผ่เมตตาให้แก่ผู้ถวายอาหารบิณฑบาตอย่างทั่วถึง จึงอาราธนาให้ท่านจำพรรษาที่แคว้นมคธบ้างและท่านก็รับอาราธนาตามนั้น แต่เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสาร ทรงมีพระราชกิจมาก จึงลืมรับสั่งให้จัดเสนาสนะสถานที่พักถวายท่าน ดังนั้น เมื่อท่านมาถึงแล้วจึงไม่มีที่พัก ท่านจึงต้องพักกลางแจ้ง 
 
อีทีนี้ด้วยอำนาจแห่งคุณธรรมของท่าน โลกจึงทำให้ดินฟ้าอากาศปรวนแปร ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ชาวไร่ชาวนาปลูกพืชผลไม่ได้ต้องเดือดร้อนไปทั่วด้วยเทวดาฟ้าฝนกลัวท่านเปียกปอนร้อนใจ
 
ความบ้านเมืองประสบภัยแล้งนี้ทราบถึงพระเจ้าพิมพิสาร ทรงใคร่ครวญทบทวนแล้วทราบชัดว่า คงเปนเพราะพระเถระจำพรรษากลางแจ้ง จึงเปนเหตุให้ฝนแล้งไปทั่ว ดังนั้น จึงทรงรีบแก้ไขด้วยการรับสั่งให้สร้างกุฎีถวายท่านโดยด่วน เมื่อกุฎีสำเร็จแล้ว จึงได้อาราธนาท่านให้เข้าพักอาศัยอยู่จำพรรษาในกุฎีนั้น 
 
พระสุภูติก็กล่าวแก่เหล่าเทพยดาฟ้าฝนว่า โอเคแล้ว มีหลังคากันฝนแล้ว อย่าห่วงเลย จากนั้นฝนก็ตกลงมาชาวประชาก็พากันดีใจ ปลูกพืช ผัก ผลไม้ ก็ได้ผลผลิตดี
 
จากประวัติของพระสุภูติข้างต้น จึงทำให้ประติมานวิทยาของรูปเคารพพระสุภูติมีลักษณะการแสดงอิริยาบถที่สัมพันธ์กับ “เบื้องบน” หรือ “ท้องฟ้า” เช่น การแหงนหน้ามองด้านบน หรือชูแขนข้างหนึ่งขึ้นในท่ากวักมือเรียก เปนต้น ส่วนทำไมท่านต้องอ้วนนั้น? ก็ในสมัยก่อนความอวบอ้วนแห่งคน/สัตว์/สิ่งของ เปนความงามงดของความอุดมสมบูรณ์ การที่ฝนตกแล้วบังเกิดความบริบูรณ์ ศิลปินครูช่างโบราณท่านได้ซ้อนสมมติลงไปในงานศิลปะการสร้างดังนั้น
 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงเรียบเรียงคาถาสุภูโตขึ้นมา และใช้มาตลอดนับตั้งแต่รัชกาลของพระองค์ในคราวที่ฝนแล้ง โดยมีประกาศให้พระอารามต่าง ๆ สวดคาถาสุภูโต ประกอบงานพระราชพิธีพิรุณศาสตร์เรียกฝน ซึ่งไม่ได้มีกำหนดตายตัวว่าจะต้องจัดกี่วัน ขึ้นอยู่กับว่าฝนจะตกหรือไม่ และตกมากน้อยเพียงใด หากฝนตกไม่มากก็ยังคงทำพิธีต่อไป อีกทั้งพระราชพิธีพิรุณศาสตร์มิได้จัดขึ้นเปนประจำทุกปี หากแต่จัดขึ้นในคราวที่เกิดภาวะแล้งขาดแคลนน้ำฝนเท่านั้น
 
เมื่อมีพระประสูติกาลรัชกาลที่ 5 พระราชโอรส บ้านเมืองก็เกิดเหตุฝนตกเนืองนอง 3 วัน 3 คืน นำมาซึ่งความอุดมไพบูลย์แก่พระราชอาณาจักพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เห็นศุภนิมิตมงคลในพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ พระราชทานเฉลิมพระนามทรงกรมต่อมาว่า ‘กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ’ ทั้งให้เสด็จแทนพระองค์ทำพิธีเรียกฝนพระพิรุณศาสตร์ แต่ทรงพระเยาว์


 
ส่วนพระพุทธรูปประจำพระชนม พรรษา (พระชนมวาร) นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เองทรงบันทึกว่า
 
“ท่านผู้ใหญ่จึงได้ตกลงกันให้ใช้พระคันธารราษฎร์เปนพระชนมพรรษา” และในการหล่อพระคันธารราษฎร์นั้นกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์โปรดพระคันธารราษฎร์นี้มาก จึงได้ขอหล่อขึ้นอีกองค์หนึ่งต่างหาก และพระองค์ท่านได้นำไปตั้งพิธีฝนหลายครั้ง “ก็ว่าขลังดีวิเศษ”
 
ส่วนพระพุทธรูปขอฝนแต่ต้นกรุงนั้น รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างเปนรูปประทับนั่งขัดสมาธิอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น จนมารัชกาลปัจจุบันก็มีพระมหากรุณาให้สร้างไว้ในแผ่นดินอีกเพื่อพระราชทานความสวัสดีแก่ประชาชน ให้ได้รับผลอันพึงประสงค์จากเกษตรกรรมและเพื่อความอุดมสมบูรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย 
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเททองหล่อพระคันธารราษฎร์ รัชกาลปัจจุบัน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๒
 
จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญออกประดิษฐานเป็นประธานในพระราชพิธีพืชมงคล ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒
 
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญออกประดิษฐานเป็นประธานในพิธีมหามงคลนั้น เพื่อพสกนิกรทั้งหลายได้กราบสักการะเป็นสวัสดิมงคลแก่ชีวิตและเพื่อความอุดมสมบูรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย ในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนปีนั้น เป็นครั้งแรก
  
สำหรับหอพระคันธารราษฎร์ในยุครัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่มุมพระระเบียงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อยู่บนฐานไพทีเดียวกันกับพระมณฑปยอดปรางค์ซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกัน
 
โดยมีหอพระคันธารราษฎร์ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือและพระมณฑปยอดปรางค์ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างหอพระคันธารราษฎร์ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ซึ่งเปนพระปฏิมาสำคัญในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญและพิรุณศาสตร์ และให้สร้างพระมณฑปยอดปรางค์เพื่อประดิษฐานพระเจดีย์โบราณที่ทรงได้มาจากเมืองเหนือ
 
ภายในหอพระแบ่งเป็น ๒ ตอน ตอนหน้าเปนห้องโถงยาว ตอนในเปนห้องแปดเหลี่ยม ผนังด้านหลังเปนอัฒจันทร์ก่ออิฐถือปูน ๓ ชั้น ปัจจุบันประดิษฐานพระพุทธรูปปางขอฝนทั้งองค์ประทับนั่งเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และ องค์ประทับยืนซึ่งสร้างขึ้นภายหลัง รวมถึงเทวรูปต่างๆโดยเฉพาะพระพิรุณ และพญานาค ซึ่งจะเชิญมาใช้ตั้งในการพระราชพิธีพืชมงคลและพิรุณศาสตร์ทุกคราวไป