เรือนหลองข้าว

17 ส.ค. 2567 | 04:15 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2567 | 04:17 น.

เรือนหลองข้าว คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ชาวเมืองเหนือทำนาได้ข้าวแล้ว ยามเก็บเกี่ยวนวดฝัดจนสำเร็จเปนข้าวเปลือก ปวงเขาจะทยอยขนย้ายใส่ทะนานกระบุงโกย เอามาเก็บไว้ในหลองซึ่งก็คือ หอเก็บข้าวเปลือก อย่างว่า ยุ้ง ของภาคกลาง หรือว่า เล้า ของคนอีสาณ ฉะนั้น

 

เรือนหลองข้าว

 

หอเก็บข้าวเปลือกพรรค์นี้มีภูมิปัญญาสร้างสรรค์อย่างน่าประทับใจและมีบุคลิกน่านับถือ เริ่มจากเสาก่อน เสาของหลองข้าวใช้ไม้ซุงท่อนโตๆ วางบนหินก้อนใหญ่ หนีมดปลวกสัตว์แมลงทั่วไปที่เปนภัย(ต่อข้าว) มากับดิน เสาหลองจะสอบเข้าเสมอ เพื่อความมั่นคงทนลมทนพายุ ฝาผนังกลับทิศ ตีสนิทจากด้านในเพื่อเอาไว้เวลากวาดข้าวจะได้ไม่ติดตามซอกตามหลีบ บางหลองจะมีขีดสเกลไว้ที่เสา เพื่อบ่งปริมาณปริมาตรของข้าวที่เก็บสต็อกเข้า_ออก เอาไว้ด้วย หลังคายื่นยาวมีปีกกว้าง กันฝนสาดเข้ามาทำให้ข้าวเปลือกอันมีค่าติดชื้นโดนรา เกิดความเสียหาย หลายหลองมีระเบียงไว้รอบด้วย เวลาเอาเกวียนเทียบ หรือ ขนข้าวมากับม้าต่างช้างใช้ จะได้ไม่ต้องยกข้าวแบกข้าวกันให้เหนื่อยให้ยาก

หลองข้าวเปนเครื่องบ่งบอกฐานะเศรษฐีล้านนาด้วยหากเจ้าของมีที่นามาก ก็จะต้องมีหลองข้าวใหญ่ หลองข้าวปกติมึขนาด 6-8 เสา หลองเศรษฐีเรือนคำ ต้องระดับ 12 เสาหลักการของฮวงจุ้ยล้านนา บรรพชนผีฟ้าแถนหลวง ปู่ท่านญาครูผู้เฒ่า เขากำหนด

ให้หลองข้าวแยกออกมาจากตัวเรือนบ้านอาคารนอน ห่างสัก 10 เมตร ปลูกอยู่เยื้องด้านหน้าเรือน อันเปนจุดที่ผู้คนนอกบ้านสามารถเห็นได้ชัดเจนก็ด้วยเวลาขนข้าวมาตามถนนทางเกวียนจะได้นำส่งกันได้สะดวก

พ่อครูสนั่น ธรรมธิ เล่าถึง เกร็ดการปลูกหลองข้าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ให้ดูว่าเจ้าของหลองเปนลูกคนที่เท่าไรของพ่อแม่ กล่าวคือ

  •     ลูกคนแรก หลองเข้าอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเรือน
  •     ลูกคนที่สอง หลองเข้าอยู่ทิศตะวันออกของเรือน        
  •     ลูกคนที่สาม หลองเข้าอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเรือน
  •     ลูกคนที่สี่ หลองเข้าอยู่ทิศใต้ของเรือน
  •     ลูกคนที่ห้า หลองเข้าอยู่ทิศตะวันตกของเรือน
  •     ลูกคนที่หก หลองเข้าอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเรือน
  •     ลูกคนที่เจ็ด หลองเข้าอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเรือน
  •     ลูกคนที่แปด หลองเข้าอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเรือน
  •     ลูกคนที่เก้า หลองเข้าอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเรือน วนไปอย่างนี้

ส่วนเหตุที่เสาหลองมีขนาดใหญ่ก็เปนด้วยว่าเพื่อรองรับน้ำหนักของข้าวเปลือกนั่นเอง หลองข้าวไม่มีบันไดถาวร หากจะขึ้นไปเอาข้าวก็ใช้บันไดไม้ไผ่ (ภาษาเหนือเรียกเกิ๋น ภาษากลางโบราณก็คือเกริน) ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ พาดขึ้นไป

 

เรือนหลองข้าว

 

การสร้างหลองข้าวโดยไม่ให้มีบันไดถาวรก็เพื่อต้องการป้องกันสัตว์จำพวก นก หนู หมู ไก่ ไม่ให้ขึ้นไปกินข้าว ทั้งยังช่วยป้องกันสัตว์จำพวกคน ที่มาคอยดักลักลอบขโมยตักลักข้าว สร้างความเสียหายยิ่งกว่าสัตว์พูดไม่ได้ทั่วไป ยังงี้ไม่เรียกภูมิปัญญาจะเรียกอะไร?!?

ย้อนไปในวัน_เวลา แห่งปวงเขาชาวล้านนาผู้สามารถ improvise หยิบจับพับสานวัสดุท้องถิ่นพื้นบ้านมาใช้ประโยชน์ได้นั้น ยามเพิ่งก่อร่างสร้างตัวสร้างฐานะ คนหนุ่มจะใช้เสวียน_ไม้ไผ่สานฉาบด้วยดินขี้วัว ทำผนังหลองไปก่อน ต่อเมื่อมีฐานะมั่นคงขึ้น จึงจะเลื่อยหาไม้จริงมาเข้าลิ้นทำผนัง เสวียน นี้เปนคำเรียกงานจักสานขนาดใหญ่ โดยปกติมักทำเปนทรงกลมทรงโค้งไม่มีก้นและไม่มีฝา สานด้วยซีกไม้ไผ่ หน้าสามนิ้วมือ เสร็จการสานแล้ว ตัวเสวียนมักจะกว้างประมาณ 1- 2 เมตร ตามประโยชน์ใช้สอย เสวียนใช้ล้อมต้นไม้ก็ได้ ใช้เครื่องป้องกันดินขอบบ่อน้ำถล่มก็ได้ โดยสล่าชาวบ้านมักจะเริ่มสานเสวียนจากก้นบ่อจนสูงพ้นผิวดิน

เรื่องคนหนุ่มสานเสวียนนี้ เปนเรื่องนิทานตลกสอนใจของคนเวียงเหนือมานาน ค่าที่พวกคนหนุ่มมักขี้โอ่ไว้ท่า วางมาด ทั้งที่จริงไม่มีความรู้อะไรจริงจัง ตรงกับคำจีนเรียกว่า ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง บ่งนิยามความหมาย ยังไม่รู้วิชา และยังไม่มีที่ไป นิทานสานเสวียน เริ่มตรงที่ว่าไอ้หนุ่มได้เมียสาวแต่งงานเข้ามาอยู่บ้านพ่อตา (ตามกฎกติกาการสร้างครอบครัวในสังคมเกษตรกรรมบ้านเรานั้น ผู้ชายนับเปนแรงงานสำคัญจึงต้องแต่งเข้าบ้านผู้หญิง ต่างกับวัฒนธรรมอื่นที่ถือว่าผู้หญิงต้องแต่งเข้าบ้านผู้ชาย)

เรื่องตลกว่ามีลูกเขยมาอยู่กับเมียตอนแรกๆ ทำอะไรไม่ค่อยจะเป็น วันหนึ่งพ่อตาใช้ให้สานเสวียน ลูกเขยจะบอกว่าสานไม่เป็นก็อาย ความจริงก็เคยเห็นคนอื่นสานมาบ้างแต่ไม่เคยได้สนใจลงมือทำ ขอเงินแม่ตัวใช้ไปวันๆ55 จังหวะจะต้องแสดงฝีมืออวดเขาแล้วก็ต้องปกปิดความจริงเรื่องความไม่รู้อันนี้ให้ได้ ลงมือจักตอกเตรียมของเข้าสาน งานอุปกรณ์พร้อมแล้ว ก็ลงมือสานตั้งแต่กินข้าวงาย (ข้าวเช้า) จนใกล้จะกินข้าวตอน ( ข้าวเที่ยง) กว่าจะเสร็จ จนเสวียนสูงท่วมหัว ฝ่ายเมียก็เตรียมสำรับข้าวอยู่บนบ้าน ร้องเรียกตัวผัวให้ขึ้นไปกิน แต่ลูกเขยใหม่ของเราไม่รู้จะออกจากเสวียนไปได้อย่างไร เพราะไม่เคยสังเกตว่าคนอื่นสานแล้วเขาออกทางไหน!  หมกมุ่นสานเสวียนอยู่จนสูงท่วมหัว ไอ้ครั้นจะปีนขึ้นทางปากเสวียนก็ไม่ได้เพราะไม่มีอะไรพออาศัยปีน หักหาญเข้าก็จะที่สานมาถูกเหยียบพังหมด  ข้างอีเมียสาวก็ร้องเรียกกินข้าวอยู่นั่น คิดหาทางออกอย่างไรก็คิดไม่ออก จะตะโกนถามเมียก็จะเสียเหลี่ยม ทำเอาเหงื่อแตก  จังหวะพอดีมองลอดช่องตาสานออกมาข้างนอกเห็นน้องเมียวัยเด็กกำลังเล่นฝุ่นเล่นดินอยู่แถวนั้น จึงทำทีแกล้งถามน้องเมียว่า “ไอ้น้องเอ๊ย มาทายซิว่า พี่ชายจะออกจากเสวียนทางใดเอ้า”

 

เรือนหลองข้าว

 

น้องเมียก็แสดงความฉลาดกว่า ตอบขึ้นทันทีว่า “พี่ชายก็จะพึดออกทางลุ่มน่าก่า” - มุดออกทางก้น พระเอกขี้โม้ของเราก็สมอ้าง ว่า “น้องพี่ฉลาดนัก พี่ชายยอมแพ้ล่ะ” แล้วก็ยกเสวียนขึ้นนิดมุดตัวลอดออกมาได้ อันนี้ก็สอนใจว่า ทำอะไรอย่าเปนคนจับจดและขี้โม้ 55

กลับมาที่เรื่องหลองข้าว หลองข้าวเศรษฐี ไม่มุงหลังคาด้วยใบตองตึง หรือหญ้าคา แต่จะใช้กระเบื้องดินขอ หรือกระเบื้องไม้ชนิดอื่นๆ แทน ในยุคหลังมานี้หลองข้าวล้านนามีใต้ถุนสูง สูงกว่าใต้ถุนเรือนพักอาศัยเสียอีก เชื่อว่าเปนเพราะเน้นความโปร่งโล่งในการระบายความชื้นและป้องกันมอดปลวก และช่วยแก้ปัญหาภัยจากช้างบุก กล่าวคือช้างตกมันวิ่งลอดใต้ถุนได้ ไม่ปะทะอาคารให้เสียหาย

หลองข้าวคำ หรือ หลองข้าวเศรษฐีนั้นมีขนาดใหญ่ดังได้กล่าวแล้ว ตัวอาคารชั้นบนที่อยู่ภายในกรอบของแนวเสา มักแบ่งเปนสองห้อง ห้องใหญ่กว่าเปนห้องหลักเรียกว่า “หลองข้าวหลวง” เก็บข้าวเปลือกไว้สำหรับขายและบริโภคทั้งปี อีกห้องหนึ่งเปนห้องเล็ก เรียกว่า “หลองข้าวม่อ” หรือ “หลองพราง” เปนที่เก็บข้าวเปลือกจากหลองข้าวหลวงที่ “ผ่อง” ตักออกมาสำรองใส่ไว้บางส่วน สำหรับการใช้ยามฉุกเฉิน ที่เปนเช่นนี้เพราะเหล่าประดามหาเศรษฐีล้านนามีความเชื่อถือยึดโยงกับวัฒนธรรมความเชื่อทางโชคลาง การนำข้าวเข้าเก็บหรือตักออกมาใช้จะต้องดูฤกษ์ยามวันที่เหมาะสม เมื่อขนข้าวเข้าหลองแล้วจะไม่เอาออกมาพร่ำเพื่อ จึงมีห้องพรางไว้สต็อกปริมาณตามสมควรจะหยิบใช้เมื่อไรก็ไม่ต้องมาดูฤกษ์กันอีกให้ลำบาก

ความเชื่อถือชนิดนี้มีอยู่ทั่วไป ทั้งยามจะออกรบทัพจับศึก จะเลือกมีดหยิบเลือกดาบก็จะต้องเสี่ยงกับวัดขนาดตาม

มือจับ กล่าว โศลกคำกลอนไล่ไป เหมือนฝรั่งสาวสาวนั่งเด็ดกลีบดอกกุหลาบทิ้งทีละกลีบเพื่ออยากรู้ว่าผู้ชายที่ตัวหมายปองนั้น เขามีใจให้หรือเปล่า

เด็ดกลีบแรกก็ว่า

‘He loves me.’

เด็ดกลีบที่สองก็ว่า

‘He loves me, not.’

เด็ดกลีบที่สามก็วนใหม่ว่า

‘He loves me.’

เด็ดกลีบที่สี่ก็ว่า

‘He loves me, not.’

วนไปอย่างนี้จนกุหลาบนั้นหมดกลีบ พอกลีบสุดท้ายได้คำว่า ‘He loves me, not.’ ก็ร้องไห้ฟูมฟาย เสียใจว่าเขาไม่มีใจให้ 55

กรณีหลองข้าวนี้ เขาจะแขวนแผ่นไม้ ปฏิทินฤกษ์ยามวันดีหรือร้ายในการนำข้าวเข้า-ออก เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองข้าว ตามความเชื่อว่าวันร้าย คือ ผีจะมาช่วยกิน ๑ ตัว ๒ ตัว หรือ ๓ ตัว ส่วนวันดีจะไม่มีผีมารบกวน เรียกว่า “ปักขะตินผีกิ๋น” จะเอาข้าวออกข้าวเข้าต้องนับวันตามปฏิทินกำหนดโชคนี่ด้วย

ส่วนบริเวณโดยรอบห้องเก็บข้าวเปลือกทั้ง ๒ นี้ห้อง จะยื่นพื้นออกไปนอกแนวเสาทำนองว่าเปนระเบียงทั้ง ๒ ด้าน ใช้วางอุปกรณ์การเก็บเกี่ยวและคัดเลือกและจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้สำหรับปีต่อไป ขอบระเบียงอาจเปิดโล่ง หรือมีผนังไม้โดยรอบอีกชั้นก็ได้ ลักษณะศิลปะมีทั้งแบบทึบหรือโปร่งเปนระแนง หรือไม้ฉลุตกแต่งอย่างสวยงาม ส่วนนี้ไม่มีแบบแผนตายตัว อนึ่งว่าระเบียงที่มีชายคายื่นคลุมโดยรอบนี้ ช่วยกันฝนไม่ให้เข้าถึงห้องเก็บข้าวเปลือกได้อีกโสตหนึ่ง รูปนี้ศิลปินแห่งชาติ ยอดสถาปนิก A49 อย่างนิธิ สถาปิตานนท์ วาดลายเส้นเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ซึมทราบความประทับใจในหลองข้าว

ปัจจุบันแม้ว่าความจำเป็นในการปลูกหลองข้าวไว้ใช้เองของแต่ละบ้านเรือนจะลดน้อยลง แต่ยังพบว่ามีหลองข้าวใช้อยู่ทั่วไปในชนบท ทั้งที่ราบลุ่มและบนภูเขา

ส่วนในเมืองนั้นผู้คนที่หลงใหลในศิลปะ หลองข้าว พากันซื้อมาดัดแปลงเปนเรือนพัก อย่างว่าตูบน้อย ใช้เปนหอนั่ง หอนอน สวยงามน่ารักน่าใคร่ ที่ สะเมิงนั้น ดัดแปลงมาทำโรงแรม รายล้อมด้วยข้าวสีทองในนา แสนจะงามงด แก้ปัญหาการไม่มีบันไดหลอง โดยการสร้างอาคารบรรจุบันไดแยกต่างหากเปนส่วนต่อเนื่องจากหลองข้าว และถือโอกาสนี้บรรจุห้องน้ำ ห้องส้วมเอาไว้ด้วย ก็ต้องนับถือเขาว่าช่างออกแบบได้อย่างมีความคิดสร้างสรรค์ ร้านอาหารบางแห่ง ที่สารภี รวมเอาหลองข้าวสวยๆมาไว้ แล้วบริการอาหารพื้นเมือง เอร็ดอร่อยนานาประการ ใช้นามว่า ร้าน หลองข้าวลำ (ลำ-อร่อย)

ส่วนตำรวจผู้ใหญ่อย่าง พ.ต.อ. เกรียงศักดิ์ กัลยาวัฒนเจริญ ให้สถาปนิกอย่าง ผดุง ปาลี ยกมาจัดวางเปนเรือนรับรอง สวยงามน่าอยู่ขึ้นมาทันที อย่างไรก็ดี ความเชื่อทางคติล้านนาท่านห้ามหนักหนามิให้เอาหลองข้าวมาทำเรือนนอน ที่เปนเช่นนี้ก็ด้วยว่า ข้าวเปลือกนั่นมีละอองข้าว อย่างที่เราเรียกว่าคาย หรือ ระคายข้าว ผิวหนังอ่อนๆไปโดนเข้าจะคันคะเยอได้ การจะนำหลองข้าวมาทำเรือนต้องทำการ ‘ถอน’ เสียก่อนซึ่ง พิษคายข้าวอันนี้