Cher Ami พิราบเพื่อนรัก

21 ก.ย. 2567 | 08:00 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2567 | 08:36 น.

Cher Ami พิราบเพื่อนรัก คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เช้านี้เพิ่งจะย่ำรุ่งตีห้า อีประดานกพิราบก็มากุกๆกักๆ อยู่ชายคาบ้านเขาใหญ่ สร้างความรำคาญทำให้ข่มตาหลับต่อไม่ลง จำจะต้องลุกฝ่าความเย็นสบายแห่งบรรยากาศ มากดแก็ปปืนเข้าสัก_ตู้ม ให้กระเจิงกันไปที หาไม่มีประโยชน์อันใด พิราบเหล่านี้ไปเที่ยววัดวาอาราม เจ้ากู (พระ) ก็บ่นว่าคนสมัยนี้มาบวชแค่ 7 วัน ฉันไม่ให้นะ _น้อยไปไม่คุ้มค่าจ้างล้างโบสถ์

ถามพระเดชพระคุณว่ามันจะสักเท่าไรกันเชียว_ล้างโบสถ์ ท่านว่ามันหาใช่โยมขยันแล้วขึ้นไปปัดๆถูๆโบสถ์เสียเมื่อไร สมัยนี้มันต้องจ้างรถดับเพลิงมาฉีดน้ำล้าง! ขี้นกพิราบเกาะโบสถ์เลอะเทอะเลอะเทือก

 

Cher Ami

 

เช่นนี้แล้วต้องบวชอย่างน้อยเดือนนึง ถึงจะได้!55 ก็ไม่สู้พวกพิราบป่าของแท้เขาบ้างซี ที่ประดาขี้ของปวงมันยังมีประโยชน์บ้าง อย่างที่เมืองเฟ็ซ ในมอร็อคโค สู้อุตส่าห์เอามาฟอกหนังทำรองเท้าถวายพระสันตปาปา ค่าที่เอนไซม์ขี้พิราบป่ามีคุณค่าที่ย่อยหนังได้นุ่มดี เขียนเล่าสู่ท่านฟังแล้วในตอน ‘The devil wears Prada พระสันตปาปาทรง red shoes’

นาทีนี้ก็ต้องชงกาแฟโคลัมเบียเปรี้ยวๆปากมากินสักกะถ้วย แล้วค่อยตรึกนึกหาคุณความดีของนกพิราบมาสรรเสริญกันบ้าง ในยุคที่การสื่อสารยังโบราณอยู่นั้น คนโบราณก็มีวิธีหลอกใช้นกพิราบ ด้วยท่านสังเกตว่านกชนิดนี้มีทักษะความจำดี พาไปไหนๆด้วยพอปล่อยก็กลับบ้านเองได้

ซึ่งจะเปนด้วยทักษะ ด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างไรก็แล้วแต่เถิด คนยุคอียิปต์ ยุคจักรพรรดิจีน ล้วนฝึกล้วนหัดให้นกพิราบมีประโยชน์ใช้งานได้ ส่วนทางอิหร่านเปอร์เซียใช้ประโยชน์เหมือนกัน คือ ใช้ทำกับข้าว ชื่อเมนูว่า_พิราบยัดไส้ข้าว อร่อยไม่เบาหรอกอยู่ในกรุงเตหะราน

 

Cher Ami พิราบเพื่อนรัก

 

อีทีนี้วิธีการนั้นเคล็ดลับจริงๆของท่านผู้ใหญ่แถวสามเสนนี่ เวลานั้นท่านเลี้ยงพิราบไว้แข่งเล่น กล่าวคือ คู่แข่งจะขับรถกันไปชานเมืองหรือต่างจังหวัดโดยเอานกไปด้วย ถึงที่แล้วก็เปิดกรงปล่อย นกพิราบก็โผผินบินขึ้นฟ้า ที่ข้อขามีแหวนทองเหลืองอยู่อัน รอให้มันบินกลับรัง (บ้าน) ทางบ้านนั่นจะมีเครื่องบันทึกทำนองนาฬิกาพกอยู่ พอนกมาถึง ก็แกะห่วง เอาห่วงยัดลงร่องนาฬิกาพิเศษนี้ นาฬิกาก็หยุดเดิน_จับเวลาได้ นกใครถึงไวกว่าก็คนนั้นชนะ เดิมพันเท่าไรๆก็ว่ากันตามระเบียบ

ต่อข้อถามชนิดที่ว่านกพิราบนี้กลับมาบ้านได้อย่างไร ท่านผู้ใหญ่กรุณาตอบให้ว่า ก็เพราะอีเม็ดถั่วเขียวที่ตาให้มันกินนั่นตาชุบน้ำฝิ่นเคลือบไว้เสียก่อน นกมันอยากยา มันก็ต้องกลับมาหาแหล่งเปนธรรมดา !! อ๊ะอ๊าห์ ก็บอกแล้วว่า cat out of the box!!!

อีทีนี้เมื่อย้อนไปในวัน_เวลา พิราบไม่ป่าลักษณะนี้ก็เคยมีคุณูปการ ก่อกำเนิดกิจการโด่งดังในวงการข่าวสาร สื่อสารมวลชนแห่งเรานี่เหมือนกัน ดูอย่าง รอยเตอร์ สำนักข่าวผู้โด่งดังระดับโลกนั่นปะไร

 

พอล จูเลียส รอยเตอร์

พอล จูเลียส รอยเตอร์ ถือกำเนิดเกิดในครอบครัวยิว เมื่อปี 1816  ณ เมืองคาสเซล ในอาณาจักรเยอรมัน อายุได้ 10 ขวบ บิดาก็ถึงแก่กรรม รอยเตอร์จึงไปอยู่กับลุงที่ทำงานธนาคาร เพื่อนของลุงเปนศาสตราจารย์ ทำงานวิจัยประดิษฐ์คิดค้นระบบส่งสาส์นอย่างที่เรียกว่า โทรเลขสมัยนี้  รอยเตอร์ก็สนอกสนใจระบบส่งสาส์นนี้มากๆ

ต่อมาแกแต่งงานกับลูกสาวนายธนาคาร คุณพ่อตาให้ยืมเงินไปตั้งตัว รอยเตอร์เอาไปลงหุ้นกับเพื่อนทำร้านหนังสือ

รอยเตอร์ก็หมั่นสังเกตว่าลูกค้าหนังสืออย่างพวกนายธนาคาร และนักเศรษฐกิจ ความจำ เป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบข่าวสารอะไรๆก่อนคนอื่นเพื่อหาโอกาสที่จะทำเงินให้ได้มากๆกว่าใครเขา เห็นโอกาสดังนี้รอยเตอร์ก็คิดสะระตะ ว่าถ้าสามารถหาข่าวได้ล่วงหน้า ประดาพวกนักธุรกิจคงจะยินดีปรีดา เเละจะต้องได้รับเงินเปนเครื่องตอบแทนอย่างแน่นอน ว่าเเล้วก็ขายหุ้นในร้านขายหนังสือ เเละไปตั้งสำนักงานที่ AIX-LA CHAPELLE (Aachen) ในฝรั่งเศส แล้ว

เเละจัดการซื้อนกพิราบมา ๒๐ คู่

จังหวะนี้รอยเตอร์ได้เพื่อนคู่หูคนหนึ่ง มีอาชีพเปนนายหน้า ค้าขายสินค้าอยู่ที่เมืองท่าบรัสเซลล์ในเบลเยี่ยม ทุก ๆ วัน รอยเตอร์จะนำนกพิราบจำนวนหนึ่งใส่ไปกับรถเมล์ ที่จะไปบรัสเซลล์ จ่าหน้าถึงเพื่อนของเรา เมื่อนกไปถึง เพื่อนเขาก็เอารายงานสรุปความเคลื่อนไหวราคาสินค้าหน้าท่าผูกใส่ถุงทำด้วยไหมแล้วปล่อยนกบินกลับมา

อีก ๑ ช.ม. ต่อมา

นกพิราบจะกลับถึงบ้านก่อนรถเมล์เที่ยวกลับ รอยเตอร์และกรรยาก็รีบปลดเอกสารเหล่านี้ ออก คัดลอกเปนหลายสำนวนส่งไปขายยังนักธุรกิจซึ่งต้องการข้อมูลไปเก็งราคาต่อ ถือเปนจุดเริ่มต้นธุรกิจค้าข่าวของรอยเตอร์ด้วยนกพิราบ!

ในเวลานั้นอังกฤษนับเปนอีกประเทศที่เด่นดัง เมื่อพิจารณากันในด้านการค้าและเปนประเทศเดียวที่ นโปเลียน ไม่ได้เข้าไปเหยียบย่ำทำสงคราม อังกฤษ ได้คิดการทำเหมืองถ่านหิน สร้างโรงาน สร้างรถไฟก่อนประเทศอื่น

ดังนั้นเมื่อประเทศอื่น ๆ คิดจะเอาอย่างอังกฤษในกิจการเหล่านี้บ้าง ประเทศต่างๆนั้น จึงจ้างให้ทำและส่งวัตถุดิบให้อังกฤษ อังกฤษจึงเลยกลายเปนโรงงานสำหรับโลก กลายเป็นเมืองแก้วเมืองการค้าที่สำคัญมิใช่แต่ของยุโรปเท่านั้นเเต่เปนของโลกเลยทีเดียว

เมื่อรอยเตอร์ใด้ทราบว่า มีการวางสายโทรเลขจากลอนดอนไปปารีสเชื่อมเมืองหลวงของอังกฤษให้ติดต่อกับเมืองต่าง ๆ ในยุโรปต่างๆได้ เขาก็เเน่ใจทันทีว่า ไปหากินในอังกฤษดีกว่า

 

Royal Exchange Building

จึงขายสำนักงานในฝรั่งเศส ไปเปิดกิจการที่ Royal Exchange Building ในลอนดอน สร้างธุรกิจการข่าวจนยิ่งใหญ่ต่อมา

ในยุคนี้ รอยเตอร์ได้จ้างตัวแทนไว้มากมายตามที่ต่างๆ เพื่อจะได้ส่งข่าวจากศูนย์กลางการค้าแต่ละจุดในทวีปยุโรปมาให้ นอกจากในยุโรปรอยเตอร์ยังมีตัวเเทนในอินเดีย ตะวันออกกลาง เอเชียอีก และเริ่มคิดถึงว่านอกไปจากข่าวการค้า ข่าวทั่วไปก็น่าจะขายได้เพราะมีคนนิยมอ่านหนังสือพิมพ์กันมาก ก็คิดว่าเจ้าหนังสือพิมพ์คงจะพอใจที่ได้ข่าวทั่วไป ที่เกิดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ไม่ต้องลำบากเเเก่การรวบรวม ว่าแล้วก็ สั่งการไปยังเอเย่นต์ต่างประเทศของเขาให้หาส่งข่าวทั่วไปมาด้วย ได้มารอยเตอร์ก็ไปติดต่อกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ซึ่งบ้างก็ได้รับการตอบปฏิเสธไม่ยอมรับข่าวของเขาอย่างนุ่มนวล แต่รอยเตอร์ก็มิได้ลดละความพยายามยังคงส่งข่าวไปให้สำนักพิมพ์ทุกแห่งในกรุงลอนดอนให้ตัดสินใจเอาเองว่า จะซื้อข่าวโทรเลขจากเขาหรือไม่จนบางสำนักก็ซื้อ บางสำนักก็ไม่ซื้อ

รอยเตอร์มามีชื่อเสียงโด่งดังเปนพลุแตกก็ตอนที่เขาสามารถส่งโทรเลขคำประกาศสงครามกับออสเตรียของกษัตริย์นโปเลียนที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ในทันทีที่กษัตริย์มีพระราชดำรัสในรัฐสภา

เมื่อสงครามระหว่างฝรั่งเศส และ ออสเตรียระเบิดขึ้น รอยเตอร์ส่งผู้สื่อข่าวสงคราม (war correspondent) ไปยังฝรั่งเศส ชาร์ดิเนีย ออสเตรีย เพื่อที่เขาจะได้ข่าวพร้อมกันทั้ง 3 กระแส ทำให้ผู้เสพข่าวสามารถวิเคราะห์สถานการณ์โดยสอบทานกันได้อย่างเเม่นยำขึ้น พร้อมทั้งขยายกิจการไปอาณานิคมต่างๆทั่วโลก ชีวิตของรอยเตอร์จบลงสวยงามโอนสัญชาติเปนอังกฤษ ได้ยศเปนบารอนและส่งต่อกิจการที่มีชื่อเสียงลือลั่นมาจนบัดนี้

กลับมาที่นกพิราบสงคราม ซึ่งควรจะได้นามว่า war correspondent เหมือนกัน แต่เปน war correspondent ระดับวีรบุรุษ!

หากท่านผู้อ่านมีโอกาสแวะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนี่ยน ในวอชิงตัน ที่แผนกสงครามก็จะพบร่างสต๊าฟแช่นิ่งของเจ้าพิราบสำคัญตัวนี้ เฌอ อามีร์ ซึ่งในภาษาฝรั่งเศสแปลว่าเพื่อนรัก ยืนทระนงองอาจอยู่

เหตุมีว่าเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เริ่มต้นขึ้นช่วงปี 1914และกินเวลาต่อเนื่องยาวนานไป 4 ปี 3 เดือน ถือเปนสงครามครั้งใหญ่ที่สุด และสร้างความเสียหายในวงกว้างที่สุดอีกครั้งหนึ่งของโลกมีผู้เสียชีวิตมากมหาศาลหลายล้านคน

 

Cher Ami

Cher Ami เปนพิราบฝรั่งเศสที่ ได้รับการฝึกฝนโดยนักเลี้ยงนกสื่อสารอเมริกันทำภารกิจการส่งข้อความเพื่อขอความช่วยเหลือ ในสมรภูมิการรบ ‘รุกมิวส์-อาร์กอน’ ในเดือนตุลาคม ปี 1918 นกเพื่อนรักนี้ใช้เวลาหลายเดือนประจำการอยู่ในแนวหน้าส่งข้อความได้ทั้งหมด 12 ข้อความ

การส่งข้อความครั้งสุดท้ายที่สำคัญที่สุดเมื่อทหารประมาณ 550 นายจากกองพล 77 ที่นำโดยพันตรี Charles White Whittlesey พบว่าพวกตนติดอยู่ในวงล้อมในที่ลุ่มเล็ก ๆด้านแนวหลังของฝ่ายข้าศึกในป่า อาร์กอนน ทหารในกองทัพต้องทนทุกข์ทรมานอย่างหนัก เสบียง/กระสุนก็ไม่พอ จะหมดรอมร่อ

สูญเสียกำลังหลักไปมาก เพราะนอกจากถูกปิดล้อมจากทหารเยอรมันแล้วยังโดนพวกเดียวกันเองระดมยิงใส่ จากความเข้าใจผิดที่ไปอยู่ในตำแหน่งตกวงล้อม ผบ.พันส่งทหารอาสาตีฝ่าวงล้อมออกไปก็ถูกยิงทิ้ง/ถูกทหารเยอรมันจับตัวได้แก้เกมส์ใหม่โดยส่งสารผ่านนกพิราบ นกก็มาถูกยิงทิ้งอีกโดยหน่วยแม่นปืนข้าศึกจนมาถึงเวรส่งสารของเจ้านกเพื่อนรักตัวนี้

ทันทีที่ Cher Ami บินขึ้นไปก็ถูกทหารเยอรมันระดมยิง นกเพื่อนรักก็พยายามบินฝ่าดงกระสุนที่ระดมยิงว่อนอากาศจนแทบหมด ถูกยิงทะลุอกไปโดนตา ทำให้ตาบอดไปข้างหนึ่ง ขาขวาถูกยิงขาดเหลือแต่เอ็น แต่ยังฝืนทุรนส่งสาร_สาส์นขอความช่วยเหลือได้สำเร็จทันเวลา สัตวบาลรักษาก็ประคองชีพมาได้อีกหนึ่งปีจึงตายไป

 

เครื่องราชอิสริยาภรณ์กางเขนดาบ ประดับช่อชัยพฤกษ์

ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสประกาศคุณความดีของพิราบเพื่อนรักตัวนี้ และมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์กางเขนดาบ ประดับช่อชัยพฤกษ์ ชั้นสูงที่สุดเปนเกียรติยศให้ ก็ถือว่าเปนเรื่องน่ารักน่าเศร้าได้ประมาณหนึ่ง

เพื่อให้จบสมบูรณ์เกี่ยวแก่นกพิราบ ท่านใดที่คันไม้คันมือ อยากจะยิง/ล่านกพิราบ กีฬาฝรั่งผู้ดีก็มีมาแต่สมัยก่อนแล้วคือ กีฬายิงพิราบดินเหนียว กล่าวคือว่า เอาดินเหนียวมาปั้นแผ่นจำลองว่าเปนพิราบแล้วโยนขึ้น มือปืนต้องยิงเสียให้ทันก่อนตกพื้น

ภายหลังพัฒนาจากคนโยน มาเปนเครื่องดีด และพัฒนาตัวที่ไปสมมติว่านกพิราบให้เปนจานกลมแบนมีขนาดและสีแตกต่างกันไป นิยมยิงด้วยลูกซองแฝด และหลังมานี้บรรจุเปนกีฬาโอลิมปิกเสียด้วยสำหรับการยิงปืนยิงเป้าที่ว่านี่