พนมรุ้งไม่ได้มีแค่ทับหลังนารายณ์ฯ

28 ก.ย. 2567 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2567 | 06:14 น.

พนมรุ้งไม่ได้มีแค่ทับหลังนารายณ์ฯ คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ทับหลัง ก็ชื่อบอกแล้วว่าเปนการทับอยู่บนหลัง ทีนี่ปัญหาก็มีว่า แล้วมันหลังอะไรล่ะที่ทับอยู่?

กรมศิลปากรท่านเฉลยว่าการทับนี่คือทับอยู่หลังวงกบกรอบประตู ซึ่งสมัยนี้วิวัฒนาการทางภาษาเปลี่ยนแปรไปคำว่า ‘หลัง’ อย่างที่พูดกันมาแต่ก่อนว่า ‘หลังตู้’ คนรุ่นใหม่จะเข้าใจว่าอยู่ ‘ข้างหลัง’-behind ตู้ ค้นหาของตามคำบอกกันให้ควั่ก แต่คนรุ่นเดิม จะเข้าใจว่า อยู่บนตู้นั่นแหละ แต่ไม่ใช่อยู่ในตู้ เกิดเปนข้อพิพาททางวัยเล็กๆน้อยๆ

 

พนมรุ้งไม่ได้มีแค่ทับหลังนารายณ์ฯ

 

อีทีนี้ เพื่อให้ชัดเจนลงไป ก็ต้องขยายว่าคานทับหลัง คือ การเรียกแท่งหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน ตั้งอยู่ด้านบนหรือหลังของกรอบวงกบประตู ของปราสาทขอมที่ทำด้วยหิน ทับหลังนี้มีลักษณะค่อนข้างหนาเพราะต้องทำหน้าที่เปนคานรับน้ำหนักของหน้าบัน/บรรพ (หน้าจั่วด้านบน) ที่อยู่สูงขึ้นไปอีกที

คราวเมื่อสามสิบปีก่อน ทั้ง แอ๊ด คาราบาว ทั้งกระทรวงต่างประเทศ ฟังเหตุผลต้นเรื่อง จากหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล แล้ว ร่วมกับท่านเปนแกนนำทวงคืนทับหลังสวยงามชิ้นหนึ่ง ซึ่งอีท่าไหนไม่ทราบ ไปปรากฏตัวอยู่ที่หอแสดงศิลปะ กลางนครชิแคโก้ สหรัฐอเมริกา โดยไม่น่าจะถูกต้อง

ทับหลังนั้นมีชื่อว่า ทับหลัง (รูป) นารายณ์บรรทมสินธุ์ แห่งปราสาทพนมรุ้ง เมืองบุรีรัมย์ ลักษณาการเปนรูปพระนารายณ์นอนบรรทมตะแคงขวาเหนือพญาอนันตนาคราช ซึ่งทอดตัวอยู่เหนือตัวมกรอีกทีหนึ่ง ท่ามกลางเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) มีก้านดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภี(สะดือ) มีพระพรหมประทับอยู่เหนือดอกบัวนั้น พระนารายณ์ทรงถือคฑา สังข์ และจักรไว้ในพระหัตถ์หน้าซ้าย พระหัตถ์หลังซ้ายและพระหัตถ์หลังขวาตามลำดับ  ส่วนพระหัตถ์หน้าขวา รอบรับพระเศียรของพระองค์เอง แทนที่จะถือตรีตามปกติ ทรงมงกุฎรูปกรวยกุณฑล กรองศอ และทรงผ้าจีบริ้ว มีชายผ้ารูปหางปลาซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น ด้านหน้าคาดด้วยสายรัดพระองค์ มีอุบะขนาดสั้นห้อยประดับ มีพระลักษมีพระชายาประทับนั้นอยู่ตรงปลายพระบาท

อันนี้ก็ต้องขอเรียนว่าแท้จริงแล้วเปนประติมากรรมแสดงเรื่องราวต่อเนื่องมาจากบนหน้าบัน ซึ่งสลักภาพพระศิวนาฏราชหรือพระศิวะทรงฟ้อนรำอันมีนัยยะอีกด้านถึงการทำลายล้างจักรวาฬเก่าๆให้จบสิ้นลง ตามหน้าที่ของมหาเทพพระองค์นี้

เมื่อทำลายของเก่าแล้วก็ ตามปกรณัมว่าด้วยการกำเนิดจักรวาฬใหม่ตามคติขอม ก็ว่าต้องมีผู้สร้าง เรื่องจึงกล่าวถึงว่าขณะเมื่อพระนารายณ์บรรทมหลับอยู่เหนือพญาอนันตนาคราชกลางเกษียรสมุทรนั้นก็ให้บังเกิดดอกบัวผุดออกมาจากสะดือของท่าน ภายในดอกบัวคือพระพรหม ผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งในจักรวาฬ ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 

พนมรุ้งไม่ได้มีแค่ทับหลังนารายณ์ฯ

 

จังหวะว่าบังเอิญระหว่างทำรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค 2 พ.ศ. 2503- 2504 ข้าราชการกรมศิลป์ได้ถ่ายภาพประกอบบันทึกภาคสนามไว้ มีภาพทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ขณะเมื่อยังตกหล่นอยู่กับพื้น หลังจากตัวปราสาทพังทลายลง แตกเปนสองส่วน ชิ้นหนึ่งใหญ่ อีกชิ้นหนึ่งเล็ก ชิ้นเล็กตามจับได้ก่อนว่าวงการของเก่าเอามาตั้งขายอยู่ที่ย่านราชประสงค์ ชิ้นใหญ่ใช้เวลาอีกหลายปีไปเจอที่ชิแคโก้ ดังได้กล่าวแล้ว

อีทีนี้เมื่อมาถึงว่าปกรนัมขอมนั้น ถ้าจะดูกันให้เพลินก็ต้องล้วงไปลึกถึงตัวปราสาทด้วย พวกกลุ่มศาสนาโบราณท่านสังเกตและให้การเคารพนับถือในธรรมชาติ ซึ่งกรณีศึกษาปราสาทพนมรุ้งนี้ จะขอกล่าวถึงธรรมชาติ 2 ประการ กล่าวคือ องค์กำเนิด หรือ ลึงค์ ส่วนหนึ่ง และแสงกำเนิด หรือ พระอาทิตย์ อีกส่วนหนึ่ง

เหตุที่ปวงเขานับถือองค์กำเนิดได้กล่าวไว้แล้วในเรื่อง ‘ Dick , Dickhead ได้ทั้งด่า ได้ทั้งนับถือ’ ฉะนั้นในที่นี้จะขอกล่าวถึงการนับถือในแสงต่อ เอ้า_ทำไมแสงจะไม่น่านับถือเล่า?  ก็คนเราลงไปปลูกถั่วเขียวในตู้มืดดูที ชะรอยจะได้แต่ถั่วงอก จะให้ผลิตดอกออกใบผลเปนต้นใหญ่ถั่วเขียวมีเมล็ดเต็มฝักออกลึกออกหลานหาได้ไม่ เพราะตัวใบนั้นต้องอาศัยกระบวนการโฟโตซินเทสิส สังเคราะห์แสงอีกส่วนหนึ่งจึงจะเจริญงอกงามได้

ในเวลาเดียวกันหากว่าดวงตาเปนหน้าต่างให้มนุษย์มองเห็นเพื่อเกิดปัญญาแล้วไซร้ คนมีตาแต่ว่าไม่มีแสงจะไปมองอะไรเห็นได้ แค่ปลาพลวงมันอยู่ในถ้ำมืดมันยังตาบอดไร้ลูกตาไปตามหลักชีววิทยา ที่ท่านว่าอวัยวะอะไรไม่ใช้ธรรมชาติทำนจะให้มันสูญไปเสีย

 

พนมรุ้งไม่ได้มีแค่ทับหลังนารายณ์ฯ

 

ข้อนี้คือพระคุณของแสง ทีนี้ใครเปนผู้ให้แสง? ก็คงตอบว่าพระอาทิตย์สิเปนแหล่งกำเนิดแสง ถ้ารู้อย่างนี้แล้วในฐานะพระอาทิตย์ผู้ให้คุณ มนุษย์ผู้มีกตัญญตาจะไม่นอบน้อมบูชาได้หรือ?

ทีนี้ลองมาดูว่าศาสนาโบราณอื่นอย่างเชลติก เขาให้ความนับถือในสุริยะพระอาทิตย์บ้างไหม ก็จะเห็นรูปสลักหินอยู่ทั่วไปใส่ใบหน้าพระอาทิตย์เข้าไปเสียด้วย ศาสนาไม่โบราณอย่างคริสต์ก็ขอให้ดูเครื่องสังฆะกกุธภัณฑ์ของสมเด็จพระสันตปาปาท่าน ตามรูปที่นำมาประกอบนี้ ว่ามีแต่รังสีพระอาทิตย์ล้อมอยู่

กลับมาถึงว่าทางไศวะนิกายฝ่ายพราหมณ์นับถือพระศิวะนั้นนิยมบูชาศิวลึงค์ ในฐานะองค์กำเนิด ถ้าถอดรหัสดูก็จะพบความแตกต่างของศิวลึงค์แต่ละแบบเข้าไปอีก บ้างรองด้วยฐานแปดเหลี่ยม แล้วรองด้วยสี่เหลี่ยมอีกที บ้างรองด้วยฐานโยนี อันนี้ท่านผู้สนใจสามารถศึกษาต่อได้เอง

คำถามต่อมามีว่า ถ้า ศิวลึงค์ในฐานะองค์กำเนิดของสรรพสิ่ง ได้พบกันกับพลังแห่งแสงแดดดวงอาทิตย์ในฐานะลำแสงสว่างที่ทรงคุณมหาศาลแก่โลกจะเปนอย่างไร? ก็กลายเปนต้นกำเนิดพลังทวีคูณน่ะซี!

ปราสาทพนมรุ้ง (พนม-เขา/ รุ้ง-ใหญ่) นี้เหล่าสถาปนิกโบราณจัดสร้างโดยกำหนดให้ว่าเมื่อถึงวัน equinox แล้วแสงอาทิตย์จะต้องสาดส่องเปนลำเข้ามากระทบศิวลึงค์ศักดิสิทธิในปราสาทโดยลำแสงจะต้องผ่านลอดช่องประตูหินทั้ง 15 ตรงแหนว เปนทางยาว 75 เมตร ไปอาบศิวลึงค์นัยยะว่าให้พลังงานลึกลับแห่งธรรมชาติ สะท้อนซึมซับกันไปมาให้มันมลังเมลือง!!

อันว่าเขาใหญ่พนมรุ้งนี้ ผู้อำนวยการ สร้างเปนพระเจ้าขอมท้องถิ่นชื่อ นเรนทราทิตย์ ในราวคริสตศตวรรษที่ 12 ตรงกับช่วงเวลาที่อาณาจักรขอมกำลังรุ่งเรืองอย่างมาก ข้างพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 ผู้อำนวยการสร้างปราสาทนครวัด ท่านก็ชื่อพระอาทิตย์กันทั้งคู่ เจ้าขอมจะบูชานับถืออะไร_ชื่อนามของท่านเปนตอบในตัวเองแล้ว

คราวนี้ก็มาดูกันว่า พระอาทิตย์จะสาดแสงตรงช่องประตูทั้งหมด 15 ช่อง นี่ตอนไหน? ไม่แน่ใจก็อย่าเพิ่งไปเชื่อโซเชียลว่าจะมาตอนวันขึ้น15 ค่ำ - อันนั่นมันปฏิทินจันทรคติสำหรับคนนิยมพระจันทร์ เช่นชาวเรือจับปลา

อย่าเพิ่งเอามาปนกับผู้นิยมนับถือพระอาทิตย์_สุริยคติ 55 ทางฝ่ายสุริยคติวางระบบไว้ว่า เขาจะมาวันสงกรานต์ เว้นไว้แต่วันสงกรานต์จะเผอิญขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งหมื่นปีจะมีสักครั้ง

ทีนี้ว่าสงกรานต์คืออะไร_ฝรั่งทั่วไปหาแปลเอาตามสะดวกว่า-water festival 555 หามิได้! มันเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนออกจาก “ราศีมีน” (Zodiac Pisces) เข้าสู่ “ราศีเมษ” (Zodiac Aries) ตะหาก เปนวันที่ต้อนรับหน้าร้อนวันต้อนรับพระอาทิตย์-พระอาทิตย์ผู้ทรงคุณ ยังไงล่า!!

 

พนมรุ้งไม่ได้มีแค่ทับหลังนารายณ์ฯ

 

ทีนี้ความพิเศษของพนมรุ้งก็ยังมีอีก หากจะมีผู้รู้ท่านตอบว่า แหม่ ปราสาทหินไหนๆก็มีปรากฏการณ์รับแสงอาทิตย์ฉายสาดชาร์จพลังศิวลีงค์กันทั้งนั้นแหละ ชั่วแต่ว่าพนมรุ้งเปนปราสาทเดียวที่ยืนยันปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ว่าแกนโลกมันแกว่ง! ข้อมูลทางดาราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องปราสาทหินจำนวนมากทั้งในไทยและกัมพูชา พบว่าส่วนใหญ่มีการวางแปลนให้ตัวปราสาทหันหน้าไปทางตำแหน่งทิศตะวันออกแท้ รอรับพระอาทิตย์ผู้ทรงคุณ

แต่ทว่า ปราสาทพนมรุ้งหันหน้าเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พูดให้ง่ายคือเบี่ยงออกจากทิศตะวันออกแท้ไปทางทิศเหนือ 5 องศาเพื่อเกิดปรากฏการณ์สาดแสงในวัน “มหาสังกรานติ”แทนที่จะเปนวัน“วสันตวิษุวัต” vernal equinox อย่างปราสาทอื่น [คือวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากแกนโลก ณ เส้นศูนย์สูตร อันส่งผลให้เกิดสมดุลกลางวันเท่ากันกับกลางคืนชั่วโมงมืดมิดเท่ากันกับชั่วโมงสว่าง จีนฝ่ายเต๋าเรียกวันชุนเฟิงสมดุลหยินหยาง มีประเพณีตั้งไข่]

ทั้งนี้อาจเปนด้วยปุโรหิตโบราณสังเกตคำนวณแล้วพบว่าการโคจรดวงดาวหาได้เปนเส้นตรงไม่ ดวงตะวันอ้อมข้าวได้ และเข้าใจข้อความจริงที่ว่า มีการเคลื่อนที่ถดถอยของจักราศี (Precession of vernal equinox) คือว่าดาวไม่มีการเคลื่อนย้ายตามเวลาและองศาที่เคยเปนมาแต่เดิม

ยุคนั้นท่านเหล่านั้นอาจยังไม่เข้าใจว่าเปนเพราะเนื่องจาก “แกนโลกแกว่ง” (Earth’s poleshifted)ทำให้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในวัน “วสันตวิษุวัต” (vernal equinox) เมื่อเทียบเข้ากับตำแหน่งรับราศีเมษดันย้ายถอยหลังไปอยู่ใน “ราศีมึน” ท่านพราหมณ์คงจำต้องอนุวรรตตามความจริงของโลก หันปราสาทเบี่ยงเพื่อรับแสงเข้าราศีเมษ นับเปนความฉลาดลึกล้ำของมนุษยชาติที่บันทึกปรากฏการณ์ทางวิทยา-ดาราศาสตร์ผ่านมหาประติมาสถาปัตยกรรมอันวิจิตรพิศดารมหึมามโหระทึกสมควรแก่การเยี่ยมชมรับพลังงานลึกลับเปนอย่างยิ่ง

อนึ่งว่าท่านใดยังไม่อินกับเรื่องพลังงานลึกลับเหล่านี้ก็น่าเเวะไปเปิดหาแฟ้มคดีประหลาด เรื่องการทุบทำลายรูปสลักต่างๆในปราสาท เมื่อ พ.ค.2551 ดูเอาเถิดว่า มันเกิดเหตุคนร้ายเข้าไปทุบแขนทวารบาลเทวรูปก่อนแล้วเอาพลังอำนาจจากแขนเทวรูปทวารบาลเฝ้าประตูนั้น ไปทุบหัวนาค ทุบหน้าสิงห์ โคนนทิ สัตว์พาหนะ และ เคลื่อนย้ายศิวลึงค์ ว่าคนที่อินมันก็ยั้ง..บ้าบอทำไปได้