ในระหว่างที่รอ kick-off นโยบายคูปองดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ควรบริหารจัดการนโยบายด้านอุปทานไว้รองรับและสร้างศักยภาพในการเติบโตในระยะยาวอย่างไรบ้าง ในฟังก์ชั่นการผลิตของประเทศไทยในการสร้าง GDP ต้องใช้ ปัจจัยแรงงาน (Labor input) 65% (β) และปัจจัยทุน (Capital input) 35% (α) เพื่อให้ได้ GDP 1 หน่วย
ในช่วงที่ผ่านมาผลิตภาพแรงงาน (LQL) เติบโตเฉลี่ย 1.5% ต่อปี มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี (KQL) เฉลี่ย 2.0% ต่อปี ใช้จำนวนคนและชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น (LQT) เฉลี่ยปีละ 0.5% และใช้บริการจากการสะสมทุนเพิ่มขึ้น (KQT) เฉลี่ย 1.5% ต่อปี ผลก็คือเราได้ผลิตภาพการผลิต (TFP) เติบโตปีละ 1.68% และทำให้ศักยภาพ Potential GDP เฉลี่ยโตได้เพียงปี 2.5% ในช่วง 10 ปีที่ผ่าน โดยที่ Actual GDP = 1.9%
เพื่อให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 5% ในไตรมาส 1 ปี 2025 จึงจำเป็นต้องมีข้อเสนอแนะด้านการจัดการอุปทาน (Supply side management) ของประเทศดังนี้
1.เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ฝึกอบรม ทักษะใหม่ นำเข้าแรงงานทักษะสูงเข้ามาจากต่างประเทศ ให้ขยายตัวอย่างน้อย 3.5% ต่อปี
2.เพิ่มจำนวนผู้มีงานทำและชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.5% ต่อปี
3.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีใหม่ในกระบวนการผลิตให้มีความก้าวหน้าให้ขยายตัวร้อยละ 3% ต่อปี
4.เพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตของประเทศจากปัจจัยทุนของโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชนให้ขยายตัว 3.5% ต่อปี และ
5.ปรับสัดส่วนการใช้ปัจจัยแรงงานให้ลดลงเหลือ 60% (จาก 65%) และเพิ่มการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติให้เพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 40% (จาก 35%)
นั่นจะหมายความว่า ผลิตภาพการผลิต (TFP) ของประเทศจะต้องเติบโต 3.3% เพื่อรองรับเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตได้ 5% ยังเกิด New S-curve อย่างแท้จริง ซึ่งกระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและบริการด้านต่างๆ ทั้งในห่วงโซ่มูลค่าและ Ecosystem ของโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพและดิจิทัล จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีเป้าหมายทั้งการลงทุนเพื่อให้เกิดการสะสมทุน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว
รู้หรือไม่ “รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ดีสร้าง TFP ของประเทศให้เติบโตสูง” แก้กฎหมายที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศจะช่วยปลดล็อค TFP ของประเทศ เริ่มจากแก้รัฐธรรมนูญลดอำนาจรัฐ กระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ลดการผูกขาด เป็นต้น