รัฐบาลต้องทบทวน เกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ

17 ส.ค. 2566 | 04:30 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2566 | 04:48 น.

รัฐบาลต้องทบทวน เกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ : บทบรรณาธิการ

“คนสูงวัย”กลายเป็นภาระประเทศ และตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะเบี้ยผู้สูงอายุจะถูกชูเป็น 1 ในนโยบายหาเสียงเสมอ และที่ชนะใจคนสูงวัยจนถึงกับเทคะแนนเสียงให้กับพรรคก้าวไกล ก็ด้วยนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทนั่นเอง

การจัดตั้งรัฐบาลก็ยังไม่เสร็จ แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม แต่รัฐบาลบาลรักษาการก็มีเรื่องให้อกสั่นขวัญแขวน เมื่อราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่า ด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566

มีประเด็นที่เป็นเรื่องวิจารณ์กรณีเปลี่ยนแปลงเกณฑ์จาก “ถ้วนหน้า” ไปเป็นอย่างอื่น ซึ่งสาระสำคัญอยู่ที่หมวด 1 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเบี้ยยังชีพ ข้อ 6 (4) เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือ มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

จากปัจจุบันที่จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ คือ

  • อายุ 60 - 69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท
  • อายุ 70 - 79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 700 บาท
  • อายุ 80 - 89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 800 บาท
  • อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท

ประเด็นดังกล่าวถูกมองว่า “ขัดหลักการรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” เป็นการเลือกปฎิบัติเฉพาะ “คนแก่ที่จนเท่านั้น” ทำให้ประชาชนอีกกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงการดูแลได้ทั่วถึง ทั้งที่เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของผู้เสียภาษีมาอย่างต่อเนื่องก็เป็นได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว (Aged Society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2574 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่า 28% หรือเกือบ 20 ล้านคน    จากระชากรของประเทศราว 70 ล้านคน

และเราพูดมาตลอดเวลาว่า ประเทศไทยเป็นสังคมที่แก่ก่อนรวย เพราะสัดส่วนการออมตํ่า

ขณะที่กระทรวงการคลังประเมินว่า อีกไม่เกิน 1-2 ปี วงเงินงบประมาณในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะทะลุ 100,000 ล้านบาท จากแนวโน้มการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 64-66 และปีงบ 67 ได้ตั้งงบประมาณสำหรับเบี้ยผู้สูงอายุกว่า 90,000 ล้านบาท

ภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงและเตรียมการ แต่ต้องเป็นการหาทางออกที่ไม่บั่นทอนจิตใจของคนที่เป็นกำลังแรงงานหลักของประเทศในขณะนี้ ว่าจะจ่ายภาษีไปทำไม ถ้าในที่สุด จะไม่ได้รับสวัสดิการอะไรจากรัฐบาล เมื่อยามที่แก่เฒ่าและไม่มีแรงทำงานแล้ว