เครดิตประเทศเสี่ยง ถูกลดอันดับ

28 ก.ย. 2566 | 06:25 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2566 | 06:32 น.

เครดิตประเทศเสี่ยง ถูกลดอันดับ บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3926

ความเสี่ยงต่อสถานะการคลังถูกพูดถึงกว้างและจริงจังมากขึ้น หลังรัฐบาลประกาศเดินหน้านโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ปี 2567 ผ่านมาตรการกระตุ้นการบริโภคด้วยการแจกเงินดิจิทัลถ้วนหน้า คนละ 10,000 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ไป ซึ่งประเมินกันว่า จะต้องเม็ดเงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท

แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนถึงรูปแบบและวิธีการในการแจกจ่ายเงินดิจิทัลให้กับประชาชนคนไทยนั้น แต่ที่มีการพูดออกมาบ้างแล้วคือ จะเริ่มดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และแหล่งเงินที่จะนำมาใช้บางส่วนจะมาจากการเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 อีก 1.3 แสนล้านบาทจากกรอบวงเงินที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  อดีตนายกรัฐมนตรีเคยอนุมัติไว้คือ 3.35 ล้านบาทเพิ่มเป็น 3.48 ล้านล้านบาท

วงเงินงบประมาณรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท จะมาจากประมาณการรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หลังการกระตุ้นด้วยการแจกเงินดิจิทัลแล้ว และอีก 100,000 ล้านบาท จะเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ

ส่วนที่เหลืออีกราว 450,000 ล้านบาท จะเป็นการขยายเพดานการกู้ยืมจากสถาบันการเงินของรัฐ ตาม ม.28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จากปัจจุบันอยู่ที่ 32% อาจต้องเพิ่มถึง 45% เลยทีเดียว

ตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ กำหนดเพดาน ม.28 ไว้ไม่เกิน 30% แต่ปลายปี 2564 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขยายเพดานเพิ่มเป็น 35% เพื่อรองรับการจ่ายเงินให้เกษตรกรในโครงการประกันรายได้ที่วงเงินเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

แม้ปลายปี 2565 จะพยายามปรับลดวงเงินลง แต่ก็ยังไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ในกรอบ 30% ได้ โดยยังอยู่ที่ 32%

การเพิ่มเพดาน ม.28 แม้จะไม่ใช่การกู้โดยตรงของรัฐบาล แต่ก็เป็นการกู้นอกระบบงบประมาณ ซึ่งวิธีนี้จะไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย แต่รัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณมาชำระคืนในภายหลัง อย่างกรณีที่รัฐบาลดำเนินนโยบายจำนำข้าว และมาตรการพยุงราคาสินค้าต่างๆ ผ่าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ใช้วงเงินสูงถึง 9 แสนล้านบาท ผ่านมาเกือบ 20 ปี ยังมียอดคงค้างรอการชำระกว่า 5 แสนล้านบาท เพราะแต่ละปีตั้งงบชำระคืนไม่ถึง 1 แสนล้านบาท

ครั้งนี้หากเป็นการดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน ตามที่มีกระแสข่าวออกมา โดยวงเงินที่อาจสูงถึง 5  แสนล้านบาท และบอกว่าจะตั้งงบชำระคืนภายใน 3 ปีนั้น มีความเป็นไปได้แค่ไหน จากข้อจำกัดภาระงบประมาณต่างๆที่ถูกล็อกไว้และภาระเดิมที่ค้างอยู่ หากจ่ายคืนออมสินปีละ 5 หมื่นล้านบาท ก็อาจจะเป็นภาระไปเกือบ 10 ปีเลยทีเดียว

นั่นเป็นเพียงมาตรการเดียวที่มีการพูดถึง ยังไม่รวมอีกหลายมาตรการเร่งด่วน ทั้งการเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า และประกันรายได้ครัวเรือน 20,000 บาท/เดือน ที่ล้วนต้องใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น ภาระงบประมาณดังกล่าวจึงสร้างความกังวลว่า จะสร้างภาระทางการคลังที่มีแนวโน้มขาดดุลสูงขึ้น กระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังที่เคยเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย

ที่สุดอาจเพิ่มความเสี่ยง ต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะข้างหน้าได้