“คนรวย” ไม่มีสิทธิ์นะครับ!

28 ต.ค. 2566 | 00:25 น.

“คนรวย” ไม่มีสิทธิ์นะครับ! บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3935

ยังเป็นวาระร้อนและถูกจับตาเป็นพิเศษ สำหรับนโยบาย “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
 
หลายครั้งที่ “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” อธิบายถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าทำไมรัฐบาลถึงต้องทำงานหนักและกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลประชาชนเรื่องปากท้องให้ดีที่สุดให้เหมาะสมที่สุดและรวดเร็วที่สุด
 
ทำไมเราต้องซ่อมเศรษฐกิจ ซ่อมความเป็นอยู่ของคนที่ลำบาก เพราะรัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมลํ้าของคนไทยให้ได้เร็วที่สุด เพราะเป็นจุดที่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นหลายเรื่อง
 
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ก็ส่งสัญญาณ ผ่านการปาฐกถาพิเศษบนเวที Dinner Talk Thailand’s Future อนาคตประเทศไทย 2024 ถึงความจำเป็นต้องใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพยายามปรับปรุงวิธีการที่จะแจกและใช้ให้ได้โดยเร็วที่สุด
 
มีคำถามว่า “คนรวย” ควรจะได้สิทธิและมีส่วนใน “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” นี้หรือไม่ และนิยามคำว่า “คนรวย” คือใคร
 
ล่าสุด (ดูเหมือน) ตกผลึกออกมาแล้วว่า มีเงื่อนไข หลักเกณฑ์ว่า ใคร “ได้” ใคร “ไม่ได้”

เมื่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เคาะความเห็นว่า ต้องการให้ตัดกลุ่มคนรวยออกไป พร้อมชงเกณฑ์การรับเงินดิจิทัล 3 แนวทาง คือ
 
1.จ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท
 
2.พิจารณาให้ตัดกลุ่มคนที่มีความพร้อมทางสังคม มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท หรือ มีเงินฝากในบัญชี 1 แสนบาท จะเหลือผู้ที่ได้รับสิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท
 
3.พิจารณาตัดผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 5 แสนบาท จะเหลือผู้ได้รับสิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท
 
ยังมีข้อสรุปเกณฑ์รัศมีการใช้จ่ายได้ในระดับอำเภอ จากเดิมที่กำหนดให้ใช้ในรัศมี 4 กม. ซึ่งไม่ได้มีขนาดใหญ่เกินไปที่จะมีการกระจุกตัวของเม็ดเงิน และยังมีร้านค้าเพียงพอให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย โดยระบบการขึ้นเงินของร้านค้านั้น จะต้องเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นิติบุคคล และบุคคลธรรมดาที่อยู่ในระบบภาษี

ส่วนการยืนยันตัวตน หากผู้ที่เคยใช้สิทธิโครงการของรัฐผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ แล้วไม่ต้องยืนยันตัวตน ต้องยืนยันตัวตนเฉพาะผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการเท่านั้น ขณะที่ร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการเปิดให้ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน รวมทั้งสินค้าสำหรับอุปโภคบริโภค เป็นต้น
 
ทันทีที่ผลประชุมออกมา แน่นอนว่ามีทั้ง “เห็นด้วย” และ “เห็นต่าง” เพราะนอกจากจะทำให้รัฐใช้งบประมาณน้อยลง (ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะไปเอาจากที่ไหน) ประเทศก็จะเป็นหนี้น้อยลงด้วย 

ขณะที่บางคนก็มองว่าเงินดิจิทัลหมื่นบาท ควรให้เฉพาะคนจนเท่านั้น , เส้นวัด “คนจน-คนรวย” คืออะไร , “คนที่มีความพร้อมทางสังคม” คืออะไร, เงินเดือน 2.5 หมื่น แต่มีหนี้เป็นล้าน มีความพร้อมทางสังคมหรือไม่, เงินเดือน 5 หมื่น คือคนรวย แล้วหรือ?
 
เสียงสะท้อนเหล่านี้ อาจยังไปไม่ถึงคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และจะต้องตัดสินใจอีกครั้ง ในสัปดาห์หน้า ที่เชื่อว่า “คนไทย” ทั้งประเทศรอฟัง แต่ที่แน่ๆ กว่าเงินดิจิทัลจะคลอดออกมาให้ใช้ได้ คงต้องรอถึง “สงกรานต์” นั่นแหละ