สภาพัฒน์แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ของไทย ในไตรมาสที่ 3/2566 ขยายตัวเพียง 1.5% ชะลอลงจาก 1.8% ในไตรมาสที่ 2 / 2566 เป็นผลจากภาคการส่งออกที่เป็นรายได้ใหญ่สุดของประเทศยังชะลอตัว (9 เดือนแรกยังติดลบ 3.8%)
นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการใช้จ่ายของรัฐบาลยังคงลดลง จากการลดลงของการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด และการลงทุนของภาครัฐที่ลดลงต่อเนื่อง ทั้งด้านการก่อสร้างและด้านเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ ภาพรวมตัวเลขจีดีพีของไทยช่วง 3ไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัวเพียง 1.9% ส่งผลให้สภาพัฒน์ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2566 ลงเหลือ 2.5% จากที่คาดการณ์ไว้ ณ เดือนสิงหาคม 2566 จะขยายตัว 2.5 -3.0%
สอดคล้องกับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 88.4 ตํ่าสุดรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 โดยองค์ประกอบของค่าดัชนีปรับตัวลดลงเกือบทุกตัวทั้งดัชนีคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแสดงความกังวลโดยระบุว่า รู้สึกเป็นห่วงอย่างมากที่จีดีพีไตรมาส 3 ของไทยโตตํ่ากว่าที่คาด สาเหตุทั้งจากการใช้จ่าย การลงทุน และภาคการผลิตที่ยังผลิตได้ไม่เต็มกำลัง ถือว่าทุกอย่างเลวร้ายกว่าที่คิดไว้มาก ส่วนไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ยังเหลือเวลาอีกครึ่งไตรมาส จะต้องพยายามทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น
อย่างไรก็ดี หากจับสัญญาณจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆ ตัว และทิศทางปี 2567 ที่รัฐบาล “เศรษฐา 1” ตั้งเป้าหมายที่จะพยายามดันจีดีพีไทยให้ขยายตัวได้ที่ 5% ยังเป็นไปได้ยาก จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 1.9% ตํ่ากว่าเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศ
ทั้งนี้แม้ตัวเลขปีหน้า คาดการณ์ส่งออกไทยจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของหลายคู่ของโลก โดยการหารือของกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนล่าสุด คาดส่งออกไทยปี 2567 จะขยายตัวได้ 1.99% หรือตัวเลขกลม ๆ ที่ 2% ส่วนรายได้จากภาคการท่องเที่ยวจะขยับจากคาดการณ์ในปีนี้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 3.5 ล้านล้านบาท
ส่วนภาคการลงทุนที่จะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญข้อมูลจากบีโอไอ สถิติการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ออกบัตรส่งเสริมแล้ว 1,299 โครงการ เงินลงทุนรวม 334,915 ล้านบาท เฉลี่ยโครงการเหล่านี้จะทยอยลงทุนภายใน 6 เดือนถึง 2 ปีภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม
ขณะที่โครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับประชาชนที่จะใช้เงินกว่า 5 แสนล้านบาท ก็ยังไม่แน่นอนว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงินจะติดขัดในแง่กฎหมายหรือไม่ หากสามารถฝ่าด่านไปได้ก็ยังมีคำถามคือ จะทำให้เศรษฐกิจหมุนได้หลายรอบอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้หรือไม่
ส่วนการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ ที่ภาคเอกชนจี้รัฐบาลให้เร่งดำเนินการ ทั้งการทำ FTA เพิ่มกับประเทศคู่ค้า เร่งดึง FDI หรือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้มากและเร็วที่สุด การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีผลต่อจีดีพีไทยขยายตัวได้ถึง 5% ทั้งหมดยังต้องใช้เวลา
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การตั้งเป้าหมาย ลงมือทำ และต้องไปให้ถึง