ไม่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว ปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทุบซ้ำ

11 ส.ค. 2567 | 09:21 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2567 | 09:27 น.

ไม่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว ปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทุบซ้ำ : บทบรรณาธิการ ...หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4017

มีสัญญาณชัดถึงภาวะเศรษฐกิจไทย ที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า หลังจากได้เห็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2567 ลดลง 0.30% กลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 3 เดือน และอาจจะได้เห็นการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้

ขณะที่การบริโภคภายในประเทศ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังมีความน่ากังวล ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ที่รายงานโดยเครดิตบูโรยังมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนถึงการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง

 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 57.7 ลดลงจาก 58.9 ในเดือนมิถุนายน 2567 เป็นการปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับตํ่าสุดในรอบ 11 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมา

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) สะท้อนถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนกรกฎาคม 2567 เท่ากับ 49.7 จากระดับ 52.3 ในเดือนก่อนหน้าเป็นการปรับลลงมาอยู่ในระดับไม่เชื่อมั่นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน นับตั้งแต่ธันวาคม 2565 ปัจจัยจากภาพรวมของเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ความตึงเครียดของสถานการณ์การค้าโลก และความต้องการซื้อภายในประเทศที่อ่อนตัวลง

รวมถึงความกังวลของประชาชนต่อภาระค่าครองชีพ ค่าไฟฟ้า ราคานํ้ามันเชื้อเพลิง รวมถึงภาระหนี้สินครัวเรือนและธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผับริโภคใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 54.8 จากระดับ 57.5

ส่วนภาคการผลิต สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานว่า ภาพรวม 6 เดือนแรกปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 97.83 หดตัวเฉลี่ย 2.01 % และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.11 % สะท้อนให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต

ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเปราะบาง จากความต้องการของผู้บริโภคลดลง สะท้อนจากยอดโอนอสังหาริมทรัพย์ ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้หดตัว 8.8% ยอดจำหน่ายรถยนต์ ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ หดตัวต่อเนื่องที่ 24% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน  

หลังจากนี้ไปเศรษฐกิจไทย จะต้องเจอกับความเสี่ยงที่ถาถมเข้ามาอีก จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าการสู้รบในตะวันออกกลางที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นรวมถึงการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังมีความยืดเยื้อ

อีกทั้ง ความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 โลก กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) หลังจากมีการเปิดเผยถึงอัตราการว่างงานแตะระดับ 4.3% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 สะท้อนถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจน

จากปัจจัยที่กล่วมาทั้งหมด ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทย ในปีนี้ อาจจะไม่ได้เห็นตัวเลขการขยายตัวทางเศรฐกิจ ตามที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้ และยังต้องมาลุ้นอีกว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้มากน้อยแค่ไหนด้วย...