สัญญาณเตือนเศรษฐกิจไทย ปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่ออนาคต

10 ส.ค. 2567 | 00:00 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2567 | 08:54 น.

สัญญาณเตือนเศรษฐกิจไทย ปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่ออนาคต : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4016

รายงานฉบับล่าสุดจากกลุ่ม Angsana Council, Bain & Company และธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ ได้ส่งสัญญาณเตือนที่น่าวิตกอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทยในทศวรรษหน้า โดยคาดการณ์ว่าในช่วง 2567-2577 ไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยเพียง 2.8% ต่อปี ซึ่งตํ่าที่สุดในกลุ่ม 6 ประเทศเศรษฐกิจหลักของอาเซียน 

ตัวเลขนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายเชิงโครงสร้างที่ไทยกำลังเผชิญ แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนว่า เราอาจกำลังถูกทิ้งห่างจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค

 

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในรายงาน เราจะเห็นภาพที่น่าวิตกมากขึ้น เมื่อ เวียดนาม ประเทศที่เคยล้าหลังไทยในหลายด้าน กลับมีอัตราการเติบโตที่คาดการณ์สูงถึง 6.6% ต่อปี ด้วยจุดแข็งด้านแรงงานที่มีคุณภาพ และนโยบายดึงดูดการ

ขณะที่ อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ก็มีแนวโน้มเติบโตที่ 5.7% และ 6.1% ตามลำดับ โดยได้รับแรงหนุนจากประชากรวัยแรงงานที่กำลังเติบโตและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานลงทุนจากต่างประเทศ 

แม้แต่ มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ซึ่งมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าไทย ก็ยังมีอัตราการเติบโตที่คาดการณ์สูงกว่าเราที่ 4.5% และ 2.5% ตามลำดับ

รายงานฉบับนี้ สะท้อนถึงความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายประการที่ไทยกำลังเผชิญ ทั้งเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังแรงงานและภาระทางการคลังของประเทศ 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความล่าช้าในการปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะระบบราชการที่ซับซ้อน และขาดประสิทธิภาพ ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมที่ยังไม่ก้าวหน้า แม้จะมีความพยายามในการส่งเสริมนวัตกรรม แต่ไทยยังล้าหลังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคในด้านนี้

อีกประเด็นที่สำคัญคือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย และ ความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของนโยบายและความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมไปถึงการที่ไทยยังคงพึ่งพาอุตสาหกรรมดั้งเดิมมากเกินไป ทั้งการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งไม่ยั่งยืนในระยะยาว

ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงความเร่งด่วน ในการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ เราไม่สามารถพึ่งพาเพียงการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมดั้งเดิมได้อีกต่อไป ต้องเร่งยกระดับทักษะแรงงาน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและนวัตกรรม

รัฐบาลต้องแสดงวิสัยทัศน์และความกล้าในการผลักดันนโยบายที่อาจไม่เป็นที่นิยมในระยะสั้น แต่จำเป็นต่อการเติบโตในระยะยาว ภาคเอกชนต้องปรับตัวลงทุนในเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ ขณะที่ภาคการศึกษาต้องปฏิรูปหลักสูตรให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่

เราไม่สามารถปล่อยให้ไทยกลายเป็น “คนป่วย” แห่งอาเซียนได้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องลงมือทำ เพื่อสร้างอนาคตที่สดใสกว่าให้กับคนรุ่นต่อไป

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อาจสร้างความไม่สบายใจในระยะสั้น แต่เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อความอยู่รอด และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในระยะยาว