ยังมองไม่เห็นภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

20 ก.ย. 2567 | 23:30 น.

ยังมองไม่เห็นภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัว : บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4029

พอหายใจดีขึ้นมาบ้าง หลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.5% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ถือเป็นการเริ่มต้นวัฎจักรของการลดดอกเบี้ยอย่างเข้มข้น สร้างแรงผ่อนคลายไปทั่วโลก และยังส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปี 2568 และลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในปี 2569 อีกด้วย

ผลการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว อาจจะส่งอานิสงส์มาถึงไทย ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสจะลดอัตราดอกเบี้ยของไทยลงตามด้วย จากภาวะตลาดเงินตรึงตัวสภาพคล่องหายไป ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับสินเชื่อบ้าน รถยนต์ และ บัตรเครดิต มีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจได้บ้าง ส่วนจะเห็นผลเมื่อใดนั้นคงจะต้องติดตามกัน

แต่ที่น่าห่วงวันนี้ ภาวะเศรษฐกิจของไทยเอง ยังไม่เห็นปัจจัยการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง สะท้อนจากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2567 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 87.7 จาก 89.3 ในเดือนกรกฎาคม 2567 และคาดการณ์ไปอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 93.9 จาก 95.2 ในเดือนกรกฎาคม 2567

ตัวเลขดังกล่าวเป็นสัญญาณบ่งบอก หรือชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังชะลอตัวต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้

ส.อ.ท.ระบุถึงปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนี้ เกิดจากกำลังซื้อภายในประเทศหดตัวลงเป็นอย่างมาก สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ช่วง 7 เดือน (ม.ค.ก.ค.2567) อยู่ที่ 354,421 คัน หดตัว 23.71% โดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุก เนื่องจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ขณะที่กำลังซื้อยังเปราะบางจากความกังวลเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.8 % ต่อ GDP ในไตรมาสที่ 2/2567 กดดันการบริโภคในประเทศ

อีกทั้ง ภาคการผลิต ยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ต้นทุนทางการเงิน ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และยังต้องมาเจอปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลดลง

ที่สำคัญความกังวลต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่า 400 บาทต่อวัน ที่จะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ปัญหาหนี้เสีย (NPL) มีแนวโน้มสูงขึ้น กดดันกำลังซื้อในประเทศ

นอกจากนี้ การส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญได้รับผลกระทบจากอัตราค่าระวางเรือ (Freight) ที่ยังอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเส้นทาง สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป จากการเร่งส่งออกของจีน และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น

ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม 2567 เป็น 34.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนสิงหาคม 2567 ส่งผลให้สินค้าไทยแพงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งและส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

อีกทั้ง ยังต้องมาเจอปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ มีแนวโน้มจะขยายวงกว้างมาสู่ภาคกลาง ได้สร้างความเสียหายให้แก่ภาคเกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงภาคก่อสร้างชะลอตัวลง โดยประเมินว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่าแล้วราว 2.6 หมื่นล้านบาท

ที่กล่าวมาถือเป็นปัจจัยลบทั้งสิ้น ที่จะฉุดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งคงต้องมาลุ้นว่าในช่วงโค้งท้ายปี การกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแจกเงินหมื่นบาท ให้กับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ ผู้พิการ จำนวนไม่เกิน 14,555,240 ราย จะช่วยให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคัก อย่างที่มีการคาดการณ์กันไว้หรือไม่ด้วย