ตามที่ผมเล่าเรื่องวัดโสมนัสวิหาร ไปก่อนหน้า ว่า เจ้าอาวาสองค์ปฐม ของวัดโสมนัสวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเพื่ออุทิศแด่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสพัฒนาวดี พระอัครมเหสี ได้แก่ พระอริยมุนี (ทับ) หรือสมเด็จพระวันรัตนั้น
เมื่อศึกษาประวัติเจ้าพระคุณสมเด็จองค์นี้ พบเรื่องมหัศจรรย์หลายเรื่อง ที่ควรนำมาเล่า ได้แก่การเคร่งครัดในพระวินัย ถึงกับอุปสมบทถึง 7 ครั้ง เพื่อให้หายสงสัยว่า ได้รับการอุปสมบทในเขตทีมีสีมาสมบูรณ์ คือต้องอุปสมบทในสีมาน้ำ หรืออุทุกเขปสีมา และออกเสียงสวดแบบรามัญให้ถูกเป็นต้น
การจะมีสีมาแบบนี้ ต้องมีแพหน้าวัด แล้วพระสงฆ์ สวดสมมติสีมาขึ้น
ต่อมาเรียกกันว่าโบสถ์แพ ปัจจุบัน มีหลังหนึ่งเก็บรักษาไว้ในฐานะโบราณสถาน ที่วัดราชาธิวาส แขวงสามเสน กทม.
เรื่องบวช 7 ครั้งนี้ อุบัติขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อพระวชิรญาโณ หรือสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ผนวชและทรงจำพรรษาที่วัดมหาธาตุ ทรงพบและศรัทธาพระรามัญ จึงศึกษาอุปสมบทวิธีและการออกเสียงสวดอักขรวิธีแบบมอญ
ในขณะที่พระภิกษุทับ ขณะที่เป็นสามเณรอยู่วัดราชโอรสาราม เคยเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ (ยังไม่ได้ผนวช) ที่เสด็จไปทรงพระอักษรที่วัดราชโอรสาราม และต่อมาเมื่ออุปสมบทได้เข้าถวายตัวเพื่อศึกษากับพระวชิรญาโณ เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระวชิรญาโณ พระชนมายุมากกว่าพระภิกษุ ทับ 2 ปี)ที่วัดมหาธาตุ
จนถึง พ.ศ.2379 พระภิกษุทับ สามารถสอบได้เป็นเปรียญ 7 ประโยคเมื่อ อายุ 31 ปีพรรษา 11 ถัดมาอีก 2 ปีสอบได้อีก 2 ประโยค จึงเป็นเปรียญ 9 ประโยค ในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง) เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหารรูปที่ 3 และสัทธิวิหาริกใน สมเด็จพระวันรัต (ทับ) เล่าเรื่องการบวช 7 ครั้ง ของสมเด็จอาจารย์ว่า
การบวชครั้งที่ 1
ก่อนอายุครบบวชนั้น สมเด็จพระวันรัต (ทับ) บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาอักษรสมัยที่วัดราชโอรส เมื่ออายุครบบวช ได้มาบวชที่วัดเทวราชกุญชร ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน ตามความปรารถนาของโยมบิดา มารดา โดยมีพระธรรมวิโรจน์ วัดราชาธิวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทแล้วไปอยู่กับอุปัชฌาย์ที่วัดราชาธิวาส
บวชครั้งที่ 2
ขณะจำพรรษาที่วัดราชาธิวาส ได้เฝ้าพระวชิรญาโณ (ร.4) ที่เสด็จมาทำอุโบสถเนืองๆ ต่อมาขอให้พระธรรมวิโรจน์ นำไปถวายตัว กับพระวชิรญาโณ พระองค์ท่านรับและพำนักที่วัดมหาธาตุ
ที่นั่นได้ เรียนหนังสือกับพระวชิรญาโณ (ร.4) รวมทั้งเรียนวิธีอุปสมบทแบบรามัญ จนเกิดความเลื่อมใส จึงขออุปสมบทใหม่ตามวิธีรามัญ ครั้งนี้ได้รับฉายาว่า พุทธสิริ
บวชครั้งที่ 3
เมื่อบวชแบบรามัญแล้ว พระวชิรญาโณ(ร.4) ทรงปรารภว่า ตัวพระองค์ท่านเป็นคนไทย ออกเสียงรามัญ อาจเพี้ยน หากในกาลข้างหน้าอาจร้อนใจได้ จึงทรงแนะให้หาพระรามัญมาบวชให้ใหม่ ท่านภิกษุทับ จึงไปขอบวชที่วัดชนะสงคราม(วัดตองปุ) เพราะมีพระรามัญจำพรรษาอยู่มาก
บวชครั้งที่ 4
เมื่อพระวชิรญาโณ (ร.4) ทรงย้ายจากวัดมหาธาตุ มาประทับวัดราชาธิวาส พระภิกษุทับ ขอย้ายติดตามมาด้วย ในครั้งนั้น นิมนต์พระรามัญมาทำพิธีบวชใหม่ ในโบสถ์แพ หรือเรียกอย่างทางการว่าอุทุกเขปสีมา การบวชครั้งนี้มีพระวชิรญาโณ(ร.4) ทรงเป็นประธาน
บวชครั้งที่ 5
พระภิกษุทับ รู้สึกไม่ถูกใจพระกรรมวาจาจารย์ในการบวชที่โบสถ์แพ หน้าวัดราชาธิวาส จึงเดินทางไปวัดปริก (หรือปรัก)เมืองปทุมธานี ที่นั่นนิมนต์พระรามัญมาทำพิธีบวชให้ใหม่
บวชครั้งที่ 6
การบวชอีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ 6 นั้นสืบเนื่องจากพระราชปรารภของ วชิรญาโณ(ร.4) ว่าการบวชที่ผ่านไป แค่ทำญัตติจตุตถกรรม มิได้ทำบุพกิจ จึงให้ทำให้ถูกต้องที่วัดราชาธิวาสนั้นพระรูปอื่นทำหมด เว้นแต่พระภิกษุทับ ที่มีกิจที่อื่น ท่านจึงต้องไปหาวัดเพื่อทำบุพกิจและบวชให้สมบูรณ์ จึงเดินทางไปวัดดอนกระฎี นิมนต์พระรามัญมา ทำพิธีบวชในโบสถ์แพ ที่หน้าวัดนั้น (ไม่มีรายละเอียดว่าวัดดอนกระฎีนี้อยู่ที่ไหน)
บวชครั้งที่ 7
เมื่อท่านภิกษุทับเดินทางไปนมัสการ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ได้รำพึงว่า พระเจดีย์ใหญ่เป็นของสำคัญในพระพุทธศาสนา ผู้สร้างนั้น สร้างเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด
ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า เป็นอุปสัมบันภิกษุเฉพาะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น นับเป็นอุทิศบรรพชาครั้งที่ 7
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง) ว่าเรื่องดังกล่าวนี้ สมเด็จพระวันรัต(ทับ) เล่าให้ฟังโดยตรง จึงไม่ได้ความละเอียด ดังนั้นข้อความที่เล่ามาจึงเป็นเพียงสังเขป
อย่างไรก็ตาม พระภิกษุทับ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระอริยมุนี เทียบพระราชาคณะชั้นเทพ จึงได้รับมอบหมายให้ดูแลพระสงฆ์ในคณะธรรมยุต ที่วัดราชาธิวาส แทนพระวชิรญาโณ(ร.4) ที่ทรงย้ายมาประทับวัดบวรนิเวศวิหาร ตามพระบรมราชโองการ ของ ร.3
เมื่อวชิรญาโณ ลาผนวชไปครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 และทรงสร้างวัดโสมนัสวิหาร ขึ้นตามที่เคยเล่าไปแล้ว รัชกาลที่ 4 จึงนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดโสมนัสเป็นองค์ปฐม ในพ.ศ.2399 และอยู่ถึง พ.ศ.2434
หนังสือประวัติและผลงานของท่านว่าสมเด็จพระวันรัต(ทับ) เป็นพระเถระ ที่พระมหาษัตริย์ทรงมีพระราชศรัทธา เช่น พ.ศ.2416 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช และประทับที่พุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวังเป็นเวลา 15 วันนั้น โปรดฯให้สมเด็จพระวันรัต เมื่อมีสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรม ให้อยู่ด้วยจนกระทั่งครบ 15 วัน
ตามประวัติคณะพระธรรมยุต นั้น สมเด็จพระวันรัต (ทับ) จัดเป็นต้นวงศ์ธรรมยุต สายใหญ่ที่สุด มีเครือข่ายกระจายทั่วไป ล้วนแต่เป็นกำลังสำคัญของพระธรรมยุต ดังที่สมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดโสมนัส รูปที่ 6 (พ.ศ.2489 ถึง พ.ศ.2539) ทำสาแหรกต้นวงศ์ธรรมยุต เพื่อการศึกษาจะเห็นว่าสมเด็จพระวันรัต(ทับ) เป็นพระอุปัชฌาย์สมัยแรกสายใหญ่ที่สุด มีสัทธิวิหาริก กระจายทั่วไป
ท่านครองวัดโสมนัสวิหารนาน 35 ปี ทำความรุ่งเรืองของวัดทั้งวิปัสสนากรรมฐาน และการศึกษาภาคปริยัติอยู่ในขั้นแนวหน้า มีพระภิกษุสามเณร เรียนจบชั้นสูง เป็นกำลังของพระพุทธศาสนา อย่างน่าอนุโมทนายิ่ง
เจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต (ทับ) ผู้ทำสถิติบวชถึง 7 ครั้ง มรณภาพเมื่อ วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2434 อายุ 86 ปี พรรษา 66
ชีวิตของท่านเป็นชีวิตแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งหมด