ผมจั่วหัวเช่นนี้ไม่ผิดครับ เพราะนับการเข้าพรรษาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าและปัญจวัคคีย์ ถึง ปีนี้ รวมแล้วมาถึง 2612 ปี (ไม่ได้นับ พ.ศ.) นับว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ทางพุทธประเพณี ที่มีพระสงฆ์เป็นองค์กรหลักสืบทอดกันมาตลอดเป็นพันปี
การเข้าพรรษาปีนี้ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 นับได้ 2612 ปี นับว่าเป็นประเพณีที่ยืนยาวที่สุดในโลกประเพณีหนึ่ง ผม เริ่มนับพรรษาที่ 1 เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดง พระธัมมจักกัปปวัตนสูตรโปรด คณะปัญจวัคคีย์ ที่มีพราหมณ์นามว่าโกญฑัญญะเป็นหัวหน้า เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือ 45 ปีก่อน พ.ศ. ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กับเมืองพาราณสี หลังจากตรัสรู้ได้สองเดือน
ปัจจุบันป่าอิสิปตนมฤคทายวันเรียกว่าสารนาถ 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน อยู่ในรัฐอุตรประเทศ มีพระเจดีย์ธัมเมกขสถูปและพุทธสัญลักษณ์อื่นๆ เช่น วิหาร และเสาอโศกเป็นเครื่องยืนยันถึงการมีอยู่จริง
เมื่อแสดงธรรมจักร(ประกอบด้วยหลักมัชฌิมาปฏิปทา และอริยสัจจ์ 4) จบท่านโกณฑัญญะ ดวงตาเห็นธรรม หรือบรรลุโสดาปัตติผล พระพุทธองค์ทรงอุทานว่า อัญญาสิ วตะโภ โกณฑัญโญ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ
จากนั้นท่านโกณฑัญญะ ขออุปสมบท จึงทรงอนุญาต โกณฑัญญะ จึงเป็นปฐมสาวก หรือภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนาและมีชื่อนำหน้าว่า อัญญา โกณฑัญญะ เนื่องจากอุทานของพระพุทธองค์นั่นเอง
การอุปสมบทของท่านอัญญาโกณฑัญญะ ทำให้เกิดพระรัตนตรัย ได้แก่พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
พระพุทธองค์กับปัญจวัคคีย์ทั้งคณะ ประทับ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ตลอด 3 เดือน จึงนับเป็นพรรษาที่หนึ่ง
นับแต่พรรษาที่หนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระชนมายุ 35 พรรษา ตั้งแต่วันนั้นพระพุทธองค์ไม่เคยทรงพักร้อน หรือหยุดแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์เลย นับเป็นเวลาถึง 45 พรรษา เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา จึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ เมืองกุสินครา รัฐอุตรประเทศ อินเดีย
การอุบัติของพระพุทธองค์ ก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งทางปัญญา และสังคม ในอินเดีย และเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมและศีลธรรมของมนุษยชาติ เมื่อรับพระพุทธศาสนาเป็นประทีปนำทางชีวิต จึงเห็นชาวพุทธมีเป้าหมายชีวิตชัดเจน คือยึดพระรัตนตรัยเป็นมรรคา บำเพ็ญบุญกิริยา 3 ได้แก่ การให้ทาน การรักษาศีล และการภาวนา และเมื่อจะพัฒนาปัญญาก็ทำตนให้ตั้งอยู่ในสิกขา 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่รู้จักกันว่า ไตรสิกขา นั่นเอง
ส่วนการพัฒนาทางสังคมนั้น พุทธศาสนา ก่อให้เกิดความเสมอภาค ไม่มีระบบชั้นวรรณะมาเป็นอุปสรรคในการสร้างความสามัคคี เพราะพุทธศาสนาสอนให้เชื่อหลักกรรม ทำดีได้ดี ทำบาปก็ได้บาป เหมือนหว่านพืช เช่นไร ก็ได้ผลเช่นนั้น ซึ่งสังคมเสมอภาคเห็นได้จากสังคมสงฆ์ ที่คนวรรณะไหนก็ตาม เมื่อเข้ามาบวช ต้องละวรรณะ ให้ถือศีล รักษาวินัยเหมือนกันทุกคน
แต่เพื่อสะดวกในการปกครอง ท่านให้เคารพหลักอาวุโส ผู้บวชทีหลังต้องเคารพผู้บวชก่อน
เรียกว่ายึดพรรษาเป็นใหญ่ การเคารพโดย ยึดพระธรรมวินัยเป็น ทำให้พุทธศาสนามั่นคงยั่งยืน จึงมีพุทธประเพณีคือการเข้าพรรษาที่มีมายาวนาน ถึง 2612 ปี ในปี พ.ศ.2567 เป็นประจักษ์