เงื่อนปมการอพยพของแรงงานชาวเมียนมา

18 ส.ค. 2567 | 23:00 น.

เงื่อนปมการอพยพของแรงงานชาวเมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติจากทางศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ไปร่วมเสวนาในเรื่อง “Reshaping ASEAN Towards an Inclusive, Sustainable and Resilient Future” ซึ่งทางศูนย์อาเซียนศึกษาได้จัดขึ้นสองวัน โดยทุกวันจะแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา แต่ละช่วงเวลาก็จะมีผู้ทรงคุณวุฒิของแต่ละเรื่องมาร่วมเสวนากัน

ผมได้รับเกียรติดังกล่าวให้เข้าร่วมเสวนา ในหัวข้อเรื่องที่เกี่ยวกับการปลดล็อกวิกฤตหลายมิติอย่างไร? ให้นำไปสู่โอกาสในประเทศเมียนมา ซึ่งจะเน้นไปในทิศทางบทบาทของอาเซียนและไทย ในการแก้ไขวิกฤตหลายมิติของเมียนมา ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง การอพยพ และความตึงเครียดระหว่างชุมชน

ในท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ประเทศอาเซียนและไทยเรา สามารถมีบทบาทสำคัญในการนำสันติภาพ ความมั่นคง และเสริมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ นอกจากนี้ การดำเนินการด้านการค้าชายแดน และการจัดการกับปัญหาการย้ายถิ่นฐานของประชาชนชาวเมียนมา ที่มีความจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในการฟื้นตัว เพื่อนำมาซึ่งความสงบและสันติภาพไปสู่ดินแดนเมียนมาอีกครั้งครับ

ในงานสัมมนาดังกล่าว เนื่องจากได้มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านในการร่วมเสวนา จึงทำให้ไม่สามารถบรรยายได้มาก ผู้ดำเนินรายการท่านได้จัดสรรเวลาให้แก่ผู้ร่วมเสวนาท่านละ 10 นาทีเท่านั้น ผมเชื่อว่าผู้ร่วมเสวนาหลายท่าน ยังมีหลายเรื่องที่ยังติดอยู่ในใจที่อยากจะนำมาพูด แต่ต้องเคารพในกติกาในเรื่องของเวลา ส่วนตัวผมเองก็เช่นกัน วันนี้จึงอยากจะขอนำมาพูดต่ออีกนิดในช่องทางนี้นะครับ

ในวันนั้นผมได้พูดถึงแค่เรื่องการค้าระหว่างประเทศของเมียนมา ที่มีปัญหาหยุดชะงักลงไปบ้าง ด้วยเหตุของความไม่สงบทางชายแดน และได้นำเอาช่องทางที่จะสามารถช่วยให้การค้าระหว่างประเทศ ผ่านทางช่องทางการค้าชายแดนมาพูด ซึ่งก็หมดเวลาในการเสวนาเสียแล้ว สิ่งที่ค้างอยู่ในใจคือปัญหาของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงานหรือผู้ที่ต้องการโยกย้ายที่แท้จริง ที่ไม่ใช่เพียงเพราะเรื่องความไม่สงบจึงอยากจะหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยเรา ยังมีปัญหาของเรื่องราวที่ประเทศไทยเราจะต้องเผชิญอยู่อีกมาก ที่จะต้องนำมาแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาวด้วย ผมเชื่อว่าหากเราไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือประเทศเมียนมา ในการจัดการปัญหาเหล่านี้ เราอาจจะต้องมาแก้ไขปัญหา “เหมือนลิงติดแหในอนาคต”ต่อไป

วันนี้เราต้องยอมรับกันนะครับว่า ในปัจจุบันนี้ได้มีแรงงานทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและผิดกฎหมาย อาศัยอยู่ในประเทศไทยเราหลายล้านคน ซึ่งบางท่านก็บอกว่า 5 ล้านคน แต่ในความเชื่อส่วนตัวของผม ผมคิดว่าตัวเลขดังกล่าวยังน้อยกว่าที่ผมคาดการณ์เยอะครับ เพราะผมดูจาก YouTube ของชาวเมียนมาช่องหนึ่ง ที่ออกอากาศในประเทศไทยเป็นภาษาเมียนมา โดยมีแต่ชาวเมียนมาเท่านั้นที่ติดตามดูช่องดังกล่าว เพราะคนไทยเราไม่สามารถดูได้รู้เรื่องครับ

ช่องดังกล่าวมีผู้ติดตามเข้าชมไม่น้อยกว่า 10 ล้าน View ถ้าหาก 1.5 viewต่อคนตามที่เจ้าของช่องกล่าว นั่นก็หมายความว่า จะต้องมีคนที่เป็นชาวเมียนมาในประเทศไทยเราไม่น้อยกว่า 6-7 ล้านคนเลยทีเดียวครับ ดังนั้นตัวเลขของชาวเมียนมาในประเทศไทยเรา ยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่ามีทั้งหมดอยู่เท่าไหร่ครับ

นอกจากนี้ ถ้าหากเราไปดูตามในตลาดใหญ่ๆในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นตลาดห้วยขวาง ตลาดบางกะปิ ตลาดพระโขนง ตลาดบางบอน หรือตลาดหัวเมืองเช่นที่มหาชัย ฯลฯ ชาวเมียนมาที่ขายปลา-ขายผักสดในตลาด ถ้าไม่เคี้ยวหมากอยู่ในปาก ก็ต้องมีแป้งทานาคาอยู่บนใบหน้าเกือบทั้งนั้น ซึ่งจำนวนของพ่อค้า-แม่ค้าเหล่านั้น ต่างก็พูดภาษาเมียนมากันทั้งนั้น

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมขับรถผ่านไปทางหน้าตลาดบางบอน ก็ได้พบเห็นชาวเมียนมาเดินอยู่หน้าตลาดเยอะมาก เยอะกว่าคนไทยเราเสียอีกครับ ภรรยาผมก็บอกผมว่า เราจะไปโทษเขาไม่ได้หรอกว่า เขาจะยึดตลาดใจกลางเมืองกรุงเทพฯหมดแล้ว เพราะชาวเมียนมาเขาขยันทำงานในโรงงาน ทุกวันนี้ไม่ว่าบริเวณไหน ถ้ามีโรงงานอยู่เยอะ แรงงานเมียนมาก็ต้องเยอะเป็นธรรมดา เพราะเขาต้องออกมาจับจ่ายใช้สอยกัน โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แรงงานเมียนมาก็เหมือนแรงงานต่างชาติในประเทศอื่นๆ ตัวอย่างเช่นที่เกาะฮ่องกง ซึ่งในอดีตช่วงที่ผมเคยไปเปิดร้านอาหารที่นั่นอยู่หลายปี พอถึงวันอาทิตย์ แรงงานชาวฟิลิปปินส์ ก็จะออกมาพบปะสังสรรค์กันที่ครอสเวเบย์ หน้าห้าง SOGO จะเต็มไปด้วยแรงงานฟิลิปปินส์เต็มไปหมดเลยครับ

ปัญหาที่เราเจอะเจอ ถ้าหากรัฐบาลเรายังทำเป็นนิ่งเฉยโดยไม่ดูดำดูดี ปัญหานี้ก็จะยิ่งบานปลายในอนาคต แต่ถ้ามีการได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ผมเชื่อว่าทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา ก็จะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็คงต้องรอดูรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่ต้องมีการบูรณาการร่วมกัน และไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการณ์ที่รุนแรงให้มีการผลักดันแรงงานนะครับ เพราะถึงอย่างไรเราก็ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่ดี แต่เราเพียงจัดการให้เป็นระบบระเบียบที่ดี และมีการคัดกรองคนให้ถูกกับงาน และนำเอาหลัก “เมตตาธรรม” มาใช้กับแรงงานเหล่านี้ ผมเชื่อว่าเราจะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งหมดครับ