นโยบายดึงดูดทรัพยากรบุคคลจากเมียนมา

15 ก.ย. 2567 | 23:30 น.

นโยบายดึงดูดทรัพยากรบุคคลจากเมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับรศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ทางโทรศัพท์ หนึ่งในเรื่องที่พูดคุยกันหนีไม่พ้นเรื่องของ “เมียนมา” ซึ่งเราได้สนทนากันถึงปัญหาที่ในช่วงระยะที่ผ่านมา ได้มีการอพยพของปัญญาชนชาวเมียนมา เข้าสู่ประเทศไทยในคราบของแรงงาน ซึ่งผมมีความเห็นตรงกับอาจารย์ปิติว่า น่าเสียดายที่ประเทศไทยเรา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มปัญญาชนเหล่านี้เลย เพราะมีหลายคนที่เป็นปัญญาชนขั้นหัวกระทิของเมียนมา เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยในคราบของแรงงานทั่วไป โดยไม่ได้แยกแยะว่าเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ บางคนมีความรู้ระดับปริญญาเอก(PHD) แต่มาทำงานเสิร์ฟอาหารในร้านอาหาร เป็นที่น่าเสียดายมาก

ในปัจจุบันนี้ หลายๆ ประเทศได้มีการออกนโยบายเพื่อดึงดูดปัญญาชนเข้าสู่ประเทศของตนเองต่างๆ มากมาย เพราะเขารู้ว่านั่นเป็นการลงทุนในด้านทรัพยากรบุคคล ที่ใช้ต้นทุนของประเทศหรืองบประมาณแผ่นดินที่ต่ำที่สุด ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

ต่างแข่งขันกันออกนโยบายดึงดูดปัญญาชนกันอย่างสนุกสนาน เพราะการที่จะส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศตนเอง ได้เล่าเรียนกันกว่าจะจบการศึกษาระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอกได้ ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปหลายสิบล้านบาทต่อคนเลยทีเดียว แม้การใช้วิธีการดังกล่าว ในส่วนตัวผมคิดว่า เป็นการเอารัดเอาเปรียบประเทศอื่นๆ ที่ในประเทศเขาอาจจะมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือรายได้ไม่สมดุลกับค่าครองชีพ ทำให้ทุกคนที่เดินทางออกไปจากประเทศของตนเอง จึงเป็นที่มาของการขาดดุลทรัพยากรบุคคลไปอย่างน่าเสียดาย ในขณะที่ประเทศที่ออกนโยบายดึงดูดเหล่านั้น ไม่ต้องใช้งบประมาณอะไรเลย กลับคว้าเอาพุงเพียวๆ ไปกินเฉยเลยครับ

บางคนอาจจะค้านผมว่า การเดินทางออกไปหาประสบการณ์ยังต่างประเทศ เพื่อกลับมาพัฒนาประเทศ เป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ผมกลับมองว่า “คนที่ออกไปทำงานยังประเทศที่เจริญแล้ว เขามีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าประเทศตนเอง สะดวกสบายมากกว่า รายได้ก็ดีกว่า ฐานะทางสังคมก็ไม่ได้ด้อยกว่า ถ้าพูดจากความเป็นจริงเท่าที่เห็นมาแล้ว จะมีสักกี่คนที่ยอมกลับมาพัฒนาประเทศละ” นักวิจัยที่อยากจะรู้เรื่องนี้ น่าจะมีใครลองทำวิจัยทางสังคมสักเล่ม แล้วนำเสนอดูนะครับ จะได้รู้ว่าประชาชนที่มีปัญญาทั้งหลาย ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน กว่าจะกลับมาประเทศตนเองได้ บางท่านก็ปาเข้าไปเลยหลักสี่ไปแล้วครับ

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาในวันนี้ เราไม่ได้ออกนโยบายอะไรไปดึงดูดเขาเลย แม้แต่การให้วีซ่าแก่เขายังยากมากๆ หน่ำซ้ำปัญญาชนเหล่านั้น ยังหลบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย เสมือนแรงงานคนหนึ่งด้วยซ้ำไป ผมไปขึ้นเวทีหรือพูดที่ไหนก็ตาม ผมก็มักจะพูดว่าเสียดาย ยกตัวอย่างเช่น พนักงานของผม มีอยู่สามท่านที่จบปริญญาเอกมาสมัครงาน ในช่วงแรกเขาก็ไม่ได้แสดงออกหรืออ้างวุฒิการศึกษาว่าจบปริญญาเอก จนกระทั่งเข้ามาทำงานในฐานะแรงงาน ผมเห็นว่าเขามีแววที่เป็นปัญญาชน ไม่ใช่แรงงานธรรมดา จึงสอบถามดู จึงทราบว่าเป็นบัณฑิตระดับดอกเตอร์ ผมแทบตกใจรีบปรับเงินเดือนให้เลยครับ

บางประเทศเขาเริ่มดึงดูดคนเข้าประเทศ ตั้งแต่เด็กเรียนจบระดับมัธยมปลายเลยครับ เช่นประเทศเยอรมัน เขามีสวัสดิการให้ทั้งทุนการศึกษาและเงินสำหรับใช้ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ประเทศเขาเลยครับ หรือประเทศไต้หวัน ก็มีทุนการศึกษาพร้อมตำแหน่งงานให้ทำ ตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษาเลยครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาล ควรจะหันมามองนะครับ

วันนี้ผมจะขอยกเอาตัวอย่างของประเทศไต้หวัน ที่ผมคุ้นเคยมาเล่าสู่กันฟังก่อน ซึ่งผมอาจจะไม่สามารถเล่าจบได้ในตอนเดียว เพราะหน้ากระดาษมีจำกัด อย่างไรก็ตามผมก็จะนำเอานโยบายของประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจมาเล่าในสัปดาห์ต่อๆ ไปครับ

นโยบายการดึงดูดปัญญาชนเข้าสู่ประเทศของไต้หวัน เริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคผมไปเรียนที่นั่นใหม่ๆ ในยุคนั้นทางการไต้หวัน เขามีนโยบายดึงดูดนักเรียนจีนโพ้นทะเลกลับมาเรียนที่ไต้หวัน โดยไม่ต้องมีคะแนนการสอบเข้าเรียน ขอเพียงนักเรียนเขียนใบสมัครส่งไปให้ทางการเขา พร้อมผลการเรียน เขาก็จะจัดสรรโรงเรียนให้แล้ว ส่วนเกณฑ์คะแนนการสอบผ่าน ก็ต่ำกว่านักเรียนท้องถิ่นถึง 10 คะแนน

กล่าวคือนักเรียนชาวจีนโพ้นทะเล การเรียนผลสอบได้เพียง 50 คะแนนก็สอบผ่าน ส่วนนักเรียนท้องถิ่นต้องสอบให้ได้ 60 ถึงจะผ่าน การสอบเอนทรานซ์เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ก็มีสิทธิพิเศษเหนือกว่านักเรียนท้องถิ่น กล่าวคือนักเรียนชาวจีนโพ้นทะเลก็สอบแข่งขันกันเอง ไม่ต้องไปแข่งขันกับนักเรียนท้องถิ่น เพราะถ้าขืนให้ไปแข่งกับนักเรียนท้องถิ่น คงไม่ต้องหวังว่าจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้เลยสักคนครับ

ต่อมาในต้นศตวรรษที่ 21 การแข่งขันทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมกลายเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ ไต้หวันถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของโลกในยุคดิจิทัล การดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไต้หวัน จึงกลายเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลเขา เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านเทคโนโลยี การวิจัย และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

แต่เหตุผลหนึ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญให้กับไต้หวัน คือการไหลออกของปัญญาชนอย่างรุนแรง ในช่วงก่อนถึงยุคปลายศตวรรษที่ 20 ในยุคนั้นไต้หวันมีนโยบายปิดประเทศเพื่อพัฒนาประเทศ แต่ต่อมาได้เริ่มที่จะเปิดให้ประชาชนของตนเอง สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ จึงมีการเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้อย่างเสรี

เพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนของผมเกือบครึ่งชั้น โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนหัวกะทิ ต่างแห่แหนกันไปสหรัฐอเมริกา บางคนจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ยังคงอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกาไม่ยอมกลับประเทศก็มีอยู่มาก นอกจากนี้ ต่อมาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เริ่มมีนโยบายเปิดประเทศเพื่อพัฒนาในปี 1985 จากนโยบายของท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง ที่สร้างเขตปกครองตนเองที่แรกณ เมืองเสิ่นเจิ้น ได้มีการให้สิทธิพิเศษมากมาย เพื่อดึงดูดปัญญาชนและนักลงทุนจากไต้หวัน เข้าไปร่วมพัฒนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งทำให้กลุ่มคนรุ่นผม ต่างเข้าไปทำมาหากินที่นั่น ซึ่งก็มีบางคนที่ประสบความสำเร็จร่ำรวยมหาศาล (ผมจะนำมาเขียนให้อ่านถึงนโยบายของจีนในโอกาสต่อไปนะครับ) ทำให้ไต้หวันได้รับบทเรียนทั้งผู้ให้และผู้รับผลกระทบ จากนโยบายดึงดูดปัญญาชนเข้าสู่ประเทศของจีนแผ่นดินใหญ่ครับ 

พอมาในยุคนี้ ไต้หวันได้เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย นอกจากจะเป็นปัญญาชนชาวจีนโพ้นทะเลจากประเทศในแถบเอเชียแล้ว ยังออกไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้ว ผมเองเคยเจอนักเรียนจากแอฟริกาตัวดำๆ เดินชมนิทรรศการในเมืองเจียยี่ เมื่อครั้งที่ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะของสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทยในปีที่ผ่านมานี้ ยังรู้สึกแปลกใจว่า เอ๊ะ...ทำไมมีเด็กสาวๆ ตัวดำเมี่ยม เดินปะปนอยู่กับกลุ่มนักเรียนมัธยมของไต้หวัน จึงเข้าไปพูดคุยดู ผมสอบถามเขาเป็นภาษาอังกฤษ เขากลับตอบผมเป็นภาษาจีนเฉยเลยครับ แสดงว่าไต้หวันได้เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายดึงดูดปัญญาชนเสียแล้ว หรือว่ากลุ่มเดิมๆ เริ่มจะร่อยหรอเสียแล้วครับ

ว้า....เสียดายหน้ากระดาษหมด อาทิตย์หน้าเรามาว่ากันต่อนะครับ มีนโยบายอีกหลายประเทศที่ผมอยากนำมาเขียนให้อ่าน เพื่อเราจะได้เปลี่ยนมุมมองต่อชาวปัญญาชนจากเมียนมา เผลอๆ ท่านกลับไปถึงบ้าน ลองสอบถามแม่บ้านที่บ้านตนเองดู ว่าเขาเรียนจบระดับไหน? ถ้าเป็นชาวมอญ ชาวพม่าแท้ๆ ท่านอาจจะกำลังจ้างเด็กปริญญาหรือ ปริญญาโทมาทำงานแม่บ้านอยู่ก็ได้ครับ