นโยบายดึงดูดทรัพยากรบุคคลจากเมียนมา 2

22 ก.ย. 2567 | 22:30 น.

นโยบายดึงดูดทรัพยากรบุคคลจากเมียนมา 2 คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เล่าเรื่องการดึงดูดทรัพยากรมนุษย์ ระดับปัญญาชนของไต้หวัน ลามไปถึงประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ในอดีตและปัจจุบันได้ใช้นโยบายดังกล่าว ในการนำมาพัฒนาประเทศที่ประสบความสำเร็จมากๆ ไม่น่าเชื่อว่าได้สร้างความสนใจจากเพื่อนๆ ที่มีทั้งแฟนคลับทั่วไปและสื่อมวลชนต่างๆ ที่เขาอาจจะมีความสงสัยมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้มีคนล้วงลึกเข้าถึงประเด็นนี้

วันนี้เลยต้องขอเจาะลึกลงไปอีกอย่างต่อเนื่องนะครับ เอาจริงๆ แล้วโอกาสของประเทศไทยเรานั้น ได้เคยมีโอกาสงามๆ มาแล้วสองระลอกใหญ่ แต่เสียดายที่เราไม่ได้เก็บเอาโอกาสนั้น และนำมาขยายให้เป็นจริงเป็นจังต่อไป ผมขอยกมาให้พวกเราอ่านดู เพื่อจะได้ติดตามเรื่องนี้อย่างมีรสชาตินะครับ

ในอดีตเราเคยมีอคติกับประเทศที่เขาล้าหลังเรา ตัวอย่างเช่น ประเทศเวียดนาม ลาว หรือกัมพูชา ในยุคนั้นเราก็ไม่เคยมองว่าที่ไหนมีดีก็ต้องมีไม่ดี ที่ไหนมีคนจนก็ต้องมีคนรวย ที่ไหนมีคนโง่ก็ต้องมีคนฉลาด เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ในช่วงปี 2518 เวียดนามชนะสงครามแบ่งแยกสองเวียดนามเหนือ-ใต้ และใช้ลัทธิคอมมิวนิสต์มาปกครองประเทศ ทำให้มีประชาชนชาวเวียดนาม หลบหนีออกจากประเทศอย่างมากมาย ส่วนหนึ่งก็ลอยแพข้ามน้ำข้ามทะเลมาที่ประเทศไทยก็มี

ต่อมาประเทศกัมพูชาและประเทศลาว ก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นกัน และก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับเวียดนาม สถานที่แรกที่เขาคิดถึงและเข้ามาหลบภัยสงคราม ก็คือชายแดนของประเทศไทย ในยุคนั้นเราจะเห็นประเทศตะวันตก ได้อาศัยวาทกรรมและพฤติกรรมจากคำว่า “เพื่อมนุษยธรรม” เข้ามาใช้ค่ายศูนย์อพยพเหล่านั้น มาสอบคัดเลือกเอาปัญญาชนชั้นหัวกระทิของผู้อพยพทั้งหมด แล้วก็ขนเอากลับไปประเทศเขา

หากมองในแง่ของมนุษยธรรมตามที่เขากล่าวอ้าง เราอาจจะเห็นด้วยและคล้อยตามเขา แต่ถ้ามามองอีกมุมหนึ่ง ผมคิดว่าเขากำลังเขาตักตวงมาเอาผลประโยชน์ของปัญญาชนหรือทรัพยากรมนุษย์  ที่เขาได้หยิบยื่นเศษเนื้อก้อนเล็กๆ ให้ สิ่งที่เขาได้ไปนั้นมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งต่อมาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขาเหล่านั้นได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า-การลงทุน ด้านเทคโนโลยี ด้านนวัตกรรมที่ได้มาจากคนผิวสีเหลืองอย่างพวกผู้อพยพเหล่านนั้น ได้ไปสร้างคุณูปการให้แก่ประเทศเขาในปัจจุบันนี้เลยครับ

ในขณะที่ประเทศไทยเรา ที่เคยให้ที่พักพิงในยามยากแก่ผู้อพยพ ก็เหลือไว้ซึ่ง “ซากของค่ายศูนย์อพยพ” และแรงงานที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือทิ้งไว้ให้เราไว้เป็นอนุสรณ์ เพราะเราเป็นเพียงสะพานทางผ่านหรือม้าอารีย์ให้แก่เขาเท่านั้นครับ 

เรามาดูกันที่นโยบายที่ประเทศต่างๆ เขาได้เริ่มดำเนินการดึงดูดเอาทรัพยากรมนุษย์ไปอยู่ที่ประเทศเขา ที่เป็นรูปธรรมแบบฮาร์ดเซลส์จริงๆ ก็มีอยู่หลายประเทศ ครั้งที่แล้วผมพูดถึงไต้หวันและเลยเถิดไปที่จีนแผ่นดินใหญ่ไปนิดนึง นั่นคือ “เขตปกครองตนเองฮ่องกง” หลังจากที่ฮ่องกงได้กลับสู่อ้อมอกของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ทรัพยากรมนุษย์ก็ไหลไปอยู่ต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันฮ่องกงต้องมีการออกนโยบายที่มุ่งเน้นดึงดูดบุคลากร ผู้มีความรู้ความสามารถจากต่างประเทศ เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี การเงิน และการวิจัย นโยบายเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายาม ในการส่งเสริมเศรษฐกิจของฮ่องกงให้เติบโตอย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับสากล

หนึ่งในนโยบายหลักของฮ่องกง ที่เกี่ยวข้องกับการดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้สูง หรือกลุ่มปัญญาชนก็คือ "Quality Migrant Admission Scheme" (QMAS) ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีทักษะและความรู้สูงจากต่างประเทศ สามารถย้ายเข้ามาทำงานและพำนักในฮ่องกงได้ โดยโครงการนี้ไม่มีข้อกำหนดเรื่องการมีงานทำในฮ่องกงล่วงหน้า ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่มีศักยภาพสูง สามารถเข้ามาทำงานในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศ การเงิน การแพทย์ หรือวิทยาศาสตร์ ผมเองก็เคยได้รับโทรศัพท์จากน้องๆ ที่อาศัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ที่อยากจะเข้าเรียนในประเทศไทย เพื่ออัพเกรดตัวเอง โดยจะใช้หลักฐานการศึกษาไปยื่นเรื่องขออาศัยในฮ่องกงนี่แหละครับ

นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีนโยบายส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม โดยให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยจากต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในฮ่องกง เช่น โครงการทุนสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นนำ ซึ่งเป็นการดึงดูดนักวิจัยและบุคลากรวิชาการให้เข้ามาพัฒนาโครงการวิจัยในฮ่องกง อีกทั้งยังเป็นการรวมถึงเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์วิจัยและบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกต่อไป

ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันนี้ ฮ่องกงยังถือเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ที่มีความสำคัญในภูมิภาคเอเชีย การมีระบบการเงินและตลาดทุนที่เข้มแข็ง ช่วยให้บุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนสนใจที่จะเข้ามาทำงานในฮ่องกง ลูกสาวของเพื่อนผมที่อยู่ในอังกฤษ ยังเข้ามาทำงานในฮ่องกงเลยครับ

นอกจากนี้ฮ่องกงยังมีนโยบายภาษี ที่ค่อนข้างจะเป็นมิตรต่อผู้ประกอบการและบุคคลที่มีรายได้สูง ทำให้เป็นสถานที่น่าสนใจสำหรับนักธุรกิจทั่วไป และบุคคลที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม การผสมผสานระหว่างโอกาสทางเศรษฐกิจ และการให้ความสนับสนุนด้านวิชาการของภาครัฐ ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง ที่ดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วโลก

ตัวอย่างของการที่นโยบายส่งเสริมดังกล่าว รวมทั้งกลยุทธ์ในการดึงดูดบุคลากรทางปัญญา สามารถนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมที่ยั่งยืนของฮ่องกง การลงทุนในการศึกษา การสนับสนุนด้านการเงิน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าสนใจสำหรับบุคลากรผู้มีความสามารถเหล่านี้ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ฮ่องกงอย่างชัดเจนครับ

ยังมีอีกหลากหลายประเทศที่น่าสนใจ อาทิตย์หน้าผมจะนำมาเสนอให้อ่านต่อนะครับ เพื่อที่จะได้ปรับมุมมองและปรับทัศนคติที่มีต่อปัญญาชน ของเพื่อนบ้านของเรา อย่างเช่นประเทศเมียนมา กัมพูชาและสปป.ลาว ที่ผมเชื่อว่าในกลุ่มของแรงงานเหล่านั้น ย่อมมีระดับปัญญาชนปะปนอยู่อย่างแน่นอนครับ