เมื่อคืนที่ผ่านมา ผมเพิ่งเดินทางกลับจากกรุงย่างกุ้ง จึงอยากจะเล่าสิ่งที่ได้เห็นมาให้เพื่อนๆฟังก่อนเข้าสู่เรื่องของนโยบายดึงดูดทรัพยากรบุคคลจากเมียนมา ต่อจากอาทิตย์ที่ผ่านมาสักนิดนะครับ
ปลายอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ผมได้เดินทางมาร่วมงาน Thai Festival 2024 ที่กรุงย่างกุ้ง ซึ่งจัดโดยสถานทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง โดยมีสำนักงานพาณิชย์ไทยประจำกรุงย่างกุ้ง สภาธุรกิจไทย-เมียนมา สมาคมนักธุรกิจไทยในประเทศเมียนมา (TBAM) ร่วมมือกันช่วยเหลือให้งานนี้ประสบความสำเร็จ ในงานนอกจากมีการแสดงสินค้าแล้ว ยังมีการจัดการประกวดร้องเพลงไทย โดยมีผู้สมัครชาวเมียนมา เข้ามาร่วมแข่งขันขับร้องเพลงไทย ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนร้องได้เก่งกาจ อีกทั้งสำเนียงภาษาไทยที่ชัดเจน น่าชื่นชมที่วัยรุ่นเมียนมาให้ความสนใจในเพลงไทยเป็นอย่างยิ่งครับ ส่วนรายละเอียดต่างๆ ของการเดินทางไปเมียนมาครั้งนี้ ไว้โอกาสหน้าจะเขียนมาให้อ่านครับ
ขอเข้าสู่เนื้อหาเลยนะครับ บทความคราวที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงฮ่องกง ที่หลังจากกลับเข้าสู่อ้อมอกของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว ได้มีการใช้นโยบายดึงดูดทรัพยากรจากประเทศอื่นทั่วโลกเข้าไปทำงานที่นั่น ในขณะที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเอง ก็มีนโยบายเช่นนี้เช่นกัน ซึ่งจีนเขาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ในการดึงดูดทรัพยากรบุคคลจากทั่วทุกมุมโลก เข้าไปสู่ประเทศตนเอง
โดยเฉพาะช่วงยุคการเปลี่ยนแปลงของท่านประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยว ผิง ที่ใช้ดึงดูดปัญญาชนจากไต้หวันในการพัฒนาเสิ่นเจิ้น ในเป็นเขตปกครองตนเองพิเศษ ตามที่ผมได้เล่าคร่าวๆ ไปแล้ว ในการดึงดูดปัญญาชนจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศ โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้เปิดโครงการ "Thousand Talents Program" ที่มุ่งดึงดูดนักวิจัยชั้นนำ นักวิทยาศาสตร์ ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เข้ามาร่วมพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
การพัฒนาของจีนในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมถึงการลงทุนในโครงการทางการวิจัยและนวัตกรรม ทำให้จีนกลายเป็นจุดหมายที่น่าสนใจสำหรับบุคลากรที่มีความสามารถจากทั่วโลก นอกจากนี้ ทางการจีนก็เคยใช้นโยบายดึงดูดชาวจีนโพ้นทะเล กลับเข้าไปอาศัยอยู่ในจีนได้อย่างถาวร แต่นโยบายดังกล่าวเท่าที่ผมได้เห็น เขาได้ใช้เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น ในส่วนตัวผมคิดว่า น่าจะเป็นเพราะถึงจุดอิ่มตัวแล้วก็ได้ครับ
อีกประเทศหนึ่งที่เราไม่คาดคิดว่าจะมีแต่ก็มีนโยบายนี้เช่นกัน นั่นคือประเทศญี่ปุ่น แม้ญี่ปุ่นจะมีวัฒนธรรมและประเพณีที่แข็งแกร่ง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับนโยบายการย้ายถิ่นฐาน เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลน เช่น วิศวกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และการพยาบาล
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีนโยบายที่สนับสนุนการทำงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งช่วยให้ประเทศสามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาช่วยพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ อาจจะเป็นเพราะว่าประเทศญี่ปุ่นเองประชากรเขามีมากถึง 124 ล้านกว่าคนในปี 2023 แต่ประชากรชาวญี่ปุ่นได้ลดลงอย่างมีนัยยะ เป็นเวลาติดต่อกัน13 ปีมาแล้ว อีกปัจจัยหนึ่ง คือประชากรของเขามีอายุยืนมากขึ้น ดูได้จากจำนวนผู้สูงอายุ 75 ปีขึ้นไป ได้ทะลุเกินกว่า 20 ล้านคนไปแล้ว ทำให้ญี่ปุ่นต้องกังวลถึงจำนวนคนวัยทำงาน
อีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่คนหนุ่มสาวได้เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งในอดีตคนวัยตั้งแต่ 18 ปีเป็นต้นไป เขาได้ให้คำนิยามว่า “成人” อ่านว่า เซจิ่น หรือที่แปลว่า “เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว” ซึ่งทุกคนต้องมีงานประจำที่มั่นคงทำ แต่ในยุคปัจจุบันนี้ คนเหล่านี้กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการทำงานที่มั่นคง แต่กลับให้ความสำคัญต่อการมี “อิสระเสรี” มากกว่า จึงทำให้คนที่อยู่ในวัยทำงานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นได้เริ่มขาดแคลน รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายดึงดูดให้ชาวต่างชาติที่เป็นปัญญาชน เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นมากขึ้นนั่นเอง
นอกจากนั้นยังมีอีกประเทศ คือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ไม่ไกลจากเรา ก็เป็นประเทศที่มีนโยบายในการดึงดูดปัญญาชนจากทั่วโลก โดยเฉพาะในสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น เทคโนโลยี การเงิน และการแพทย์ โดยใช้โครงการ "Global Investor Program" ของสิงคโปร์ ซึ่งก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนและบุคลากร ที่มีความสามารถสูงจากต่างประเทศ สามารถพำนักและทำงานในสิงคโปร์ได้อย่างสะดวก
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เช่น National University of Singapore (NUS) ซึ่งเป็นที่ยอมรับระดับโลก และเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและการวิจัย ที่สามารถใช้ดึงดูดบุคลากรจากทั่วโลก เข้ามาพัฒนาองค์ความรู้ในประเทศ ดังนั้นจะเห็นว่าเขาได้วิ่งหนีเราไปมากแล้วจริงๆ และยิ่งนานวันยิ่งไกลออกไปเรื่อยๆ แล้วละครับ
เราจะเห็นว่า ประเทศต่างๆ ในโลกนี้ ต่างก็ไม่อยากที่จะเสียเวลาในการลงทุนสร้างทรัพยากรบุคคล และต่างก็ใช้นโยบายไปดูดเอาปัญญาชนจากประเทศอื่นๆไปใช้ เพราะนอกจากจะไม่ต้องเสียเวลาในการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กๆแล้ว ยังสามารถคัดเลือกเอาเฉพาะหัวกระทิไป ไม่ต้องเสียงบประมาณทางการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญา ซึ่งงบประมาณดังกล่าว สามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศตนเองในด้านอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นการใช้วิธีฉลาดแกมโกง หรือเอารัดเอาเปรียบประเทศที่ด้อยกว่าก็ตาม
อย่างไรก็ดี “ดูหนังดูละคร แล้วกลับมาย้อนดูตน” เราคงนั่งดูชาวบ้านแล้วนิ่งเฉยก็ไม่ได้แล้วละครับ วันนี้เราคงต้องช่วยกันสะท้อนไปยังรัฐบาล ว่าเราควรใช้นโยบายอย่างไรต่อไป ทุกวันนี้ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ อาทิเช่น เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา แม้เราจะไม่ได้ไปเชื้อเชิญหรือไม่ได้ไปดึงดูดเขา เขาก็วิ่งเข้ามาหาเราเอง หากเรามีหน่วยงานที่สามารถคัดกรองคนเหล่านี้ แล้วใช้หน่วยงานดังกล่าว เป็นแม่ข่ายในการดำเนินการคัดกรอง เราอาจจะได้รับในสิ่งที่เราคาดไม่ถึงจากกลุ่มแรงงานเมียนมาก็ได้ครับ