พักหลังๆ มาสักสอง-สามปีมานี้ ผมเริ่มรู้สึกตัวว่าความจำของผม จะไม่ค่อยเหมือนเก่าก่อน เพราะหากนึกอยากจะทำอะไรแล้ว ถ้าหากไม่ได้ลงมือทำเลย ทิ้งช่วงไว้ไม่ถึงวัน ก็อาจจะลืมไปเลย มานึกขึ้นได้อีกทีก็จำไม่ได้เสียแล้วว่าจะทำอะไร หรือบางครั้งกำลังพูดคุยอยู่กับเพื่อนอยู่ดีๆ มีงานอื่นเข้ามาตัดบทสนทนา พอผ่านไปก็จำไม่ได้เสียแล้วว่าจะพูดเรื่องอะไร จึงเกิดคำถามถึงตัวเองว่า หรือว่าเราแก่ตัวแล้วหรือนี่?
อันที่จริงคนแก่ทุกคน จะเป็นลักษณะเช่นนี้อยู่เสมอ เหตุเพราะว่าความจำมักจะลดน้อยถอยลงตามอายุขัยของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก บางคนก็มักจะบอกว่า ให้หาใบแปะก๊วยมาทานเพื่อบำรุงสมอง หรือบางคนก็หาอาหารเสริมมาทานกัน โดยส่วนตัวผมคิดว่า ยังไม่จำเป็นถึงขนาดนั้นก็น่าจะได้ เพราะปัจจุบันนี้การใช้โภชนาการบำบัด สำหรับคนที่พอจะมีอันจะกินทั่วไป ก็ไม่ได้ขาดสารอาหารจนกระทั่งทำให้คุณค่าของอาหารขาดหายไป ความจำเป็นที่จะต้องหาอาหารเสริมมาทดแทนก็คงยังไม่มีความจำเป็นครับ
สาเหตุที่ทำให้สมองของผู้สูงอายุเสื่อมถอยจะมีหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อคนเราอายุมากขึ้น การฝ่อตัวของเซลล์สมองที่เสื่อมไปตามธรรมชาติ ซึ่งมีปัจจัยต่างๆที่ส่งเสริมให้เกิดภาวะนี้ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคโพรงสมองคั่งน้ำ โรคอัลไซเมอร์ หรือขาดฮอร์โมนไทรอยด์ หรือวิตามินบี 12 หรือบางคนก็อาจจะเกิดเนื้องอกในสมอง จึงทำให้สมองเสื่อมสภาพลง
แต่ก็มีบางคนที่เกิดจากกรรมพันธุ์ที่เป็นมาแต่กำเนิดก็มี บางคนก็อาจจะเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่รักตัวเอง เช่นชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่จัด หรือไม่ยอมออกกำลังกาย บางคนก็เริ่มมาจากอาการเครียดมากจนเกินไป อาการหรือพฤติกรรมที่กล่าวมานี้ ล้วนแล้วแต่สามารถทำให้ผู้สูงอายุเกิดมีการเสื่อมถอยต่อความจำได้เช่นกันครับ
อาการที่ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการหลงๆ ลืมๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อม หากเราไม่รู้ตัวว่าควรเริ่มระมัดระวังสุขภาพของตนเอง ก็สามารถส่งผลให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ได้เสมอ ซึ่งในระยะแรกๆ อาจจะเริ่มจากการสูญเสียความจำเล็กน้อย โดยเฉพาะเรื่องในปัจจุบัน หลงลืมสิ่งของบ่อยๆ (ไม่ต้องไปว่าคนอื่น ภรรยาผมก็เป็นครับ....แฮ่)
ต่อมาก็จะพัฒนาเข้าสู่ระยะกลาง ด้วยการเริ่มจำชื่อบุคคลหรือสถานที่ไม่ได้ บางคนถึงกับลืมประวัติของตัวเองไปเลยก็มีครับ บางคนก็สับสนในเรื่องของวันเวลา (แต่ต้องห้ามลืมวันเกิดภรรยานะครับ เดี๋ยวเป็นเรื่อง....) ลืมแม้กระทั่งสถานที่สำคัญในชีวิตของตนเอง ในระยะสุดท้าย ถ้าอาการหนักเข้าอาจไม่สามารถจำอะไรได้เลย ไร้การตอบสนองต่อสิ่งเร้าอารมณ์ต่างๆ จากนั้นจะค่อยๆ พัฒนาเข้าสู่โรคสมองเสื่อม หรือบางคนอาจจะเข้าสู่โรคอัลไซเมอร์ได้เลยครับ
เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มมีอาการเช่นนั้น สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป อาจจำเป็นต้องเข้าสู่โปรแกรมบำบัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาต่อไป โดยที่ผู้สูงวัยสามารถทำเองได้ คือวิธีง่ายๆ ก็สามารถหาซื้ออาหารเสริม ที่มีการโฆษณาต่างๆ มาทานเองก็ได้ แต่ถ้าไม่อยากเสียเงิน ก็ต้องเริ่มจากการใช้โภชนาการบำบัด ด้วยการหาอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสมองมาทานเองก็ได้เหมือนกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็สามารถสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตได้เยอะแยะ ไม่ยุ่งยากเลย ถ้าหากเราไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ ก็ใช้ลูกหลานช่วยสืบค้นหาให้ก็ได้เช่นกันครับ
บางท่านอาจจะถามว่า แล้วนอกจากการทานอาหารเสริม หรืออาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสมองแล้ว ยังมีวิธีไหนที่สามารถช่วยให้ความจำเรากลับคืนสู่สภาพปกติได้มีหรือไม่? ต้องตอบว่ามีครับ ที่สถานบ้านพักคนวัยเกษียณของผม เราก็ใช้วิธีการฝึกสมองเข้ามาช่วยบำบัดให้แก่คนวัยเกษียณอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็ได้ผลเหมือนกัน แม้จะไม่สามารถกลับมาได้เต็มร้อยเหมือนคนหนุ่มสาว แต่ก็ช่วยได้เยอะทีเดียว
วิธีการที่เราใช้ คือการใช้มือในการฝึกฝนด้วยท่าต่างๆ ให้ผู้สูงวัยทำตาม เช่นใช้นิ้วทั้งสองด้าน สลับซ้ายขวาชี้กันไปมา ด้วยการชูนิ้วนับหนึ่งถึงสิบ ให้ผู้สูงอายุทำตาม แรกๆ อาจจะผิดๆ ถูกๆ บ้าง หรือช้าไปบ้าง ก็ค่อยๆ ทำไป พอทำจนชำนาญ ก็จะเรียกความจำได้เช่นกัน หรือการกระตุ้นให้ผู้สูงอายุรับรู้เหตุการณ์ในปัจจุบัน โดยหาข่าวต่างๆ มาเล่าให้ผู้สูงวัยฟัง แล้วจะค่อยๆ ถามย้อนกลับไปมา เพื่อกระตุ้นสมองของผู้สูงวัย หรือหากิจกรรมอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความคิดของผู้สูงวัยแต่ละคน มากระตุ้นสมอง เช่น การอ่านหนังสือ การฝึกจำใบหน้าบุคคลต่างๆ รวมทั้งให้ผู้สูงวัยแต่งกายด้วยตนเอง การทายสิ่งของ การเล่นเกมส์เลือกสีของลูกบอลที่ไหลผ่านสายตา ให้จำเพาะเจาะจงสีใดสีหนึ่ง ซึ่งผู้สูงวัยจะชอบเล่นมาก หรือการให้ผู้สูงวัยเล่นไพ่ผสมสิบ ที่ไม่ใช่เป็นการพนัน นี่ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่คุณยายที่พักอยู่ที่เรา ท่านชอบเล่นมากๆ เลยครับ
นอกจากนี้ เรายังมีการกระตุ้นความจำในอดีต ด้วยการดูรูปภาพดาราเก่าๆ บางครั้งก็จะเอารูปภาพของเพื่อนเก่าๆ ของท่าน แล้วเราจะถามว่ารูปภาพบุคคลท่านนี้ชื่อว่าอะไร? ถ้าท่านทายถูกก็จะมีการให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ อีกกิจกรรมหนึ่ง ที่ผู้สูงวัยจะชอบมากๆ คือการทายชื่อเพลงเก่าๆ ในอดีต โดยเปิดเพลงให้แข่งกันทาย ใครทายถูกก่อนก็จะได้รางวัล เกมส์ต่างๆเหล่านี้ สามารถช่วยกระตุ้นความทรงจำให้แก่ผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดีทีเดียวครับ
จะเห็นว่าผู้สูงวัยที่มีความจำเลอะเลือน ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถฟื้นความจำได้ หากผู้บริบาลรู้จักวิธีทำการกระตุ้นความทรงจำของท่าน ก็สามารถจะช่วยท่านมากทีเดียว แต่วิธีต่างๆ เหล่านั้น อาจจะเหมาะกับผู้สูงวัยที่อยู่ในสถานะที่สูงวัยจริงๆ แต่หากเป็นผู้สูงวัยที่ยังแข็งแรงหรือมีความสามารถช่วยเหลือตัวเองได้อยู่ อาจจะไม่เหมาะสมก็ได้ เราอาจจะหาหนังสือที่อ่านแล้วไม่น่าเบื่อให้ท่านอ่าน หรือใช้ดนตรีหรือเสียงเพลงให้ท่านได้ฟัง ก็น่าจะเหมาะสมกว่าก็ได้ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด ต้องแล้วแต่ปัจเฉกบุคคลไปครับ