สภาพร่างกายที่เสื่อมถอยของผู้สูงวัย

25 ส.ค. 2566 | 21:30 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2566 | 23:16 น.

สภาพร่างกายที่เสื่อมถอยของผู้สูงวัย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมดูงานที่โรงงานผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งที่จังหวัดชลบุรี โดยร่วมไปกับกลุ่มนักเรียนเก่าไต้หวัน ดีใจมากที่ได้พบเพื่อนเก่า ๆหลายท่าน บางท่านก็ไม่ได้เจอกันมาร่วมสี่สิบปี จนเขาเองก็จำเราไม่ได้มีแต่เรายังจำเพื่อนได้เสมอ ซึ่งแต่ละคนก็ล่วงเข้าสู่วัยสูงอายุด้วยกันทั้งนั้น 

มีเพื่อนท่านหนึ่งบอกว่า เพิ่งจะได้ออกจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่บ้านได้ไม่นาน ผมจึงถามไปว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงได้ไปนอนพักที่โรงพยาบาล เขาเล่าว่าพลัดตกจากบันไดที่ปีนขึ้นไปเปลี่ยนหลอดไฟฟ้า ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ต้องเข้าไปผ่าตัดและนอนโรงพยาบาลพักฟื้นอยู่หลายวัน ซึ่งผมก็บอกไปว่า พวกเราอายุเริ่มมากแล้ว ต้องระมัดระวังร่างกายให้มากๆ

ควรจะต้องหลีกเลี่ยงการปีนป่ายบันไดหรือการปีนต้นไม้โดยเด็ดขาด เพราะถ้าพลัดตกลงมา คงจะมีปัญหาตามมาอีกเยอะ อย่าคิดว่าตนเองยังอายุไม่เยอะหรือยังไหวอยู่ เพราะโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุมีสูงกว่าคนอายุน้อยๆ ที่ยังแข็งแรงอยู่ เราแก่แล้วนะ!

ผู้สูงวัยบางครั้งก็ไม่ทราบว่าตนเองแก่แล้ว เพราะความเคยชินคิดว่าตนเองเคยทำได้อย่างไม่มีปัญหา แต่การพลัดตกจากที่สูงนั้น อาจจะเป็นเพราะสาเหตุหลากหลายประการด้วยกัน เช่น ความดันโลหิตที่จะทำให้เกิดอาการหน้ามืดขึ้นมาได้ เมื่ออยู่บนที่สูงกว่าปกติ และความดันโลหิตเพิ่มขึ้นกะทันหัน ก็จะทำให้มีอาการสมองสั่งการไม่ได้ตามปกติ โอกาสที่จะพลัดตกลงมามีสูงมาก อีกประการหนึ่ง อาจจะเกิดขึ้นจากการมองของสายตาเรา ที่เมื่อก้มๆ เงยๆ ก็จะทำให้มองเห็นไม่ถนัดหรืออาการหน้ามืด ก็จะทำให้พลัดตกลงมาได้เช่นกัน
         
สภาพร่างกายของมนุษย์ ย่อมมีการเสื่อมถอยเป็นเรื่องธรรมดา บางคนอาจจะเกิดจากอาการเจ็บป่วย บางคนอาจจะเกิดจากกรรมพันธุ์ที่เป็นมาแต่กำเนิด บางคนอาจจะเกิดจากอุบัติเหตุ หรือบางคนอาจจะเกิดจากเสพเอาสิ่งไม่ควรเสพเข้าไปสู่ร่างกาย ก็จะทำให้มีอาการเสื่อมถอยทางสมรรถภาพของร่างกายได้ 

ดังนั้นคนที่สภาพร่างกายไม่ปกติ ใช่ว่าจะมีแต่ผู้สูงวัยเท่านั้น จากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว อาจจะทำให้บางคนแม้จะเป็นคนวัยยังไม่มากนัก ก็สามารถเกิดอาการผิดปกติทางร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งไม่มีใครอยากที่เป็นผู้ไร้ความสามารถหรอกครับ นอกจากว่าโชคร้ายที่เกิดขึ้นกับตัวเองเท่านั้น ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ดังนั้นคนใกล้ชิดต้องเฝ้าระมัดระวังดูแล หากญาติสนิทมิตรสหายได้มีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นครับ

ที่สำคัญที่สุดนอกจากจะช่วยดูแลด้านต่างๆ แล้ว ยังจำเป็นต้องเข้าใจวิธีการดูแลขั้นพื้นฐาน ที่บางครั้งเราอาจมองข้ามได้ครับ เช่น หากเรามีญาติสนิทที่เราต้องดูแลเขา ในกรณีที่มีปัญหาด้านการเดินเหิน หรือเกิดอาการเป็นอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ขึ้นมา เราต้องหาอุปกรณ์การช่วยพยุงตัวที่เหมาะสมกับตัวเขามาใช้ทุ่นแรงเรา 

บางคนอาจจะไม่เข้าใจ คิดว่ารถเข็นก็คือรถเข็น ไม่ได้ใส่ใจว่าเหมาะสมกับตัวของผู้ป่วยหรือไม่? เพราะบางครั้งรถเข็นที่มีขนาดใหญ่เกินไป อาจจะทำให้เกิดอาการพลัดตกหกล้มได้ง่าย หรือรถเข็นที่มีขนาดเล็กกว่าตัวของผู้ป่วยมากเกินไป ก็จะทำให้ผู้ป่วยนั่งไม่สบาย หรือการลุกขึ้นมาลำบาก ก็สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้ง่าย

ดังนั้นรถเข็นจะต้องพอเหมาะกับตัวของผู้ป่วยเอง บางคนคิดว่ารถเข็นมือสองหรือของเก่า ที่ขนาดของผู้ป่วยเดิมใช้อยู่พอดีตัว  ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะเหมาะกับตัวผู้ป่วยรายที่จะมาใช้ต่อจากคนเดิม ก็จะเกิดปัญหาได้เช่นกัน บางครั้งการประหยัดมากจนเกินงาม ก็จะสร้างปัญหาได้เช่นกันครับ
        
ไม้เท้าสำหรับผู้สูงวัยหรือผู้ป่วย ก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่จะต้องระมัดระวัง เพราะหากไม้เท้าที่ใช้ มีขนาดต่ำเกินไป ผู้ใช้จะต้องก้มตัวลงมากกว่าปกติ โอกาสที่จะเกิดอาการหน้ามืดได้เช่นกัน เราควรจะต้องหาไม้เท้าที่ขนาดเหมาะมือ ไม่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป  การใช้ไม้เท้าพยุงตัวจึงจะเหมาะสม ไม่ทำให้เกิดอาการพลัดตกหกล้มได้ง่ายนั่นเองครับ
         
เข็มขัดรัดตัวผู้สูงวัย ก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญสำหรับผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ เพราะผู้ป่วยประเภทนี้ แม้จะสามารถเดินเหินได้ แต่ก็ไม่สามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวเหมือนบุคคนธรรมดาทั่วไป ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีเข็มขัดรัดตัว เพื่อให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเขา ได้คว้าตัวเข็มขัดเวลาที่ผู้สูงวัยกำลังจะล้ม ซึ่งวิธีการคว้าตัวที่เหมาะสมที่สุด คืออย่าคว้าจับส่วนอวัยวะของผู้สูงวัย เพราะอาจจะทำให้จับไม่อยู่ อาจจะทำให้ล้มทั้งผู้คว้ากับผู้ถูกคว้าได้ 

ดังนั้นพอผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยกำลังจะล้ม ให้รีบคว้าที่เข็ดขัดรัดตัว ซึ่งเข็ดขัดชนิดนี้จะหนาและใหญ่กว่าเข็มขัดทั่วๆ ไปมาก และมีหูสำหรับจับอยู่ด้านหลังของตัวผู้สูงวัย โอกาสที่ผู้สูงวัยจะล้มจึงลดลง ดังนั้นอย่าได้อายที่จะซื้อเข็มขัดชนิดนี้ให้ผู้สูงวัยใส่ เพราะนั่นเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้ตัวผู้สูงวัยเองครับ
         
อย่างไรก็ตามผู้สูงวัยหรือผู้ป่วย จะต้องให้ความร่วมมือกับผู้ที่ดูแลหรือญาติมิตรใกล้ชิด หากยังอยากที่จะมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างมีความสุข ไม่ว่าสภาพร่างกายที่ไม่ปกติ ก็สามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องนอนติดเตียง และจะต้องช่วยตัวเองให้มากๆ พูดง่ายๆ ก็คือ “ต้องอย่าดื้อ” นั่นเองครับ