สี่ช่วงชีวิตของคนสูงวัย

04 ส.ค. 2566 | 21:27 น.

สี่ช่วงชีวิตของคนสูงวัย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวานผมได้รับไลน์จากเพื่อนแฟนคลับ ที่ส่งช่วงชีวิตของคนสูงวัยมาให้ แต่ที่ท่านให้มานั้น เป็นช่วงที่อ่านดูแล้ววังเวงใจน่าดู สำหรับผู้สูงวัยที่ดูเหมือนจะไม่มีอนาคตเอาเสียเลย ผมจึงอยากจะนำมาแชร์ให้พวกเราลองอ่านดู แล้วลองช่วยกันคิดว่าเราจะทำอย่างไร ให้ชีวิตที่เหลืออยู่ของผู้สูงวัย ให้มีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีความรู้สึกว่าตนเองมีชีวิตอยู่อย่างรอวันไปเท่านั้น
           
ในบทความที่เพื่อนท่านส่งมาให้ ได้แบ่งชีวิตวัยเกษียณอายุไว้ 4 ช่วงด้วยกัน คือช่วงหลังวัย 60 ปี ช่วงหลังวัย 70 ปี ช่วงหลังวัย 80 ปี และช่วงหลังวัย 90 ปี ซึ่งได้ให้ความหมายว่า แต่ละช่วงชีวิตดังกล่าว ชีวิตจะถูกกำจัดสิ่งต่างๆ ออกจากตัวผู้สูงวัยโดยอัตโนมัติ เช่น หลังวัย 60 ปี เป็นช่วงที่เข้าสู่การเกษียณอายุแล้ว ยศฐาบรรดาศักดิ์ได้สูญสิ้นไปแล้ว หน้าที่การงานที่เคยมีคนนับหน้าถือตาก็หดหายไป  

ผู้คนที่เคยให้ความสำคัญกับเรา ก็เริ่มที่จะเสื่อมถอย ไม่ค่อยมีคนยอมรับนับถือเราแล้ว เรากลับมาเป็นคนธรรมดา พอเริ่มไม่ได้ไปทำงาน บางคนที่เคยทำงานมาตลอดชีวิต ก็อาจจะตื่นขึ้นมาตอนเช้า ลืมตัวแต่งตัวจะไปทำงานก็มี พอรู้ตัวเองว่าไม่ใช่แล้วเรา ก็ใจหายว๊าบ...นี่คือความจริงที่คุณกำลังถูกกำจัดชีวิตครั้งที่หนึ่ง ถ้าทำใจไม่ได้ ก็ลำบากนะครับ 

ช่วงหลังวัย 70 ปี เป็นช่วงที่เพื่อนฝูงลดน้อยถอยลง ที่เคยพบปะสังสรรค์ก็เริ่มไม่มีเวลาให้ เพราะเราแก่ตัวลงก็เหมือนว่าหมดความหมายแล้ว จะมีบ้างก็อาจจะเป็นเพื่อนที่รู้ใจจริงๆ ที่เหลือไม่กี่คน เพื่อนหลายคนก็คงจะติดภารกิจทางด้านสุขภาพ ภาระทางด้านครอบครัว นี่คือความจริงที่คุณกำลังถูกกำจัดชีวิตครั้งที่สองครับ
         
ส่วนหลังจากวัย 80 ปี ก็จะเข้าสู่ชีวิตที่ว่างเปล่ามากขึ้น ลูกหลานที่เคยอยู่ใกล้ตัว ก็เริ่มมีครอบครัวของตนเอง ที่จะต้องติดภาระหาเลี้ยงชีพ และดูแลคนรุ่นต่อไปหรือหลานของเรา อย่างมากก็เอาลูกของเขามาให้เราดูแล ผู้เฒ่าทั้งหลายอาจจะดีใจ คิดว่าลูกเรากตัญญูรู้คุณ ที่เอาลูกๆ มาดูแลปู่ย่า-ตายาย 

แต่ขอโทษ.....ไม่ทราบว่ามาดูแลเราหรือให้เราช่วยดูแลลูกของเขากันแน่ เพราะเขาเองต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ มาหาเลี้ยงครอบครัวของเขา มากกว่าจะต้องมาดูแลเรา บางคนทำใจไม่ได้ ถึงกับเป็นโรคซึมเศร้าไปเลยก็มีครับ นี่คือการถูกกำจัดชีวิตครั้งที่สามของเราละครับ

หลังจากอายุ 90 ปี สังคมหรือสิ่งใกล้ตัวเราไม่ได้มาทำลายเราหรอกครับ โลกของความเป็นจริงต่างหากที่กำลังกำจัดเราเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต เราต้องสังวรไว้เสมอว่า สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง มองไปทางไหน ก็พบแต่งานศพของเพื่อนๆ ที่เสมือนใบไม้ร่วงที่มีมากขึ้นทุกวัน ตัวเราเองก็อาจจะถูกกำจัดจากโลกนี้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง นี่คือสัจธรรมของชีวิตครับ
         
ในความคิดของผมเอง ผมคิดว่าหลังเกษียณอายุ มนุษย์เดินดินกินข้าวทุกคน ย่อมหนีไม่พ้นวัฏสงสารกันหมด ดังนั้นผมจึงคิดว่าทุกคนย่อมมี 4 ช่วงเวลาสุดท้ายหลังเกษียณอายุด้วยกันทุกคน คือช่วงที่ 1 คือช่วงที่ยังแข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ หรือที่เรียกว่าเป็นช่วง “Independence Living” 

ช่วงที่ 2 คือช่วงที่เราเริ่มจะมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยบ้างแล้ว บางคนก็อาจจะมีโรคประจำตัวเล็กๆ น้อยๆ ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม แต่ยังคงเดินเหินได้ดี  และยังคงช่วยเหลือตัวเองได้ ช่วงนี้เรียกว่าช่วง “Assisted Living” 

ช่วงที่ 3 คือช่วงที่เริ่มมีอาการเจ็บไข้ในโรครุนแรงมากขึ้น เช่น มีอาการเป็น 8 โรคร้าย หรือบ้างคนที่โชคร้ายหน่อย ก็อาจเป็นโรคทางสมอง เช่นโรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรคจิตเภทหรือโรคจิตเวช หรือบางกลุ่มก็อาจจะเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตไปเลย เหล่านี้เราเรียกว่าเป็นบุคคลที่ต้องอยู่ใกล้หมอ หรือที่เรียกว่ากลุ่ม “Long Term Care” 

ช่วงสุดท้ายคือช่วงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้แล้ว ต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียงตลอดเวลา เราเรียกช่วงนี้ว่า กลุ่มช่วงของ  “Bedridden Senior” ที่บางท่านที่โชคร้าย อาจจะต้องเจาะเนื้อเจาะตัวบางจุด บางท่านอาจจะรุนแรงมาก ถึงขั้นไม่สามารถพูดจาสื่อสารได้ ได้แต่เพียงขยิบตาหรือกระดิกมือตอบเวลาลูกหลานถาม นี่คือวัฏสงสารที่ทุกคนต้องผ่านครับ
      
ตัวผมเองคิดว่าวิธีที่ทำให้พวกเราชาวสูงวัยทั้งหลาย ได้มีความสุขโดยไม่ต้องทุกข์ทรมานมากที่สุดได้ คือการที่เราต้องทำให้ตัวเราอยู่ในกลุ่ม “Independence Living” และกลุ่ม “Assisted Living” ยาวนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เช่นถ้าเรามีอายุเหลืออยู่ในโลกใบนี้ 30 ปีหลังจากเกษียณอายุ 

เราก็ลองต่อรองกับพระผู้เป็นเจ้าท่านดูว่า ท่านควรอนุญาตให้เราอยู่ในช่วงสองช่วงนี้สัก 25-28 ปีได้มั้ย จากนั้นในช่วงที่ 3 หรือช่วงกลุ่ม “Long Term Care” ให้ยาวๆ สักปีเศษๆ ให้ชีวิตช่วงสุดท้ายคือช่วงที่ป่วยติดเตียง หรือช่วงที่อยู่ในช่วงกลุ่ม “Bedridden Senior” สั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้ สักวันหรือสองวันได้มั้ย แหม......ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ ก็จะดีที่สุดเลยนะครับ
         
บางท่านก็คงจะมีแนวคิดเหมือนผมที่กล่าวมา เพราะนั่นคือการเป็นคนที่มีบุญวาสนาสูงสุดแล้ว แต่จะทำอย่างไรได้ละครับ? ส่วนตัวผมคิดว่ามีทางทำได้ครับ ขอเพียงท่านดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดี ดูแลสุขภาพจิตให้มีความสุข ดูแลสุขภาพอารมณ์ให้มีอารมณ์ที่แจ่มใส อย่ามีอารมณ์ขุ่นมัวเศร้าหมอง หรืออารมณ์ฉุนเฉียว 

สุดท้ายคือดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขอนามัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมตัวเรา ที่เป็นสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตหมายถึงบุคคลที่อยู่แวดล้อมตัวเรา ทั้งที่เป็นญาติสนิทมิตรสหาย ข้าทาสบริวาร และสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นๆ ส่วนสิ่งไม่มีชีวิต เช่น เคหะสถานและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ หากทุกประเภทที่กล่าวมา ไม่นำเอามลพิษมาสู่ตัวเรา ก็จะทำให้เรามีโอกาสที่จะทำให้เรามีชีวิตในช่วงสูงวัย อย่างมีความสุขไงละครับ