อารมณ์แปรปรวนยามชรา

18 ส.ค. 2566 | 22:25 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2566 | 23:41 น.

อารมณ์แปรปรวนยามชรา คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายวันก่อน ได้เจอผู้สูงอายุท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นพี่ชายของเพื่อนสนิทผม ที่ทางน้องของเขาได้แจ้งผมว่า เขามีความแปลกใจมาก ที่พี่ชายของเขาที่อายุแปดสิบกว่าแล้ว ซึ่งปกติจะเป็นคนที่สุภาพเรียบร้อยมาก แต่ปัจจุบันนี้เจอเด็กคนใช้สาวๆไม่ได้เลย จะต้องมีพฤติกรรมแปลกๆเสมอ เช่น ชอบแอบจับก้นบ้างละ แกล้งเดินชนบ้างละ แกล้งกระทบหน้าอกน้องเขาบ้างละ จนกระทั้งเด็กรับใช้ที่บ้านลาออกไปสองคนแล้ว คนล่าสุดก็โดนอย่างนี้เช่นกัน สาวใช้ทนไม่ไหวจึงมาฟ้องเขา จึงอยากให้ผมช่วยคุยกับพี่ชายเขาหน่อย เผื่อว่าจะช่วยพูดกับเขาได้บ้าง
       
ผมจึงบอกว่า ผมต้องขออนุญาตนะครับ ตัวผมเองคงไม่มีความสามารถพอที่จะช่วยเขาได้หรอก ควรจะต้องไปปรึกษาจิตแพทย์น่าจะดีที่สุด และถ้าแพทย์มีคำตอบว่าอย่างไร ก็ช่วยโทรมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะ เพราะพฤติกรรมเช่นนี้ของผู้สูงวัย ผมคิดว่าน่าสนใจมากเลยครับ หลังจากนั้นห่างไปหนึ่งอาทิตย์ เพื่อนก็โทรมาเล่าให้ฟังว่า คุณหมอบอกว่าพี่ชายเขามีอาการทางสมองแปรปรวน แต่ไม่ถึงกับรุนแรงมาก ไม่น่ากังวลใจมากมาย เพียงแต่ให้รักษาทางจิตและทานยาก็น่าจะหายได้ แต่ต้องใช้เวลาในการรักษา คิดว่าไม่น่าวิตกกังวลจนเกินเหตุไป 

อันที่จริงผมเองหลังจากรับทราบปัญหาของพี่ชายเพื่อน ผมก็เริ่มสืบค้นบทวิจัยต่างๆ มาอ่านดู เพื่อเป็นการศึกษาด้วยเช่นกัน ซึ่งก็มีหลากหลายบทวิจัยที่ได้กล่าวถึงอาการแปรปรวนทางสมองของผู้สูงอายุ  เพราะผมคิดว่าในอนาคตอาจจะสามารถนำมาใช้ในบ้านพักคนวัยเกษียณได้ เพราะที่ “คัยโกเฮ้าส์” ก็มีผู้สูงวัยชายอาศัยอยู่หลายท่าน ทุกอย่างอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ถ้าหากเราทราบข้อมูลไว้บ้าง ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการดูแลรักษาผู้สูงวัยได้เช่นกัน 
        
มีบทวิจัยฉบับหนึ่งเขียนไว้ว่า ผู้สูงวัยจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ 2 รูปแบบด้วยกัน  แบบแรกอาจจะเป็นไปตามธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งมีแต่ความเสื่อมโทรมทางสังขาร ส่วนจิตใจอาจจะยิ่งแก่ยิ่งมีคุณภาพมากขึ้นก็เป็นไปได้ เพราะท่านเหล่านั้นได้ผ่านโลกมานานแล้ว  การเปลี่ยนแปลงอีกแบบหนึ่ง อาจจะเรียกว่า สูงวัยเพราะโรคภัยไข้เจ็บก็ได้ เพราะโรคต่างๆ จะเป็นตัวเร่งความเสื่อมโทรมของร่างกาย เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน โรคที่เกิดจากการเสพติดสุรา เป็นต้น 

แต่ในความจริงแล้ว เมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น บางรายก็ยากที่จะบอกว่านี่มันเป็นเพราะธรรมชาติหรือเป็นเพราะโรคภัย เพราะกายกับใจย่อมยากที่จะแยกออกจากกัน เพราะทั้งกายและใจต่างก็มีอิทธิพลต่อกันและกัน ในทางศาสนาพุทธของเราก็มีคำกล่าวว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว"  บางรายก็มีโรคประจำตัวอยู่มากมาย เลยทำให้สูงวัยเกินกว่าอายุก็เป็นไปได้ หรือที่เราเรียกว่า “Body age ไม่สัมพันธ์กับสภาพร่างกาย” นั่นเองครับ 
       
เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้สูงอายุบ้างท่าน ที่มีอาการทางสมองที่เกิดจากการแปรปรวนของจิตใจ บางครั้งอาจจะไม่สามารถรับรู้ถึงการกระทำของตนเอง ว่าสิ่งไหนไม่ควรกระทำก็เป็นได้  หรือบางท่านปกติจะเป็นคนที่มีบุคลิกสุภาพเรียบร้อยตลอดมา แต่พอเกิดการแปรปรวนทางอารมณ์และจิตใจ ท่านอาจจะกระทำโดยปราศจากความยั้งคิดเหมือนพี่ชายเพื่อนผมก็เป็นได้ ดังนั้นเราเป็นผู้เยาว์ที่ดูแลผู้สูงวัย จึงจำเป็นต้องเข้าอกเข้าใจท่านให้มากๆ ถ้าหากท่านมีอาการที่รุนแรงดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็ควรจะพาท่านไปพบจิตแพทย์ เพื่อให้การรักษา เพราะจิตแพทย์ท่านมีวิธีการดูแลรักษาให้หายได้ด้วยวิธีต่างๆ นั่นเองครับ
          
อย่างไรก็ตาม อารมณ์แปรปรวนของผู้สูงวัย อาจจะมีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่รวดเร็ว โดยอาจจะมีอาการรู้สึกเศร้า มีความสุข หรืออาจร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ โดยการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์นี้ อาจเกิดขึ้นเพราะความผิดปกติของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ หรือแม้แต่โรคจิตเวชบางชนิด ที่เกิดจากภาวะเครียด หรือวิตกกังวล ผู้สูงวัยบางท่านอาจจะรู้สึกเครียดง่าย 

เนื่องจากการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ยาก ความสามารถและประสิทธิภาพของร่างกายลดลง มักแสดงออกมาเป็นความกลัว ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง บางท่านก็อาจจะมีอาการย้ำคิดย้ำทำ นอนไม่หลับ เหงา ว้าเหว่ ท้อแท้ บางท่านก็แสดงออกด้วยความวิตกกังวล ซึ่งอาจแสดงออกทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ท้องเสีย ท้องผูก เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย ปวดตึงกล้ามเนื้อมือเท้าเย็น ใจสั่น เหงื่อออกตามมือ เป็นต้น 

บางท่านก็แสดงออกทางด้านพฤติกรรม เช่น เริ่มมีอาการจู้จี้ขี้บ่น มีเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่นบ่อยครั้ง ต้องการแยกตัวจากสังคม เก็บตัว กัดเล็บ กัดฟัน สูบบุหรี่ หรือ ดื่มเหล้าหนัก ที่หนักหนาสาหัสหน่อย ก็อาจเกิดอาการของโรคซึมเศร้า หรือบางท่านอาจจะเกิดอาการป่วยทางจิตใจไปเลยก็มี ซึ่งเมื่อเกิดอาการเช่นนี้ขึ้นมา ก็จะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกไม่มีความสุข หดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งต่างๆ รอบตัว มองโลกในแง่ร้าย ชอบอยู่เงียบๆ ตามลำพัง รู้สึกชีวิตสิ้นหวัง บางท่านก็อาจจะมองว่าตนไม่มีคุณค่าเลยก็มีครับ
       
มีผู้สูงวัยท่านหนึ่งที่เคยมาคุยกับผมที่คัยโกเฮ้าส์ หลังจากที่คุยกับผม ท่านก็บอกผมว่า “วันนี้ผมมีความสุขมาก ที่มีคุณที่เข้าใจผม เพราะผมพูดกับลูกๆ แล้วเขาไม่เข้าใจผมเลย จนบางครั้งผมคิดว่า หรือผมจะเป็นโรคซึมเศร้า” ซึ่งผมก็ปลอบท่านไปว่า ท่านยังแข็งแรงและดูหนุ่มกว่าวัยมาก ท่านไม่ได้เป็นโรคอะไรเลย 

เพียงแต่ท่านต้องออกไปพูดคุยกับเพื่อนๆ วัยใกล้เคียงกันบ่อยๆ แล้วท่านจะมีความสุขเองแหละ หรือท่านอาจจะหาโอกาส ไปขอโรงเรียนประถมหรือโรงเรียนอนุบาลแถวๆ บ้าน ขออนุญาตให้ท่านได้สอนเด็กๆบ้าง อาจจะเป็นวิชาภาษาอังกฤษที่ท่านมีความสามารถอยู่แล้ว ท่านจะได้รู้ว่าท่านยังมีประโยชน์กับสังคมรอบตัว จะทำให้ท่านมีความสุขได้เช่นกันครับ