เพื่อนๆ หลายท่านที่เป็นคนวัยใกล้เคียงกับผม ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย ที่รู้ว่าผมทำบ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮาส์” มักจะมีคำถามว่า ถ้าเขาเกษียณอายุแล้ว จะต้องเตรียมเงินทองสักเท่าไหร่? จึงจะสามารถเข้ามาอยู่ที่บ้านพักของผมได้ หรือบางคนก็ถามว่า ลูกเต้าก็ไม่มีหากเกษียณอายุแล้ว จำเป็นต้องเก็บหอมรอมริบสักเท่าไหร่? และอีกหลายคำถามทำนองนี้ ซึ่งอันที่จริงคำถามเหล่านี้ เป็นเรื่องแล้วแต่ปัจเจกบุคคลมากกว่า เพราะความต้องการของแต่ละคนย่อมมีไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม “ทรัพย์สินเงินทอง” ก็หาใช่เป็นปัจจัยที่จะต้องเตรียมไว้แต่เพียงอย่างเดียวไม่ ปัจจัยที่จะทำให้มีความสุขนั้นมีหลากหลายปัจจัยทีเดียวครับ
การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรให้ความสนใจ และต้องมีการมีวางแผนที่ดีล่วงหน้า เพราะในช่วงเวลาที่เรายังมีกำลังวังชาอยู่ หากได้มีการวางแผนไว้ก่อนแก่ชรา จะช่วยให้การใช้ชีวิตบั้นปลายดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการเตรียมตัวในหลายด้านที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการเงิน เรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ และสภาพแวดล้อมทางสังคมและที่อยู่อาศัย เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่งครับ
ก่อนอื่นเรามาดูเรื่องของการวางแผนด้านการเงินในวัยเกษียณ แน่นอนว่ารายได้จากการทำงานมักจะลดลงหรือไม่มีเลย ผู้สูงวัยจึงควรเริ่มต้นวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ โดยมีเป้าหมายในการสะสมเงินออมไว้เพื่อใช้ในระยะยาว นอกจากการออมแล้ว การลงทุนในกองทุนต่างๆ ที่ปัจจุบันนี้มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ต่างๆ ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เงินงอกเงยได้ หรือหากมีเงินมากก็อาจจะเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในวัยสูงอายุได้ แต่ถ้าหากมีเงินไม่มาก ก็สามารถทำการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือความผันผวนของตลาด ดังนั้นต้องมั่นใจจริงๆ ค่อยดำเนินการนะครับ “การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดใช้วิจารณญาณในการลงทุน” จำคำนี้ไว้เสมอครับ
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องวางแผนอย่างละเอียด คือการจัดการหนี้สินหรือภาระทางการเงินอื่น ๆ ผู้สูงอายุควรลดหนี้ก่อนเกษียณให้ได้มากที่สุด แต่หากยังคงมีภาระประกันชีวิต ประกันสุขภาพ การจ่ายค่ารักษาพยาบาลระยะยาว หรือหนี้ผ่อนบ้านที่อยู่อาศัย ก็ควรหาวิธีลดค่าใช้จ่ายเหล่านั้น โดยต้องไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของตนเอง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดนะครับ
การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนเราเมื่อเข้าสู่วัยชรา ร่างกายย่อมมีแนวโน้มที่จะเสื่อมสภาพ จึงควรเตรียมตัวในด้านการออกกำลังกาย และโภชนาการที่เหมาะสม เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำ การหมั่นดูแลสุขภาพ สามารถช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อและกระดูกได้ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมระบบหัวใจและหลอดเลือด การออกกำลังกายเบา ๆ อย่างเช่นโยคะ การเดิน การทำงานที่ไม่หักโหมจนเกินไป หรือการว่ายน้ำ จะช่วยให้ผู้สูงวัยมีความคล่องตัว และสามารถทำกิจกรรมประจำวันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น อีกอย่างหนึ่ง การตรวจสุขภาพเป็นระยะ เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะจะช่วยให้สามารถพบโรคหรือปัญหาสุขภาพได้เร็ว ซึ่งจะทำให้เราสามารถรักษาได้ทันเวลา เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การตรวจคัดกรองมะเร็งบางชนิด นอกจากนี้ ผู้สูงวัยควรให้ความสำคัญกับการนอนหลับที่เพียงพอ ห่างไกลเหล้า ยา ปลาปิ้งเข้าไว้ เพื่อให้ร่างกายจะได้พักบ้าง ก็จะเป็นการดีเช่นกันนะครับ
การเตรียมตัวด้านจิตใจ เป็นอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญ ในการเตรียมตัวเข้าสู่วัยชรา การเปลี่ยนแปลงสภาพจิตใจในวัยนี้ บางคนอาจจะเกิดจากความเหงา เพราะมักจะพบกับการสูญเสียเพื่อนหรือคนใกล้ชิด หรือบางคนความรู้สึกว่าตนเอง ไม่ได้มีส่วนร่วมในสังคมอีกต่อไป ผู้สูงอายุหลายคนอาจประสบกับความเครียดหรือภาวะซึมเศร้า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ดังนั้นการเตรียมตัวทางจิตใจ จึงควรเริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ วิธีที่นอกจากการเตรียมตัวเตรียมใจ ก็คือการหากิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อฝึกฝนจิตใจ เช่น การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหนังสือ หากไม่ชอบก็เรียนดนตรี เรียนศิลปะ หรือเรียนภาษาต่างประเทศ จะช่วยกระตุ้นสมองและทำให้รู้สึกว่าเรายังมีคุณค่า นอกจากนี้การเข้าร่วมกลุ่มสมาคม สโมสรต่างๆ หรือกิจกรรมชุมชนที่สนับสนุนผู้สูงวัย ก็จะช่วยลดความรู้สึกเหงา และสร้างความเชื่อมั่นในการดำรงชีวิตได้เช่นกัน
การปรับตัวด้านที่อยู่อาศัยเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องทำ หลังจากเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เราอาจจะมีการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการเคลื่อนไหวอาจลดลง ดังนั้นที่อยู่อาศัยควรถูกออกแบบ หรือปรับเปลี่ยนให้ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การลื่นในห้องน้ำหรือการตกบันได การติดตั้งราวจับ การทำทางลาดแทนบันได และการจัดพื้นที่ห้องน้ำให้ง่ายต่อการใช้งาน ก็สามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้
หากเราจำเป็นที่จะต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่ ก็ควรมีการเลือกสถานที่อยู่อาศัยที่ใกล้กับโรงพยาบาล หรือศูนย์บริการสุขภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา แม้ว่าผู้สูงวัยส่วนใหญ่ จะไม่มีใครอยากย้ายที่อยู่อาศัย แต่ถ้าเราเข้าสู่วัยชราที่อยู่คนเดียวโดยไม่มีใครอาศัยอยู่ด้วย ก็ควรพิจารณาการย้ายไปอยู่ในที่พักที่มีการดูแล อย่างเช่น บ้านพักผู้สูงวัยอย่าง “คัยโกเฮาส์” ของผมนี่ไง....แฮ่ (โฆษณาเสียแล้ว) หรืออาจจะหาคอนโดมิเนียมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเฉพาะสำหรับผู้สูงวัยก็ดีนะครับ
สุดท้ายการเตรียมตัวเข้าสู่วัยยังควรชราที่ควรคำนึงถึง คือการจัดการมรดก เอกสารทางการเงิน ทางด้านกฎหมายต่างๆ ผู้สูงอายุควรทำพินัยกรรมและจัดการเอกสารสำคัญ เช่น สัญญาซื้อขายทรัพย์สิน หรือการจัดการภาระหนี้สิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินอันมิอาจก้าวล่วงได้ เพื่อให้ครอบครัวสามารถจัดการเรื่องเหล่านี้ได้อย่างราบรื่น การปรึกษาทนายความ หรือที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ก่อนที่เราจะจากโลกนี้ไป เราต้องแน่ใจว่าการจัดการทรัพย์สิน จะเป็นไปตามความต้องการของเรา นอกจากนี้ผู้สูงวัยควรตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ให้แน่ใจว่าทุกอย่างถูกต้องและเป็นปัจจุบันที่สุด อย่าให้เป็นภาระแก่คนข้างหลัง จงจำไว้เสมอว่า “อนิจจัง วัฏสังขารา”......สาธุ