KEY
POINTS
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผมได้บินด่วนมาที่กรุงไทเป เพราะได้รับแจ้งจากหุ้นส่วนให้มาร่วมแสดงความยินดี กับนักวิจัยในกลุ่มของบริษัท CytoAurora ที่ผมได้มีโอกาสเป็นหุ้นส่วนด้วย ซึ่งปีนี้เขาได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นของไต้หวัน (Taiwan National Innovation Award) ในวันที่ 26 ที่ผ่านมา หลังจากรับรางวัลเสร็จ คืนนั้นก็ได้มีกลุ่มแพทย์และนักวิจัยมาร่วมรับประทานอาหารร่วมกัน ทุกคนได้เปิดประเด็นของเรื่อง Immunology ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆสำหรับผม ในวงสนทนาดังกล่าว ทำให้ผมได้มีโอกาสได้เปิดโลกทัศน์ใหม่อีกแล้ว จึงอดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าให้พวกเราฟัง เพราะบางเรื่องของ Immunology ก็เกี่ยวพันกับกลุ่มคนแก่ๆอย่างพวกเรานี่แหละครับ ในฐานะที่เป็นคนนอกวงการแพทย์ หากผมเล่าแล้วมีอะไรที่ผิดพลาดไปบ้าง ก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี่ด้วย ถือว่าผมไม่ใช่แพทย์แต่ชอบสอดรู้สอดเห็นก็แล้วกันนะครับ
ระบบ Immune หรือระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นเครือข่ายของเซลล์อวัยวะ และโมเลกุลที่ทำงานร่วมกัน เพื่อตรวจจับและตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม เช่น เซลล์ที่ผิดปกติ หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือเซลล์มะเร็ง และเชื้อโรคอื่นๆ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ การทำงานของระบบ Immune หรือระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานผ่าน 3 ขั้นตอนหลักๆ โดยขั้นตอนแรก คือ การตรวจจับ (Recognition) ซึ่งเซลล์และโมเลกุลของระบบ Immune หรือภูมิคุ้มกันจะตรวจจับสิ่งแปลกปลอม โดยใช้ตัวรับสัญญาณ (Receptors) เช่น Toll-like Receptors (TLRs) ซึ่งจะเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ ขั้นตอนที่ 2. การตอบสนอง (Response) เมื่อร่างกายของเราพบสิ่งแปลกปลอมเข้ามาสู่ร่างกาย เจ้าระบบ Immune ก็จะส่งสัญญาณผ่าน Cytokines และเรียกเซลล์ภูมิคุ้มกันมาต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ เช่น ฟาโกไซโทซิส (Phagocytosis) เข้ามาช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้น ขั้นตอนที่ 3. คือการจดจำ (Memory) โดยระบบ Adaptive Immunity จะสร้างเซลล์ความจำ (Memory Cells) เพื่อป้องกันการติดเชื้อครั้งถัดไปอย่างรวดเร็ว และเป็นไปอย่างอัตโนมัติ พอฟังมาถึงตรงนี้ เราจะนึกภาพออกว่า มนุษย์เราทุกคนจะมี Immune ในการช่วยให้เราผ่านพ้นโรคภัยจากภายนอก ที่จะเข้ามาสู่ร่างกายเราทุกคนเสมอ
เราอาจจะคิดต่อไปว่า แล้วทำไมคนบางคนถึงได้มีอาการของโรคบางอย่าง ที่เราไม่มีใครปรารถนาจะเป็น แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ สำหรับคนแก่อย่างพวกเราทุกคน มักจะเป็นโรคบางโรค ที่แฝงมากับผิวหนังของเรา เช่น โรคเชื้อรา ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราใต้ร่มผ้า หรือเชื้อราบนหนังศีรษะ หรือที่หนักๆก็เป็นโรคงูสวัด โรคสะเก็ดเงิน โรคแพ้ภูมิคุ้มกัน เป็นต้น หรือบางคนอาจจะเป็นโรคภูมิแพ้อาหารบางชนิด โรคแพ้ขนสัตว์ หรือโรคแพ้เกสรดอกไม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกันในตอนที่อายุเยอะๆ(ก็คนแก่อย่างผมนี่แหละครับ) ซึ่งนั่นก็เป็นกันเกือบทุกคน เพียงแต่ใครจะเป็นมากหรือเป็นน้อย? หรือใครจะเป็นภูมิแพ้ประเภทอะไร? โดยส่วนตัวผม ผมเองมักจะมีอาการหนังศีรษะมีสะเก็ด คล้ายๆกับการเป็นรังแคบนหนังศีรษะมานานหลายเดือนแล้ว พอได้ฟังคุณหมอท่านพูดถึง เลยทำให้ถึงบางอ้อไปเลย เพราะแม้ผมก็พยายามใช้ยามาหลายชนิด ก็ไม่หายเสียที เคยไปพบแพทย์โรคผิวหนังที่โรงพยาบาลใกล้ๆที่ทำงาน ซึ่งแพทย์ท่านก็วินิจฉัยว่า ไม่ได้มีเชื้อราหรือรังแค ท่านเพียงให้ยาสระผมยี่ห้อหนึ่งมาสระผม ซึ่งผมก็ไม่อยากที่จะบอกว่า ผมเคยใช้แล้วแต่อาการก็ไม่ดีขึ้น สุดท้ายผมก็รับยาสระผมมาโดยไม่ปฏิเสธครับ
หลังจากที่เขาสนทนากันอยู่นั้น ผมก็พอจะจับใจความได้ว่า ปัจจุบันนี้แพทย์ได้มีการคิดค้นหาสาเหตุกันได้ดีมากแล้ว โดยอาศัยเทคโนโลยีทางด้าน Genetic เพื่อเข้าไปดูต้นเหตุของ DNA แล้วนำมาวิเคราะห์หาต้นตอของมัน ซึ่งก็คือการใช้ Immunology ในการทำการวิเคราะห์นั่นเอง ซึ่งก็พอจะสรุปได้ว่า ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องดังกล่าว(Immunodeficiency) เป็นรูปแบบหนึ่งของ Gene Therapy การแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine)ของไต้หวัน เขาได้มีการนำเอาตัวอย่างพันธุกรรม(DNA)ของมนุษย์ ออกมาวิเคราะห์และแก้ไข แล้วจึงนำกลับเข้าไปภายในร่างกาย ซึ่งก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่ง ที่เรียกว่า Next Generation Sequencing (NGS) โดยจะเริ่มต้นจากการเก็บตัวอย่างของพันธุกรรมจากส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น เลือด ไขสันหลัง และเนื้อเยื่อ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และปรับเปลี่ยนพันธุกรรมให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่ต้องการ
จากนั้นแพทย์จะนำสารพันธุกรรมที่ปรับแต่งแล้ว ฉีดกลับเข้าสู่เซลล์ในร่างกาย โดยใช้พาหะ (Vector) เป็นตัวนำ ซึ่งพาหะนี้ส่วนมากจะเป็นเชื้อไวรัสที่ไม่ทำให้เกิดโรค เพราะไวรัสดังกล่าวจะมีคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยให้พันธุกรรมในตัวมันเอง เข้าสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์ได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้ ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน เราคงได้เห็นในประเทศไทยเรา ที่แพทย์เราต้องนำมาใช้อย่างแน่นอนครับ
สิ่งที่ทำให้ผมมีความเชื่อเช่นนั้น เพราะผมเองได้ไปเห็นเพื่อนรักผมคนหนึ่ง ที่เมื่อสองอาทิตย์ก่อนได้เคยนำมาเล่าให้ฟังไปแล้ว ว่าเขาได้ทำการวิจัยด้าน Gennetic ดังกล่าวนี้อยู่ และเขาเคยเปิดไฟล์การวิจัยให้ผมและคณะที่ไปเยี่ยมเขาดู จึงทราบว่าประเทศไทยเรามีคนเก่งๆอยู่เยอะ เพียงแต่เรื่องของ Gene Therapy บางครั้งนำไปเล่าให้ใครฟัง มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือที่แย่ไปกว่านั้น คนอาจจะมองว่า “เป็นบ้าไปแล้ว” ก็ได้ครับ อีกประการหนึ่ง ผมเองเคยได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ที่ผมเคารพท่านหนึ่ง ท่านเป็นทั้งแพทย์และผู้บริหารของกรมหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุขของไทยเรา ท่านก็มีความมุ่งมั่นว่า อยากจะผลักดันเรื่องของ “Cell Therapy” ให้สำเร็จ ซึ่งศาสตร์ดังกล่าวนี้ หากทำสำเร็จในประเทศไทย เราคงได้เห็นคนไทยที่มีอายุเกิน 120 ปีเดินเต็มถนนอย่างแน่นอนครับ......แฮ่ (ผมกลับมาเชื่อในเรื่องเดิมอีกแล้ว)