เร็วๆ นี้ท่านผู้อ่าน คงได้ยินข่าวว่านโยบาย “1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต” อาจจะกลับมาอีกครั้งภายใต้รัฐบาลใหม่ ซึ่งครั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาได้อ้างว่าจะใช้นโยบายนี้เพื่อ “ลดความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา” ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ที่เรื่องของทุนมนุษย์และการศึกษา เป็นหนึ่งในหัวข้อหลักที่เราให้ความสำคัญ จะขอมาเล่าสู่กันฟังว่าในสาขาวิชานี้ เรามีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรกันบ้างค่ะ
โดยจะขออ้างถึงงานวิจัยเรื่อง “Technology and Child Development: Evidence from the One Laptop per Child Program” โดย Cristia, Ibarraran, Cueto, Santiago and Severin ที่ตีพิมพ์ใน American Economic Journal: Applied Economics เมื่อปีค.ศ. 2017 นะคะ (AJR: Applied Economics ถือว่าเป็นวารสารที่ดีมากในสาขาวิชา Economics and Econometrics เลยค่ะ จัดอยู่ในอันดับที่ 46 จาก 718 วารสาร เป็น top 10% หรือ tier 1 ของเศรษฐศาสตร์)
ในช่วงปี ค.ศ. 2005 MIT Media Lab ได้พัฒนาแล็ปท็อปราคาประหยัด (100 ดอลลาร์) ที่ใส่โปรแกรมต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนรวมถึงหนังสือกว่า 200 เล่ม และ ในปี ค.ศ. 2007 ก็ได้มีประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกาอย่างเปรูและอุรุกวัยซื้อแล็ปท็อปนี้มาเข้าโครงการของรัฐบาล และแจกให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่ขาดแคลน
งานวิจัยที่จะเล่าต่อไปนี้ ได้ใช้วิธี randomised controlled trial (RCT) ประเมินผลของนโยบาย One Laptop per Child (1 แล็ปท็อป 1 นักเรียน) ที่ประเทศเปรู ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 2007-2008 ค่ะ
RCT คืออะไร? ก็จะเป็นวิธีการทดลองที่คล้ายๆ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ใช้ค่ะ เราจะมีกลุ่มทดลอง (กลุ่มได้ยาจริง) ซึ่งในที่นี้ก็คือ กลุ่มโรงเรียนที่นักเรียนได้รับแล็ปท็อปจากโครงการ มีทั้งหมด 209 โรงเรียน แล้วก็มีกลุ่มควบคุม (กลุ่มไม่ได้ยา) ในที่นี้คือ 109 โรงเรียนที่ไม่ได้แล็ปท็อป
ก่อนเริ่มการทดลอง (แจกแล็บท็อป) เราก็จะต้องมีการทดสอบว่านักเรียนของทั้งสองกลุ่มมีลักษณะคล้ายคลึงกันในหลายๆ ด้าน รวมไปถึงผลการเรียน เพื่อที่เมื่อมีการทดลองเกิดขึ้นแล้ว เราจะได้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าหากพบผลที่ต่างกัน ในสองกลุ่ม ผลนั้นเกิดมาจากการได้แล็ปท็อปจากโครงการ และไม่ใช่เพราะลักษณะที่ต่างกันของนักเรียนหรือปัจจัยอื่นๆ
หลังจากมีการแจกแล็ปท็อปให้กับนักเรียนในกลุ่มทดลอง 15 เดือน ผู้วิจัยก็ได้ทำการเก็บข้อมูล เพื่อนำมาทดสอบทางสถิติว่ามีความแตกต่างของผลในแง่มุมต่างๆ ระหว่างเด็กนักเรียนในโรงเรียนกลุ่มที่ได้รับแล็ปท็อปและกลุ่มที่ไม่ได้รับหรือไม่ค่ะ เรามาดูกันนะคะว่าพบอะไรบ้าง
1. การเข้าถึงและการใช้คอมพิวเตอร์ : พบว่า 82% ของนักเรียนในกลุ่มทดลองมีการใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน ในขณะที่มีเพียง 26% ของนักเรียนในกลุ่มควบคุมใช้
แต่เมื่อถามถึงการใช้งานที่บ้าน เรากลับพบตัวเลขการใช้ที่ตํ่าลงกว่าครึ่งในกลุ่มทดลองค่ะ เหตุผลหลักก็คือ กลัวว่าจะทำแล็ปท็อปเสียเมื่อกลับไปใช้ที่บ้าน ซึ่งงานวิจัยพบว่า กว่า 13% ของแล็ปท็อปในโครงการชำรุดเมื่อใช้ไประยะหนึ่ง
2. พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการสร้างทุนมนุษย์ : ถึงแม้ว่าจากข้างต้น งานวิจัยจะพบว่า มีการเข้าถึงและใช้คอมพิวเตอร์ในเด็กมากขึ้นจากโครงการ แต่กลับไม่พบความแตกต่างระหว่างการลงทะเบียนเรียน การเข้าเรียน การศึกษาด้วยตนเองที่บ้าน หรือ แม้กระทั่งพฤติกรรมการอ่านหนังสือที่เพิ่มขึ้น ระหว่างกลุ่มที่เข้าโครงการกับกลุ่มที่ไม่ได้แล็ปท็อป แม้ว่าในแล็ปท็อปเหล่านั้นจะมีหนังสือบรรจุอยู่ถึง 200 เรื่องค่ะ
3. ผลการเรียนและทักษะเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ : และเช่นกัน งานวิจัยก็ไม่พบว่า นักเรียนในกลุ่มโรงเรียนที่ได้รับแล็ปท็อป มีผลการเรียนทางด้านคณิตศาสตร์ และภาษาที่ดีกว่านักเรียนในกลุ่มที่ไม่ได้รับแล็บท็อป อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติค่ะ
โดยสรุปก็คือ งานวิจัยที่ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่จากโครงการ “1 แล็ปท็อป 1 นักเรียน” ที่ประเทศเปรู แสดงให้เห็นว่า การที่นักเรียนเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างแล็ปท็อปมากขึ้น ไม่ได้มีผลดีต่อพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มทุนมนุษย์ หรือ ผลการเรียนเลย ซึ่งก็สอดคล้องกับผลจากการวิจัยในประเทศอุรุกวัย ที่มีโครงการ “1 แล็ปท็อป 1 นักเรียน” เช่นกัน (De Melo et al., 2014)
ถ้าผู้อ่านติดตามวรรณกรรมในแขนงนี้ ก็จะพบข้อสรุปโดยรวมว่าการให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แก่นักเรียนไม่ว่าจะที่โรงเรียนหรือที่บ้านก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเพิ่มผลการศึกษาหรือทุนมนุษย์ในเด็กอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเลยค่ะ (Malamud et al., 2011)
ถึงแม้ว่าการวิจัยเหล่านี้ ทำในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย แต่เราก็สามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ “1 แล็ปท็อป 1 นักเรียน” ในเปรู แจกให้แก่นักเรียนในเขตที่ยากจนเท่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่ถ้าจะเกิดผลดีทางการศึกษา น่าจะเกิดได้ง่ายและมากที่สุด
เพราะเริ่มจากฐานที่ตํ่า แต่เรากลับไม่พบผลที่ดีต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาเลย ซึ่งก็เน้นยํ้าให้เห็นว่า นโยบายที่เน้นการให้อุปกรณ์ลักษณะนี้ อาจไม่ใช่นโยบายที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มทุนมนุษย์
ถึงแม้จะทำให้การเข้าถึงเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลใหม่อาจจะมองว่า ตอบโจทย์ “ความเหลื่อมลํ้า” แต่ “ความเหลื่อมลํ้า” ย่อมเป็นคำเปล่ากลวงที่เลื่อนลอย หากการทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อ “ลดความเหลื่อมลํ้า” ไม่ได้นำมาซึ่งประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่ดีต่อการศึกษาของเด็กไทย
เปรียบเสมือนตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้า ซึ่งทำให้แม่นํ้าทุกสายมีนํ้าพริก แต่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้แม่นํ้า และ อาจทำให้ลดทอนคุณค่าของนํ้าในแม่นํ้าอีกด้วยค่ะ
หมายเหตุ: รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้เริ่มใช้นโยบาย “1 นักเรียน 1 แท็ปเล็ต” ในปี ค.ศ. 2012-2014 รวมงบประมาณทั้งหมดสูงถึงกว่าหกพันกว่าล้านบาท จากข่าวพบว่ามีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ อุปกรณ์ที่แจกมีการชำรุด เสียหาย โรงเรียนที่ได้รับแจก เช่น สาธิตจุฬาฯ ไม่ได้อยู่ในกลุ่มขาดแคลน และมีการตั้งข้อสงสัยเรื่องการประมูล และ ถูกยกเลิกไปโดยรัฐบาลคสช.ในที่สุด
เอกสารอ้างอิง:
Cristia, Julian, Pablo Ibarrarán, Santiago Cueto, Ana Santiago, and Eugenio Severín.“Technology and child development: Evidence from the one laptop per child program.” American Economic Journal: Applied Economics 9, no. 3 (2017): 295-320.
De Melo, Gioia, Alina Machado, and Alfonso Miranda. “The impact of a one laptop per child program on learning: Evidence from Uruguay.” (2014).
Malamud, Ofer, and Cristian Pop-Eleches. “Home computer use and the development of human capital.” The Quarterly journal of economics 126, no. 2 (2011): 987-1027.