เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยศาสนา

30 ต.ค. 2567 | 04:27 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2567 | 04:46 น.

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยศาสนา : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย...ผศ.ดร.กุลลินี มุทธากลิน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับ 4040

อดัม สมิธ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์เขียนหนังสือเล่มสำคัญ ที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ในชื่อ The Wealth of Nations แต่คนส่วนใหญ่มักมองข้ามเนื้อหาในบทที่สมิธวางรากฐานสำหรับเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยศาสนาเอาไว้ 

โดยสมิธอธิบายว่า ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นแรงจูงใจแก่นักบวชเช่นเดียวกับผู้ผลิตในทางโลก กลไกตลาดบังคับศาสนา เช่นเดียวกับที่พวกเขาทำกับบริษัท และประโยชน์ของการแข่งขันมีอยู่ในศาสนา เช่นเดียวกับในภาคส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจ เนื้อหาในบทดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงสร้างตลาดของศาสนา โดยอธิบายรายละเอียดความแตกต่างระหว่างการผูกขาดทางศาสนาที่รัฐสนับสนุน และตลาดศาสนาที่มีการแข่งขันสูง 

เป็นเวลาเกือบ 200 ปีแล้ว ที่คำกล่าวในหนังสือของสมิธ เป็นรากฐานเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องของศาสนา แต่ในทศวรรษ 1970 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ที่นักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมวิทยา หวนกลับมาสู่แนวคิดของสมิธ โดยมองว่า พฤติกรรมทางศาสนาเป็นตัวอย่างของการเลือกอย่างมีเหตุผล แทนที่จะเป็นข้อยกเว้น และได้วิเคราะห์พฤติกรรมทางศาสนาทั้งในระดับบุคคล กลุ่ม และตลาด

Laurence Iannaccone ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน ในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บุกเบิกเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยศาสนา อธิบายว่านักเศรษฐศาสตร์มักไม่สนใจที่จะทดสอบการยืนยันแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาของสมิธ อาจเป็นเพราะศาสนาถูกมองว่าเป็นสถาบันที่เสื่อมถอย หรืออาจเป็นเพียงเพราะแบบจำลองการเลือกที่มีเหตุผลถูกมองว่า ไม่เพียงพอที่จะอธิบายพฤติกรรมทางศาสนา 

อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีข้อมูลสถิติเกี่ยวกับศาสนามากที่สุดกลับพบว่า อัตราความเชื่อทางศาสนา และพฤติกรรมหรือเวลาที่ใช้เกี่ยวกับศาสนาไม่ได้ลดลงเลย แท้จริงแล้วสมาชิกคริสตจักรแบบอเมริกัน มีอัตราเพิ่มขึ้นตลอดช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือสมาชิกคริสตจักรอเมริกันมีอัตราเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17 ของประชากรในช่วงการปฏิวัติเป็นร้อยละ 34 ในกลางศตวรรษที่ 1800 และมากกว่าร้อยละ 60 ในปัจจุบัน 

นอกจากนี้ นักสังคมศาสตร์ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องให้ความสนใจกับศาสนา เพราะศาสนาไม่มีทีท่าว่าจะเสื่อมถอย หรือ ลดบทบาทลง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของศาสนาอิสลาม ในตะวันออกกลาง การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของนิกายโปรเตสแตนต์ในละตินอเมริกา การฟื้นคืนของศาสนาในยุโรปตะวันออก และอดีตสหภาพโซเวียต

บทบาทของศาสนาในความขัดแย้งทางการเมืองและชาติพันธุ์ทั่วโลก ล้วนเป็นพยานถึงความสำคัญอย่างต่อเนื่องของศาสนา

หัวใจสำคัญของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยศาสนามองศาสนาในฐานะสินค้าและทางเลือก โดยผู้บริโภคเลือกว่าพวกเขาจะยอมรับศาสนาใด และจะเข้าร่วมศาสนามากน้อยเพียงใด และตัวเลือกเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ผู้คนสามารถเปลี่ยนศาสนา หรือระดับการมีส่วนร่วมได้ตลอดเวลา 

รูปแบบพื้นฐานที่ไม่มีการแข่งขันของตลาดศาสนา คือ คริสตจักรยุคกลางที่ผูกขาดได้รับผลกำไรโดยการจำกัดระดับผลผลิต และคิดราคาที่สูงกว่าต้นทุน รวมถึงการแบ่งแยกราคาของสินค้าทางศาสนา ในผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ

ผลของการผูกขาดดังกล่าวก่อให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพและการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดโดยธรรมชาติคริสตจักร จึงต้องพึ่งพาอำนาจรัฐเพื่อรักษาการผูกขาด ห้ามการเข้ามาและการแข่งขันโดยศาสนาอื่น

แบบจำลองที่สมิธอธิบายในหนังสือของเขา ไม่ได้เกิดการผูกขาดอย่างสิ้นเชิงแบบยุคกลาง แต่เป็นภาวะที่ไม่มีการแข่งขันมากนัก ซึ่งเกิดในอังกฤษ และหลายประเทศในสมัยเดียวกัน ซึ่งเกิดจากศาสนาบางศาสนา หรือบางนิกายได้รับเงินอุดหนุนโดยรัฐ โดยมีศาสนาขนาดเล็กและคู่แข่งจำนวนมากอยู่บริเวณรอบนอกของศาสนาหลัก

รูปแบบดังกล่าว อิอันนาคโคน เรียกว่าศาสนาที่รัฐสนับสนุนและตลาดของศาสนาที่ถูกควบคุม แบบจำลองนี้สะท้อนลักษณะสำคัญของคริสตจักรที่ก่อตั้งในยุโรปตั้งแต่การปฏิรูป reformation จนถึงปัจจุบัน

แม้แต่ในประเทศที่คริสตจักรมีอิทธิพล จะไม่มีสถานะพิเศษทางกฎหมายอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องปกติที่องค์กรศาสนาจะได้รับประโยชน์จากปัจจัยในรูปแบบของเงินอุดหนุนพิเศษ สิทธิพิเศษในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ การออกกฎหมายที่เอื้ออำนวยและการหนุนโดยการเมือง 

อิอันนาคโคนระบุว่า ผลลัพธ์เชิงทฤษฎีและเชิงประจักษ์จากการศึกษาอุตสาหกรรม ที่มีการควบคุมโดยรัฐบาล ให้สมมติฐานที่ทดสอบได้มากมายเกี่ยวกับศาสนาที่รัฐสนับสนุน โดยเสนอข้อสรุปที่น่าสนใจไว้หลายประการ คือ ศาสนาที่รัฐสนับสนุนจะขาดประสิทธิภาพ ต้นทุนการผลิตจะสูงกว่าศาสนาทางเลือกอื่น ๆ  

แม้ว่าศาสนาที่รัฐสนับสนุนจะจัดบริการโดยฟรี ระดับการบริโภคทางศาสนาโดยรวม อาจต่ำกว่าระดับการบริโภคในตลาดที่มีการแข่งขัน เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีอิทธิพลต่อเนื้อหาของศาสนา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางการเมืองแก่ตนเอง แต่เนื้อหาของศาสนาดังกล่าวกลับลดความพึงพอใจของสาธารณชนต่อศาสนา คนจะลดระดับการมีส่วนร่วมทางศาสนาลง

โดยธรรมชาติแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่ศาสนาหนึ่ง ๆ จะจัดหาทางเลือกซึ่งเป็นที่ต้องการของทุกส่วนของตลาดได้พร้อม ๆ กัน บริษัทรถยนต์แห่งเดียว อาจสามารถผลิตยานพาหนะได้แทบทุกประเภท ทั้งรถยนต์ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รุ่นหรูหราและรุ่นราคาประหยัด รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ และรถตู้

แต่ศาสนาหนึ่ง ๆ ไม่สามารถเชื่อทั้งพระเจ้าองค์เดียว และหลายองค์ ไม่สามารถทั้งยึดถือคัมภีร์ และไม่ยึดถือคัมภีร์ ไม่สามารถกำหนดให้มีแต่นักบวชชาย และสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศไปพร้อม ๆ กัน 

การวิจัยเชิงประจักษ์ยังชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบของการผูกขาด หรือกึ่งผูกขาดของศาสนาจะคงอยู่ไปอีกนาน แม้ว่าตลาดทางศาสนาถูกเปิดให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี อาจต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคนกว่าสถานการณ์จะเข้าใกล้ตลาดแข่งขันอย่างสมบูรณ์

เพราะศาสนาแต่ละศาสนามีความรู้เกี่ยวกับความคุ้นเคยกับหลักคำสอน พิธีกรรม และ การปฏิบัติ รวมถึงการขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆ 

สิ่งเหล่านี้ถูกมองว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของทุนมนุษย์ทางศาสนา ซึ่งอาจได้มาจากกระบวนการการเรียนรู้จากการกระทำ ดังนั้น แม้ว่า ศาสนาทางเลือกจะเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนศาสนาเนื่องจากการทำเช่นนั้นทำให้ทุนมนุษย์ทางศาสนาที่มีอยู่ล้าสมัยไป 

                          เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยศาสนา

สำหรับ อิอันนาคโคน ทฤษฎีตลาดศาสนาดังกล่าวของสมิธมีส่วนสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยศาสนา โดยช่วยให้คำอธิบายว่าทำไมประเทศที่มีวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกัน จึงสามารถมีระดับการนับถือ และการเข้าร่วมศาสนาที่แตกต่างกันมาก ช่วยอธิบายลักษณะพิเศษของสหรัฐอเมริกา ที่มีระดับการนับถือและเข้าร่วมกิจกรรมศาสนาในระดับที่สูง ตรงกันข้ามกับการลดระดับการนับถือและการเข้าร่วมกิจกรรมศาสนาในยุโรปเหนือ 

ทั้งยังช่วยอธิบายว่า ในสหรัฐอเมริกา ศาสนาไม่ใช่ปริมณฑลของคนยากจน หรือ ไม่มีความรู้ ข้อมูลเชิงสถิติชี้ให้เห็นว่า อัตราความเชื่อทางศาสนาและกิจกรรมทางศาสนา มักจะไม่ลดลงตามรายได้ และอัตราความเชื่อและกิจกรรมทางศาสนา จะเพิ่มขึ้นตามระดับการศึกษา 

แต่รูปแบบของศาสนาจะแตกต่างกันไปตามระดับรายได้ และการศึกษา ทั้งยังท้าทายสมมติฐานที่มีมายาวนาน เกี่ยวกับยุคกลางว่าเป็นยุคแห่งศรัทธาของผู้คน รวมถึงแนวโน้มการยอมรับศาสนา และความแตกต่างทางศาสนาที่เพิ่มมากขึ้นในยุโรปตะวันออก และสหภาพโซเวียตในปัจจุบัน 

สำหรับข้อจำกัดของเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยศาสนาและตลาดศาสนาที่พัฒนามาจากแนวคิดของ สมิธ  อิอันนาคโคน ระบุว่า มีงานวิจัยเกี่ยวกับศาสนาภายนอกสหรัฐอเมริกา และประเทศตะวันตกน้อยมาก การศึกษาของเขาจึงมุ่งเน้นไปที่ความเชื่อของศาสนา Judeo-Christian กิจกรรมต่างๆ และสถาบันที่เกี่ยวข้องกับศาสนาดังกล่าวในโลกตะวันตก โดยยังไม่ได้นำเอาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยศาสนาไปลองใช้ เพื่ออธิบายสถานการณ์ของตลาดศาสนา เพื่ออธิบายความเชื่อและพฤติกรรมทางศาสนาของผู้คนในภูมิภาคอื่น 

จึงน่าสนใจว่า ถ้าเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยศาสนาถูกปรับมาใช้ในภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงไทย ตลาดศาสนาจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร