ทำร้ายเด็ก = ทำร้ายชาติ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของการใช้ความรุนแรงกับเด็ก

17 ก.ค. 2567 | 06:17 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2567 | 06:36 น.

ทำร้ายเด็ก = ทำร้ายชาติความสูญเสียทางเศรษฐกิจของการใช้ความรุนแรงกับเด็ก : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4010

การใช้ความรุนแรงกับเด็กนับเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญของประเทศไทย สถิติจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี (Multiple Indicator Cluster Surveys) พบว่า ในปี พ.ศ. 2565 ร้อยละ 54 ของเด็กอายุ 1-14 ปีในประเทศไทย ได้รับการดุด่า หรือ การลงโทษทางกายโดยผู้ปกครอง ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา โดยรูปแบบความรุนแรงที่พบได้บ่อยที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การดุด่า การตีก้นเด็กด้วยมือ และ การตีมือ แขน หรือ ขาของเด็กด้วยมือ  

การใช้ความรุนแรงสร้างปัญหาต่อตัวเด็ก ทั้งเมื่อยังเป็นเด็กอยู่และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว งานวิจัยทั้งในไทย และในต่างประเทศ พบว่า การใช้ความรุนแรงของผู้ปกครอง ส่งผลให้เด็กมีปัญหาทางด้านร่างกาย (ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บบ่อยขึ้น) จิตใจ (มีปัญหาทางจิตและประสบภาวะเครียดได้ง่ายขึ้น) พฤติกรรม (มีแนวโน้มเป็นเด็กที่เกเรและสร้างปัญหามากขึ้น) และการศึกษา (มีแนวโน้มที่จะเรียนเก่งน้อยลงและหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น) 

นอกจากนี้ ความรุนแรงที่ประสบในวัยเด็ก ยังส่งผลต่อเนื่องถึงวัยผู้ใหญ่ งานวิจัยในปัจจุบัน พบว่า ผู้ใหญ่ที่เคยประสบความรุนแรงในวัยเด็ก มีโอกาสที่จะเป็นโรคร้ายแรงมากขึ้น (เช่น มะเร็ง เบาหวาน และทางเดินหายใจ เป็นต้น) มีสุขภาพจิตแย่ลง คิดฆ่าตัวตายมากขึ้น มีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่ดี 

มีโอกาสท้องก่อนวัยควรมากขึ้น มีโอกาสเป็นโรคติดต่อทางเพศมากขึ้น มีความสามารถในการทำงานและโอกาส ที่จะทำงานน้อยลง และมีแนวโน้มที่จะสร้างปัญหาสังคมและสร้างความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างของการศึกษาที่น่าสนใจ ได้แก่ การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา (โดย Mersky and Reynolds (2007)) พบว่า เด็กที่ผู้ปกครองทำร้าย จะมีโอกาสที่จะโดนตำรวจจับ จากการก่อเหตุทะเลาะวิวาท หรือ การทำผิดกฎหมาย เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 

ขณะเดียวกัน การศึกษาในประเทศไทย (โดย Panyayong et al. (2018)) ก็พบว่า หากเปรียบเทียบผู้ใหญ่สองคนที่มีคุณลักษณะส่วนบุคคลเหมือนกัน ผู้ใหญ่ที่เคยประสบกับความรุนแรงในวัยเด็ก มีโอกาสที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต สูงกว่าผู้ใหญ่ที่ไม่เคยประสบความรุนแรงดังกล่าวถึง 3.5 เท่า

รัฐมีหน้าที่ในการจัดการกับปัญหาข้างต้น สำหรับการจัดการกับปัญหาด้านสุขภาพกายและใจ ที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงกับเด็ก รัฐกระทำผ่านระบบสุขภาพ โดยคนส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาพยาบาล “ฟรี” หรือร่วมจ่ายไม่มากนัก ภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

และสำหรับการจัดการกับปัญหาสังคมจากการใช้ความรุนแรงกับเด็ก รัฐกระทำผ่านกลไกการคุ้มครองเด็กและเยาวชน และการคุ้มครองทางสังคม การจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ต้องใช้เงินงบประมาณที่ได้มาจากภาษีของประชาชน 

ทั้งนี้ รัฐไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ครัวเรือนต้องจัดการกับปัญหาบางประการเอง ตัวอย่างเช่น ปัญหาด้านการเรียนและการทำงาน เมื่อผู้ปกครองด่าว่าทุบตีเด็ก เด็กจะมีแนวโน้มที่จะเรียนเก่งน้อยลง และโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถหางานได้ยากขึ้น หรือ หากหางานได้ ก็ได้ค่าแรงต่ำ 

การแก้ไขปัญหาโดยรัฐทำได้ยาก เพราะรัฐไม่มีกลไกติดตามผลการเรียนและการทำงานของประชากรเป็นรายคน ทำให้ไม่อาจรู้ได้ว่าใครมีปัญหาบ้าง และปัญหาเกิดจากความรุนแรงในวัยเด็กหรือไม่ ผู้ได้รับผลกระทบจึงเข้าไม่ถึงกระบวนการเยียวยาของรัฐ 

ครัวเรือนจึงต้องแบกรับภาระ (ที่สร้างขึ้นเอง) นี่ไว้ หากเด็กได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจนเรียนไม่เก่ง และผู้ปกครองต้องการให้เรียนเก่งขึ้น ก็ต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษเอง และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วและได้ค่าแรงน้อย ก็ต้องยอมรับสภาพนั้นโดยปริยาย 

งบประมาณที่รัฐใช้ในการจัดการปัญหาและต้นทุนที่ครัวเรือนต้องแบกรับไว้ นับเป็น “ต้นทุนทางเศรษฐกิจ” (Economic Cost) ของการใช้ความรุนแรงกับเด็ก

การศึกษาของ นพพล วิทย์วรพงศ์ และ คณะ ในปี พ.ศ. 2567 (Witvorapong et al., 2024) ตีมูลค่าของ “ต้นทุน” ของการใช้ความรุนแรงกับเด็กในประเทศไทย โดยพิจารณาผลกระทบของการใช้ความรุนแรงต่องบประมาณภาครัฐและต่อครัวเรือน และพบว่า ภายใต้แบบจำลองของคณะผู้วิจัย ในปี พ.ศ. 2566 ต้นทุนทางเศรษฐกิจของการใช้ความรุนแรงต่อหัว มีค่าเท่ากับ 716,207.24 บาท 

กล่าวคือ เมื่อเด็กคนหนึ่งสัมผัสความรุนแรง (จากผู้ปกครอง) ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กคนนั้น ทั้งในวัยเด็กและเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ทั้งที่จัดการโดยรัฐและที่ต้องแบกรับเองตลอดชีวิต ตีมูลค่าเป็นเงินได้เท่ากับ 716,207.24 บาท 

ทั้งนี้ ปัญหาของการใช้ความรุนแรงที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ผลกระทบในด้านการหางานและทำงาน การฆ่าตัวตาย และ การเกิดความรุนแรงในครอบครัว (ทุบตีสามี/ภรรยาของตนเอง) 

เนื่องด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจมีมูลค่าสูง การทำความเข้าใจ และหาทางแก้ไขปัญหาจึงมีความสำคัญ เมื่อพิจารณาการใช้ความรุนแรงกับเด็ก พบว่า มีสาเหตุที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดที่ว่าจะเลี้ยงเด็กให้ได้ดี ต้องตีให้หลาบจำ ซึ่งปลูกฝังกันมาอย่างยาวนานในสังคมไทย หรือ การขาดความพร้อมในการเลี้ยงเด็ก หรือ การขาดความรู้ในการเลี้ยงเด็ก ภายใต้บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

หากผู้ปกครองต้องการสร้างระเบียบวินัยให้กับเด็ก การใช้ความรุนแรงอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม ปัจจุบัน มีสื่อการเรียนรู้มากมายที่จะช่วยผู้ปกครองเลี้ยงเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพได้ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง 

แนวคิดการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก (Positive Parenting) อันรวมถึงการเพิ่มการสื่อสารระหว่างเด็กและผู้ปกครอง การชื่นชมและลงโทษเด็กอย่างพอดี และการกำหนดให้ชัดเจนว่า บทบาทหน้าที่ของเด็กคืออะไร และของผู้ใหญ่คืออะไร น่าจะเหมาะสมกับครอบครัวในปัจจุบันมากกว่า ไม่น่าต้องดุด่า หรือ ทุบตีเด็ก

หากการเลี้ยงดูเด็กยังไม่เปลี่ยนวิธี หรือ ปรับได้ช้าเกินไป ประเทศไทย ก็คงต้องแบกรับต้นทุนทางเศรษฐกิจ ของการใช้ความรุนแรงกับเด็กอยู่ต่อไป โดยไม่จำเป็น รัฐคงต้องหาวิธีแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ในระดับครัวเรือน 

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนทำได้ คือ ตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่หนทางเดียวที่จะสร้างระเบียบวินัยให้ลูกหลาน ยังมีวิธีอื่นให้ใช้ แบบที่ไม่ต้องทำร้ายเด็ก….และไม่ต้องเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจให้กับชาติ 

เอกสารอ้างอิง:  Witvorapong, N., Mon, H. S., Pongpaew, W., and Hanvoravongchai, P. (2024). Cost and Cost-Benefit Analyses of the Parenting for Life-long Health in Young Children Programme in Thailand. Funded by and submitted to the LEGO Foundation (through the Global Parenting Initiative).