ความซื่อสัตย์เป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (trust) ของคน ความสงบสุข และ ความเป็นปึกแผ่นของชุมชน (social cohesion) และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (development)
ในสังคมที่มีความซื่อสัตย์สูง รัฐจะทราบความต้องการของประชาชนได้ โดยไม่ต้องคาดเดา สามารถกำหนดนโยบายที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนเพื่อให้นโยบายประสบผลสำเร็จ และทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าได้ เพราะไม่ต้องใช้ทรัพยากรจัดการกับคอร์รัปชันและการทำผิดกฎระเบียบต่าง ๆ
ในต่างประเทศ การศึกษาด้านความซื่อสัตย์มีจำนวนมาก แบ่งออกได้อย่างหลวมว่ามาจากสองศาสตร์ ได้แก่ จิตวิทยา และเศรษฐศาสตร์ การศึกษาด้านจิตวิทยามองความซื่อสัตย์ในหลากหลายมิติ ทั้งในเชิงคุณค่า (value) คุณธรรม (virtue) คุณลักษณะ (moral character) และ พฤติกรรม (overt behavior)
นักวิชาการด้านจิตวิทยาประเมินความซื่อสัตย์โดยใช้ แบบสอบถาม จำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ผู้ตอบระบุการตัดสินใจของตนเองในสถานการณ์เหล่านั้น โดยคะแนนที่ได้จากการทำแบบสอบถามจะสะท้อนว่าผู้ตอบแบบสอบถามซื่อสัตย์มากแค่ไหน
การศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์พิจารณาความซื่อสัตย์ในเชิงพฤติกรรม (ที่สังเกตได้) เป็นหลัก นักเศรษฐศาสตร์นิยมใช้การทดลอง (experiment) ในการประเมินความซื่อสัตย์ โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทำกิจกรรมที่มีความน่าจะเป็นคงที่ และรายงานผลลัพธ์ของการทำกิจกรรมดังกล่าวเพื่อแลกกับค่าตอบแทน
หากผู้เข้าร่วมการทดลองรายงานผลลัพธ์ที่ผิดไปจากที่ควรเป็น ผู้วิจัยก็จะรู้ได้ว่า มีการโกง (ไม่ซื่อสัตย์) เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้วิจัยอาจให้ผู้เข้าร่วมการทดลองโยนเหรียญ โดยไม่มีใครมอง และให้รายงานจำนวนครั้งของการออกหัว-ก้อย ในการโยนเหรียญแต่ละครั้ง หากออกหัว ผู้เข้าร่วมการทดลองก็จะได้เงิน แต่หากออกก้อย ก็จะไม่ได้เงิน
ทั้งนี้ ผู้วิจัยรู้ว่าโอกาสที่เหรียญจะออกหัว คือ 50% ดังนั้น ถ้าผู้เข้าร่วมการทดลองบอกว่าตนเองโยนเหรียญแล้วออกหัวบ่อยกว่า 50% อย่างชัดเจน ก็ย่อมหมายความว่าผู้เข้าร่วมการทดลองน่าจะไม่ซื่อสัตย์
ประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะแม้จะมี “เหตุปัจจัย” ที่เอื้อให้มีความซื่อสัตย์อยู่มาก แต่กลับมีปัญหาคอร์รัปชันเรื้อรัง มีข่าวการคดโกงกันให้เห็นอยู่บ่อย ๆ และยังไม่มีโครงสร้างที่เอื้อให้เกิดการปกครองที่มีธรรมาภิบาล ทั้งนี้ “เหตุปัจจัย” ดังกล่าวมีอย่างน้อย 3 ประการ
ประการแรก ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งคนไทยยังมีความแตกต่างด้านเชื้อชาติน้อย การแก่งแย่งทรัพยากรระหว่างกลุ่มมีจำกัด ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความซื่อสัตย์จึงน่าจะอยู่ในระดับสูง
ประการที่สอง การเคารพผู้ใหญ่และเชื่อฟังผู้มีอำนาจ (respect for authority) เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ในสังคมที่มีวัฒนธรรมเช่นนี้ ประชาชนมักอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและกลัวการกระทำผิด หรือ คดโกง
และ ประการที่สาม คนไทยส่วนใหญ่ (กว่า 95%) นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งสอนให้ไม่โกหกและไม่ลักทรัพย์ โดยการรักษาศีลนับเป็นจริยธรรม (moral code) ที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน
เมื่อปีที่ผ่านมานี้ (พ.ศ. 2566) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการศึกษาชิ้นหนึ่ง (Tangtammaruk et al., 2024 – อ้างถึงข้างล่าง) ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยทุนของแผนงานคนไทย 4.0 ภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยพยายามจะประเมินระดับความซื่อสัตย์ของคนไทย
การศึกษานี้ พบว่า ความซื่อสัตย์มีความซับซ้อน และมีองค์ประกอบที่แยกย่อย 3 ประการ ได้แก่
(1) การพูดความจริง (truthfulness) กล่าวคือ ไม่โกหก ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม
(2) การเคารพความเป็นเจ้าของ (respect for ownership) กล่าวคือ ไม่คดโกง และไม่เอาของที่คนอื่นพึงได้มาเป็นของตน
และ (3) ความรับผิดรับชอบ (accountability) กล่าวคือ ยอมรับความผิดได้ หากกระทำผิดจริง
โดยการศึกษานี้ได้ออกแบบชุดคำถาม 27 ข้อ เพื่อ “วัด” ระดับความซื่อสัตย์ โดยให้คะแนนเต็มเท่ากับ 5 และเก็บข้อมูลจากคนในกรุงเทพมหานคร กว่า 1,200 คน
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ในภาพรวม คนไทยมีความซื่อสัตย์ในระดับสูง (คะแนนมากกว่า 4 จาก 5) และหากพิจารณาแต่ละองค์ประกอบของความซื่อสัตย์ จะพบว่า คนไทยเคารพความเป็นเจ้าของและรับผิดรับชอบในระดับสูง (คะแนนมากกว่า 4 จาก 5) แต่พูดความจริงในระดับที่ต่ำกว่าองค์ประกอบอื่นอย่างชัดเจน (คะแนนน้อยกว่า 4 จาก 5)
กล่าวคือ คนไทยส่วนใหญ่ซื่อสัตย์ แต่ก็อาจเลือกจะไม่พูดความจริงได้ หากความจริงสร้างความขัดแย้ง หรือ ทำให้อึดอัดใจ
นอกจากนี้ การศึกษานี้ยังพบว่า คนที่ซื่อสัตย์มากเป็นพิเศษในสังคมไทย คือ ผู้หญิง ที่เคร่งศาสนา และ มีรายได้สูง (สอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศ) และยังพบด้วยว่า คนรุ่นหลังมีความซื่อสัตย์ในระดับที่สูงกว่าคนรุ่นก่อน (แตกต่างจากการศึกษาในต่างประเทศ)
นอกจากการสร้างเครื่องมือวัดความซื่อสัตย์ ที่เป็นมาตรฐานแล้ว การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่า ประชาชนไทยส่วนใหญ่มีความซื่อสัตย์สูง และหากจะเพิ่มพูนระดับความซื่อสัตย์ คนในสังคมควรร่วมกันสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อให้คนพูดสิ่งที่ตนคิดได้อย่างตรงไปตรงมา บอกความต้องการของตนเองได้ และปฏิเสธคนอื่นเป็น
เอกสารอ้างอิง:
Tangtammaruk, P., J., Chavanovanich, N., Siwareepan, and N., Witvorapong. (2024). Is Honesty Valued Today?: New Evidence from Thailand. Social Science Quarterly. (In Press).