ตลอดระยะเวลาสองถึงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงติดตามข่าวน้ำท่วมในหลายจังหวัดกันอย่างใกล้ชิด อุทกภัยที่เฉียบพลันและรุนแรงที่มีให้เห็นมากขึ้น ทำให้เรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เราเห็นจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
เพราะภาวะอากาศแปรปรวนและโลกที่ร้อนขึ้น ส่งผลกระทบอย่างไม่มีพรมแดน มหาสมุทรที่ร้อนขึ้น ทำให้พายุที่มีความรุนแรงก่อตัวได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งปีนี้ยังมีปรากฏการณ์ลานีญาที่รุนแรงกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกมากกว่าปกติอีกด้วย
นักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีการศึกษาว่าด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์จากข้อมูลชุดใหญ่ และในวันนี้เราจะมาดูกันว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาถึงผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อเศรษฐกิจและปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์อย่างไรกันบ้างนะคะ โดยจะขออ้างอิงถึงงานของ Botzen et al. (2019) ที่ได้รวบรวมสรุปงานสำคัญหลาย ๆ ชิ้นไว้ค่ะ
ก่อนอื่น ในเชิงผลกระทบนั้น เราแบ่งเป็น ผลกระทบโดยตรง (direct impacts) และ ผลกระทบทางอ้อม (indirect impacts) เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นค่ะ โดยผลกระทบโดยตรงก็คือ ผลกระทบทันทีหลักจากเกิดภัยพิบัติ เช่น จากอ.แม่สาย ที่ผ่านมา เราก็จะเห็นว่ามีบ้านเรือน ธุรกิจ พืชผลไร่นาเสียหายทันที
ส่วนผลกระทบทางอ้อม ก็คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากเกิดภัยพิบัติ เช่น ถ้าไม้ยืนต้นเสียหาย เพื่อให้มีรายได้ในระยะสั้น อาจมีการเปลี่ยนพื้นที่เป็นปลูกพืชล้มลุกแทน ถนนที่ถูกตัดขาด ทำให้ค้าขายไม่ได้ ผู้ขายอาจต้องเปลี่ยนอาชีพ
ในแง่มหภาค พืชผลที่เสียหายเป็นวงกว้าง ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนผลผลิต ซึ่งส่งผลให้ราคาผักผลไม้ อาหารสูงขึ้น และอาจะเกิดภาวะเงินเฟ้อตามมาค่ะ ผลกระทบทางอ้อม อาจจะเกิดในแง่บวกได้เช่นกัน เช่น หลังภัยพิบัติ ต้องมีการซ่อมแซมบ้านเรือน ทำให้เกิดความต้องการสินค้าก่อสร้าง เกิดการขยายตัวของภาคส่วนนั้น
ที่นี้ เรามาดูหลักฐานเชิงประจักษ์กันว่า ที่ผ่านมาพบอะไรบ้างนะคะ จาก Meta-analysis ระดับมหภาคแบบหลายประเทศ ที่ศึกษาภัยพิบัติ เช่น พายุเฮอริเคน อุทกภัย แผ่นดินไหว หรือ แม้กระทั่งอุณหภูมิสุดขั้ว พบว่า ส่วนใหญ่แล้วภัยพิบัติส่งผลกระทบเชิงลบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยผลกระทบจะรุนแรงขึ้นมากกว่าในอดีต อีกทั้งจะรุนแรงกว่าในประเทศกำลังพัฒนา และมักเป็นผลในระยะสั้น
เว้นแต่ภัยพิบัติที่เป็นแบบ Hydrometeorological hazards เช่น ไต้ฝุ่นเขตร้อน ที่พบผลระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนในแง่ของผู้เสียชีวิตนั้น จะมีจำนวนน้อยกว่าในประเทศที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากกว่า และยิ่งมีการเติบโตของประชากรสูงเท่าไหร ก็จะมีผลกระทบสูงขึ้นตามมา
แล้วในแง่ของผลกระทบทางอ้อม พบอะไรบ้าง จากการศึกษาผลของพายุหลายรูปแบบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970-2006 ในประเทศเขตทะเลคาริเบียน พบว่า หากเราดูผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ จะไม่พบผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
แต่พอศึกษาแยกย่อยลงไปในแต่ละภาคส่วน ก็จะพบผลกระทบในระยะยาวที่ไม่เท่ากัน กล่าวคือ ผลแง่ลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตกอยู่กับ ภาคเกษตรกรรม ค้าปลีก ค้าส่ง และ การท่องเที่ยว ในขณะที่ภาคการก่อสร้างได้รับผลกระทบแง่บวกอย่างมีนัยสำคัญ จากการลงทุนทางทุนกายภาพใหม่ทดแทนสิ่งที่สูญเสียไป
นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาระยะยาวในระดับครัวเรือนจากประเทศฟิลิปปินส์ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ผุ่นมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า ไม่ว่าครัวเรือนร่ำรวยหรือยากจน ได้รับผลกระทบเหมือนกันในระยะสั้น ซึ่งการลดรายได้ครัวเรือนเกิดประมาณ 6 เปอร์เซนต์ แต่ในระยะยาวจะเกิดผลกระทบในครัวเรือนยากจนมากกว่า เหตุมาจากการลดลงของการลงทุนในทุนมนุษย์
ส่วนผลกระทบต่อภาคธุกิจนั้น มีการศึกษาในระดับบริษัท หรือ หน่วยธุรกิจย่อย จากประเทศในเขตทวีปยุโรป ของผลกระทบจากอุทกภัย พบว่า การเกิดอุทกภัยกลับทำให้มีการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์และการจ้างงานของบริษัท เพราะการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อการชดเชยความสูญเสีย แต่ไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลิตภาพการผลิต
โดยสรุปแล้ว ถึงเราจะเห็นผลค่อนข้างหลากหลายจากการศึกษาในระดับต่าง ๆ และระยะยาวของห้วงเวลาที่ต่างกัน แต่สิ่งที่สรุปได้อย่างหนึ่งก็คือ ผลกระทบของภัยพิบัติ โดยเฉพาะในรูปแบบพายุต่าง ๆ นั้น มีผลระยะยาวหลายปี ฉะนั้น การศึกษาที่มุ่งเน้นแต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเพียงแค่ระยะสั้น ก็จะไม่ครอบคลุมถึงผลกระทบที่แท้จริงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ
นักเศรษฐศาสตร์ยังได้ถามต่อไปอีกด้วยว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเราจะแบ่งเป็นปัจจัยสองกลุ่มใหญ่คือ ปัจจัยก่อนเกิดภัยพิบัติ และ หลังเกิดภัยพิบัติค่ะ
ก่อนเกิดภัยพิบัตินั้น ปัจจัยที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงได้ ก็รวมไปถึง ข้อมูลข่าวสาร ในที่นี้นอกจากภาครัฐจะสามารถให้ข้อมูลทางสภาพอากาศที่เป็นประโยชน์ เช่น จากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ให้ข้อมูลเป็นประจำ สำนักข่าวต่าง ๆ ก็สามารถช่วยเสนอข่าวสารข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวได้
อีกทั้งประชาชนก็ต้องตระหนักถึงความสำคัญในการติดตามข่าวสาร นอกจากนั้น ระบบเตือนภัยจากภาครัฐ และ ท้องถิ่น ก็มีความสำคัญอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยสามารถลดการสูญเสียจากพายุปาบึก ในปี พ.ศ. 2562 ได้สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ถูกกระทบ เนื่องจากรัฐบาลมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงอย่างจริงจังและทันเวลา
และนอกจากภาคเอกชน รายบุคคลสามารถทำประกันภัยได้แล้ว สิ่งที่จะช่วยประกันภัยในระดับสาธารณะ ก็คือ การลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานล่วงหน้าจากภาครัฐ ในการมีโครงสร้างที่บรรเทาและป้องกันภัยพิบัติ เช่น การตัดคูคลองเพิ่มเติมล่วงหน้าเพื่อช่วยระบายน้ำ อาธิที่ จ.อยุธยา ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว
ส่วนปัจจัยที่ช่วยบรรเทาความรุนแรงเมื่อเกิดภัยพิบัติแล้ว ที่เราสามารถเตรียมล่วงหน้าได้ หนึ่งก็คือ การกระจายและรับข้อมูลข่าวสารเช่นกัน รวมถึงการลงทุนทางกายภาพสำหรับการช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ จากเหตุการณ์อุทกภัยที่ อ.แม่สาย ที่ผ่านมา
เราจะเห็นว่าอุปกรณ์จากกองทัพและจากกรมฝนหลวง เช่น เฮลิคอปเตอร์แบบต่าง ๆ เรือท้องแบน รถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก มีประโยชน์อย่างมากในการเข้าช่วยเหลือและส่งมอบเครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการจำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนทางงบประมาณสำหรับอุปกรณ์เหล่านี้
และที่สำคัญการลงทุนทางทุนมนุษย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอในการเข้าช่วยเหลือ และบรรเทาทุกข์ ก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เช่น บุคคลากรจากกองทัพ มูลนิธิ และ หน่วยกู้ภัยต่าง ๆ ในสถานการณ์ที่ภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงขึ้น การจัดสรรงบประมาณเพื่อปัจจัยเหล่านี้นำว่ามีความจำเป็น และแสดงถึงความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันและวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล
สุดท้ายแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น มีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งพฤติกรรมของพวกเราแต่ละคนต่อสิ่งแวดล้อม ก็มีผลให้ปรากฎการณ์นี้รุนแรงขึ้นหรือเบาบางลงได้
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไม่มีคำว่าสายเกินไป สำหรับการที่พวกเราจะช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยบรรเทาความรุนแรงและผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อเศรษฐกิจได้ด้วยค่ะ มาช่วยกันนะคะ
เอกสารอ้างอิง :
Botzen, WJ Wouter, Olivier Deschenes, and Mark Sanders. "The economic impacts of natural disasters: A review of models and empirical studies." Review of Environmental Economics and Policy (2019).