*** การแก้เกมหุ้นเพิ่มทุนของ บมจ.โคลเวอร์ เพาเวอร์ หรือ CV ที่ดูท่าทางว่าจะ “ขายไม่ออก” ด้วยการหั่นราคาขายหุ้นเพิ่มทุน RO เหลือ 0.50 บาท จากเดิมที่กำหนดเอาไว้ที่ราคา 1.00 บาท ดูเหมือนจะทำให้โอกาสในการเพิ่มทุนครั้งนี้ มีโอกาสสำเร็จมากขึ้นถึงแม้จนถึงนาทีนี้ เจ๊เมาธ์ก็ยังคงยืนยันว่าหุ้นตัวนี้มีอะไรแปลกๆ ที่ชวนให้ตั้งคำถาม หลายเรื่อง
ปัญหาที่น่าสนใจของการเพิ่มทุนครั้งนี้ เรื่องแรก...ถึงแม้ว่าจะทำให้ CV ได้เงินเข้ามาเพียง 1,920 ล้านบาท จากเดิมที่เคยคิดว่าจะได้เงินเข้ามาถึง 3,840 ล้านบาท แต่การออกหุ้นเพิ่มทุน 3,840 ล้านหุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 0.50 บาท ก็จะทำให้ทุนจดทะเบียนเดิมของ CV ที่มีอยู่เพียง 640 ล้านบาทปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 2,560 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมาถึง 3 เท่าตัว โดยสิ่งที่ได้เข้ามาเป็นตัวเป็นตน ก็มีเพียง บ.เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล ในสัดส่วน 20% รวมจำนวน 1,040 ล้านบาท ขณะที่เงินที่เหลืออีกเกือบ 900 ล้านบาท ก็ไม่มีความชัดเจนในวัตถุประสงค์เช่นเดิม
เรื่องที่สองเป็นการแต่งตั้งให้ “บัณฑิต สะเพียรชัย” มานั่งเป็นกรรมการของบริษัท ซึ่งเจ๊เมาธ์จำได้ว่าคล้ายกันกับในตอนที่ OTO ดึงเอากลุ่มทุนของ “บัณฑิต” เข้ามาช่วยเปิดประตูของบริษัทไปสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าด้วยการแต่งตั้ง “บัณฑิต” ให้นั่งเป็นซีอีโอ ก่อนที่จะมีปัญหาและราคาหุ้นของ OTO ร่วงต่อกันถึง 5 ฟลอร์ จนท้ายที่สุดกลุ่มทุนของ “บัณฑิต” ก็ยกเลิกดีลทั้งหมด ซึ่งนั่นก็ทำให้มองได้ว่าการที่ CV พยายามดึงเอากลุ่มของ “บัณฑิต สะเพียรชัย” เข้ามามีส่วนร่วมในการเพิ่มทุนในครั้งนี้ อาจจะเป็นเพียงการแบ่งเค้กรอบใหม่...ในหุ้นตัวใหม่อีกครั้งก็เป็นได้
ท้ายที่สุดก็ยังเป็นคำถามเดิมที่เจ๊เมาธ์สงสัยมาตลอดว่า ถ้าหากผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง “เศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล” และ “นิลทิตา เลิศเรืองศุภกุล” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ออกมติเพิ่มทุน อาจยอมที่จะสละสิทธิ์ของตนโดยไม่เพิ่มทุน และยินยอมให้บุคคลอื่นเข้ามาเพิ่มทุนในสัดส่วนที่มากกว่าเดิม จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการ Backdoor หุ้นตัวนี้ โดยที่ผู้ดูแลกติกาอย่าง ก.ล.ต. และ ตลท. ซึ่งกำลังเมาหมัดจากกรณี Naked short sell อาจจะคิดตามไม่ทันก็เป็นไปได้
ก็ไม่มีอะไรมาก...ที่เจ๊เมาธ์ตั้งคำถามเอาไว้ ก็เพื่อเป็นการป้องปรามและป้องกันไม่ให้นักลงทุนทั่วไป อาจกลายเป็นเหยื่อเท่านั้นเอง
*** กลับไปที่ PSP กันอีกรอบ ล่าสุดเจ๊เมาธ์ได้ข่าวว่า กลุ่มผู้บริหารหนุ่มเลือดใหม่ ซึ่งตั้งความหวังกับหุ้นตัวนี้เอาไว้มาก จะกลับมาสู้อีกครั้ง หลังจากที่แอบไปตั้งหลักปฏิบัติธรรมถือศีลอยู่วัดมาหลายวัน หลังจากที่ราคาหุ้นของบริษัทมีอันต้องโดน “เดอะแก๊ง” ที่เคยจับไม้จับมือตกลงกันกลับต้องมา “หักหลัง” พวกกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ “เสี่ย ต.” ที่เล่นนอกเกมจนพาคนอื่นเจ็บตัว จนแทบจะล้มกันทั้งกระดาน
เอาเป็นว่า ถ้าจะให้ดีก็เริ่มต้นด้วยการพานักลงทุน ที่ติดดอยในราคาไอพีโอ กลับลงมาจากดอยให้ได้เป็นอันดับแรก ส่วนการที่จะกลับไปที่ไฮเดิมอาจจะเป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะบริษัทยังมีพื้นฐานแข็งแกร่ง และเมื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเองได้แล้ว เรื่องอื่นที่จะตามมาเอาไว้ค่อยว่ากันอีกทีเจ้าค่ะ
*** สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลตลาดทุน อาทิ การระดมทุน สินค้า และบริการ ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การกระทำอันไม่เป็นธรรมในตลาดทุน นั่นจึงทำให้ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งเป็นประตูด่านแรกในการดึงดูดเงินลงทุน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนในสถาบัน นักลงทุนรายบุคคลทั้งรายใหญ่รายย่อย รวมไปถึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศ
ดังนั้น จึงทำให้ ก.ล.ต. ซึ่งมีอำนาจมากต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในระดับสากล ล่าสุดเจ๊เมาธ์ได้เห็นข้อมูลผลตอบแทนของ ก.ล.ต. ซึ่งแบ่งออกเป็น 10 กลุ่มงาน รวมมีพนักงานจำนวน 710 คน แต่ละคนมีรายได้เฉลี่ย 1.6 ล้านต่อคนต่อปี หรือคิดเป็น 140,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับเงินเดือนข้าราชการไทย ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรีลงมา ก็จะมีรายได้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของพนักงาน ก.ล.ต. อย่างเทียบไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะว่ากันตามความจริงที่ผ่านมาแทบจะไม่มีใครได้เห็นบทบาทที่ชัดเจนของ ก.ล.ต. ในการเข้ามาดูแลปัญหาของตลาดหลักทรัพย์จนมีข้อกล่าวหาว่า ก.ล.ต. เป็นเพียงแค่ “เสือกระดาษ” และดูเหมือนว่าพนักงานศักยภาพสูงของ ก.ล.ต. แทบจะไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อได้เห็นรายได้เฉลี่ย 1.6 แสนบาทต่อเดือน และได้เห็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจาก ก.ล.ต. ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 413.83 ล้านบาท ในปี 2565 ก็ทำให้อดที่จะมีคำถามไม่ได้ว่า เงินภาษีที่ต้องจ่ายไปนี้คุ้มค่าหรือไม่...อย่างไร
ก็ไม่ได้อยากจะคิดมากเกินไปนะคะ แต่ก็อดคิดไม่ได้เพราะถ้าทำงานไม่คุ้มค่า...ก็ไม่รู้ว่าจะมีไว้ทำไมนั่นเองค่ะ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,942 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566