*** ไม่ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยรายย่อยที่เรียกเก็บกับลูกค้าชั้นดี (MRR) ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน ของธนาคารที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ จะเป็นไปด้วยความสมัครใจ หรือ ถูกบังคับ แต่ก็ทำให้มีธนาคารพาณิชย์อย่าง BBL และ KTB ตามออกมาขานรับนโยบายการลดดอกเบี้ยที่ว่านี้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์รายอื่น ก็อาจจะตามมาในเวลาอีกไม่นาน ว่าแต่การลดดอกเบี้ยที่ว่านี้ จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง...เจ๊เมาธ์จะเล่าให้ฟัง
อย่างแรก ต้องเข้าใจก่อนว่า ในทุกๆ 0.25% ของดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น หรือ ลง จะมีผลกับรายได้ของธนาคาร ในส่วนรายได้เฉพาะส่วนที่มาจากดอกเบี้ยราว 7-10% ต่อปี แล้วแต่ธนาคาร ขณะที่การลดดอกเบี้ยนี้ใช้เวลาเพียงแค่ครึ่งปี (6 เดือน) เท่านั้น
อย่างที่สองคือ ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่ออิงกับ MRR สูง 3 อันดับแรก คือ ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีพอร์ตสินเชื่อ SME และ บ้าน รวมกันราว 30% ของพอร์ตสินเชื่อ รวมถึงพอร์ตสินเชื่อที่ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าราชการอิงกับ MRR อยู่ราว 22% ของพอร์ตสินเชื่อ
ตามด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีสัดส่วน สินเชื่อบ้าน และ SME รวมกันราว 48% ของพอร์ตสินเชื่อ และ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีสัดส่วนสินเชื่อบ้าน และ SME รวมกันประมาณ 46% ของพอร์ตสินเชื่อ และเมื่อคำนวณแล้ว ธนาคารส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบระหว่าง 0.2-0.6% (เฉลี่ย 0.3%) ของรายได้ดอกเบี้ยขั้นต้น ซึ่งจะมีผลในประมาณการปี 2567 ราว 0.6-1.8% หรือคิดเฉลี่ย 1.2% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษี
ดังนั้น เมื่อนำสัดส่วน 1.2% ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากกำไรที่ได้ ในขณะที่ธนาคารทั้งหลายยังได้รับอานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้นมาแล้วกว่า 2 ปี ก็น่าจะไม่สร้างผลกระทบในภาพรวมกับรายได้กำไร และราคาหุ้นของธนาคารทั้งหลาย อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนั่นก็ไม่ทำให้นักลงทุนจำเป็นจะต้องกังวล เรื่องมันก็มีเท่านี้เองค่ะ
*** เห็นราคาหุ้นของ ITD ก็ปรับพรวดพราดขึ้นมา หลังจากที่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.4 ล้านล้านบาท ถูกประกาศใช้ เนื่องจากคาดว่านอกจากเงินจะเข้ามาก็ยังจะมีงานใหม่ๆ ตามเข้ามา
เอาจริงๆ โดยส่วนตัวเจ๊เมาธ์บอกเลยว่า เจ๊ไม่ได้คาดหวังอะไรอย่างอื่นเลย นอกจากคาดหวังว่า ITD จะมีเงินพอที่จะเอามาจ่ายค่าแรงงาน รวมไปถึงหนี้เงินกู้และหุ้นกู้ที่ค้างชำระอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้มีอยู่กว่า 1.2 แสนล้านบาท
ดังนั้น ก็อย่าได้ไปคาดหวังอะไรกับ ITD มากเกินไปนะคะ ถึงวันนี้เอาแค่พยุงตัวไม่ให้ล้มละลาย ...รวมถึงหาเงินมาใช้หนี้ให้ได้ตามกำหนด ก็ดีต่อใจเจ้าหนี้ทั้งหลายแล้วเจ้าค่ะ อิอิอิ
*** มีข่าวว่าหลังจากที่ เสี่ย จ. ซึ่งเป็นหนึ่งในนักลงทุนรุ่นแรกที่ได้รับการจัดสรรหุ้นไอพีโอของ MGI เลิกตอแยคอยเทียวซื้อเทียวขายเล่นรอบ จนราคาหุ้นของ MGI มีอันต้องเสียทรง เพราะคนภายในทำกันเอง ก็ทำให้ทุกอย่างเริ่มกลับมาดี และราคาหุ้นที่หลุดลงไปต่ำกว่า 20 บาท ก็กลับมาซิ่งได้เหมือนเดิม
และเมื่อไม่มีใครคอยขัดแข้งขัดขา...หลังจากนี้สิ่งที่ “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” ซึ่งอยู่ในฐานะของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ จะต้องทำก็คือ การรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้นให้ได้ รวมไปถึงทำให้ชัดเจนว่าธุรกิจของ MGI จะเป็นไปในทิศทางใดกันแน่ เพราะไม่ใช่แค่มีเงินแล้วก็ไปลงทุนแหลกจนเจ็บตัว แบบที่เข้าไปซื้อหุ้น SABUY อย่างที่เจ็บตัวไปเมื่อเดือนที่แล้วอีกนะคะ เจ๊เมาธ์เอาใจช่วยค่ะ
*** นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่า เหตุการณ์ Sell in May ที่มักจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม อาจจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้ อย่างแรกก็เนื่องมาจากสถานการณ์ความตึงเครียด ระหว่าง อิสราเอล และ อิหร่าน ที่เกิดขึ้นช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น ทำให้นักลงทุนตื่นตกใจ จนพากันขายสินทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยงไปตั้งแต่ตอนนั้น ทำให้ในตอนนี้แทบจะไม่มีอะไรเหลือให้ขายได้อีกแล้ว
อย่างที่สอง ก็เป็นเรื่องของงบประมาณปี 67 ของทางภาครัฐ ที่แม้ว่าจะออกมาช้ากว่ากำหนด แต่ก็สามารถเบิกจ่ายได้ทันเวลา จนทำให้สภาพคล่องของเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ นับจากช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นมา มีพอที่จะลดความเสี่ยงของการเกิด Sell in May
ขณะเดียวกัน หากจับสัญญาณให้ดี ก็จะพบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความรุนแรง และ ระยะเวลาในการเกิดก็ลดน้อยลงทุกปี ซึ่งนั่นก็ได้ทำให้ความกังวลเรื่อง Sell in May ลดน้อยลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะทำให้เกิด Sell in May ก็ยังไม่ได้หมดไปซะทีเดียว เพราะไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยนโยบายโลก ที่ยังไม่ปรับลง ขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรอายุยาวของสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมไปถึงปัญหาความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่เกิดการสู้รบในตะวันออกกลาง...เหล่านี้ล้วนแล้วแต่กดดันตลาดหุ้นทุกวันอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่า Sell in May อาจจะไม่น่ากลัว เพราะดูแล้ว Sell every day ดูจะน่ากลัวมากกว่าเจ้าค่ะ