*** ถึงแม้ GMO Internet Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท หลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Z.com จะออกมาการันตีว่า บริษัทฯ ยังไม่มีแผนที่จะยกเลิก Z.com ซึ่งเป็นกิจการในประเทศไทย พร้อมกับการเคลมตัวเองว่า เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่น สถานะทางการเงินของบริษัทแม่มีความมั่นคงสูงและบริษัทฯ พร้อมที่จะสนับสนุนให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อไป
แต่ปัญหาปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นกับ Z.com ไม่ใช่เรื่องของการมีบริษัทแม่ ที่พร้อมจะซับพอร์ตในทุกกรณี ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะสิ่งที่เจ๊เมาธ์มอง รวมไปถึงสิ่งที่นักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ หรือ เล็ก ในประเทศไทยมอง กลับเป็นเรื่องของผลการดำเนินงาน และการดำเนินธุรกิจที่กำลังเป็นอยู่...
Z.com ขาดทุนไป 518 ล้านบาท ในปี 2565 และขาดทุน 726 ล้านบาท ในปี 2566 นับรวม 2 ปี ขาดทุนสะสมกว่า 1.163 พันล้านบาท และการขาดทุนที่ว่านี้ ยังไม่รวมไปถึงการที่ทาง Z.com ได้รับซื้อ MORE จำนวน 948 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.38 บาท จากผู้ที่ขายหุ้นให้จำนวน 4 ราย เมื่อปลายเดือน มกราคม 2566 แม้ว่าจะเป็นการซื้อแบบจำใจซื้อ หรือ จากการเปลี่ยนหนี้เป็นทุนก็ตาม
แต่การที่ Z.com ไม่ยอมตัดขาดทุน และถือมาจนถึงตอนนี้ ทำให้แค่ปีกว่าๆ Z.com ก็ติดดอยหุ้น MORE อยู่สูงถึง 0.30 บาท/หุ้น หลังราคาหุ้น MORE ปรับลงมาอยู่ที่ 0.08 บาท หรือ คิดเป็นเงินอยู่ที่ราว 284 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะบุ๊คเข้าไปในบัญชีตอนไหน
ขณะเดียวกันเรื่องของ “การปล่อยมาร์จิ้น” ซึ่ง GMO Internet Group เป็นบริษัทแม่ได้แจ้งว่า “อาจยกเลิก” แต่ใช่ว่าจะเป็นไปตามที่ว่าง่ายๆ ต้องไม่ลืมว่าการปล่อยมาร์จิ้นเป็น “วิธีการหาเงินอย่างง่าย” อาจเป็นวิธีที่บริษัทกำลังขาดทุนต่อเนื่องต้องการที่สุดก็เป็นได้
ก่อนนี้ไม่กี่ปีหลังการเริ่มต้นดำเนินกิจการ ทาง Z.com เข้าไปมีส่วนในการปล่อยมาร์จิ้นให้กับ “หุ้นตลาดวาย” หลายตัว ซึ่งแต่ละตัวต่างก็ได้โชว์ฟอร์ม “เกรี้ยวกราด” เป็นเหตุให้นักลงทุนจำนวนมาก สิ้นเนื้อประดาตัวและตัดสินใจเมินตลาดหุ้นไปแล้ว
ชื่อเสียงของ MORE OTO SABUY ต่างก็รู้กันดี ถูกดันราคาไปสูงด้วยเงินมาร์จิ้น ก่อนถูกทุบติดฟลอร์ต่อเนื่อง และล่าสุดก็เป็น NEX ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ฟื้น แม้ว่าเป็นการ “ท้าทายจริยธรรม” ในการดำเนินธุรกิจ แต่ใครจะรู้ว่า Z.com จะไม่ทำต่อไป
เกมมาร์จิ้นจะเริ่มต้นจากการที่นักลงทุนใหญ่ (จ้าว) เอาหุ้นไปค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น เพื่อนำเงินที่ได้มาไล่ซื้อหุ้นเพื่อดันราคาขึ้นไป ในลักษณะของการทำ Conner ก่อนที่ต่อมาหุ้นเหล่านั้น อาจเกิดอาการ “ฝีแตก” ซึ่งอาจมาจากหุ้นเหล่านั้น “หมดโปรฯ” หรือ อาจมีปัจจัยภายนอก ที่ทำให้หุ้นตัวนั้นหมดความน่าเชื่อถือ
จนเป็นเหตุราคาปรับลงต่ำ จนโบรก ฯ ต้องเรียกหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้นเพิ่ม...หรือไม่ ก็บังคับขายหุ้น (Force Sell) เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะลามมาถึงตัวโบรกฯ และ การ Force Sell นี่เอง ก็เป็นเหตุที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยเสียหายหนัก เพราะหุ้นร่วงลงแรงโดยที่ไม่ทันตั้งตัว!!!
แต่ถึงแม้จะบอกว่าไม่ทำ...แต่ใครจะไปแน่ใจว่า บริษัทที่ “กำลังเข้าตาจน” ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะต้อง “เพิ่มทุน” อีกหรือไม่ ยินยอมที่จะทิ้งเงินที่วางอยู่ข้างหน้า จากทางเลือกที่ไม่มีมากนัก
และถึงแม้จะบอกว่า ไม่ปิดกิจการอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการ "เพิ่มทุน" หรือ "ขายกิจการ" จะเป็นประตูที่ถูกปิด ถึงตอนนี้เจ๊เมาธ์มองว่า Z.com ยังลอยๆ อยู่มากเจ้าค่ะ