ผลการดำเนินงานของธนาคารประจำไตรมาสที่ 2/67 ในธนาคาร 8 แห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย SCB KBANK BBL KTB BAY TTB KKP TISCO มีธนาคารที่ผลการดำเนินปรับเพิ่มขึ้นและลดลงในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว
โดยธนาคารที่ผลงานดีขึ้น 4 รายประกอบไปด้วย TTB KBANK KTB และ BBL โดยที่ทาง TTB ซึ่งมีกำไรสุทธิไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 5,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.3% ขณะที่ KBANK มีกำไรสุทธิไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 12,653 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%
ส่วนทาง KTB มีกำไรสุทธิไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 11,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% และมี BBL กำไรสุทธิไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 11,807 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
เด่นที่สุดในกลุ่มผลการดำเนินงานที่เป็นบวกคือ KBANK ซึ่งส่วนรายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 37,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.09% รายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 12,961 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนหุ้นที่ผลการดำเนินงานปรับลงก็มี 4 ราย ประกอบไปด้วย KKP SCB TISCO BAY โดยที่ KKP มีกำไรสุทธิไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 769 ล้านบาท ลดลง 45.4% ขณะที่ SCB มีกำไรสุทธิไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 10,014 ล้านบาท ลดลง 15.6%
ด้าน TISCO มีกำไรสุทธิไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 1,748.99 ล้านบาท ลดลง 5.7% ขณะที่ BAY มีกำไรสุทธิไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 8,209 ล้านบาท ลดลง 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
น่าจับตามองที่สุดในหุ้นกลุ่มธนาคาร ที่ผลการดำเนินงานลดลงคือทาง KKP ซึ่งมีส่วนรายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 5,009 ล้านบาท ลดลง 9.3% รายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1,543 ล้านบาท ลดลง 18.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุสำคัญคือ ตลาดธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และตลาดทุนยังฟื้นตัวล่าช้า ซึ่งเป็นพอร์ตหลักของ KKP (45% ของสินเชื่อรวม) และคาดปัญหาตลาดเช่าซื้อกินระยะเวลานาน โดยเฉพาะคุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอ ทำให้กระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม หากมองไปที่รายได้ที่เพิ่มขึ้นในภาพรวม จะพบว่าธนาคาร 7 ใน 8 ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นจากทิศทางดอกเบี้ย ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีเพียง KKP ที่มีแหล่งรายได้หลัก มาจากธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ยังอ่อนแอ แต่ก็คิดเป็นเพียง 3% ที่มาจากส่วนของดอกเบี้ยเท่านั้น
ดังนั้น นี่จึงถือได้ว่าอาจเป็นโอกาสดีที่จะเก็บ หรือ ได้ถัว เพื่อให้ถือได้ยาว ขณะที่ถึงแม้ว่าธุรกิจธนาคารในตอนนี้ราคาหุ้นอาจจะไม่เติบได้อย่างที่ควรจะเป็น แต่อย่างน้อยหุ้นธนาคารก็มีปันผล ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลุมหลบภัยที่ดีสำหรับตลาดหุ้นไทย ที่ยังคงเปราะบางแบบนี้นั่นเอง
*** ถึงแม้บอร์ดบริหารชุดใหม่ของ NUSA จะไม่มีชื่อของอดีตผู้บริหาร อย่าง “วิษณุ เทพเจริญ” และ “ศิริญา เทพเจริญ” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า NUSA ซึ่งตอนนี้หุ้นได้อยู่ในมือของกลุ่ม “กิตติอิสรานนท์” แทบทั้งหมดจะยังคงแข็งแกร่งอย่างที่ควรจะเป็น
แน่นอนว่า อย่างหนึ่ง ก็เป็นเพราะก่อนที่กลุ่ม “กิตติอิสรานนท์” จะสามารถกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ พบว่าสินทรัพย์ของบริษัทถูกกลุ่ม “เทพเจริญ” ขายหลายรายการ จนเป็นชนวนเหตุให้เกิดสงครามภายใน จนมีการแจ้งความและฟ้องร้องกันวุ่นวาย
ส่วนอย่างที่สอง เป็นเรื่องของแหล่งรายได้ใหม่ที่จะทำให้ NUSA กลับมากลายเป็นบริษัทที่มีกำไรอย่างเช่น หุ้นบางส่วนของ บริษัท วินด์ เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังคงติดปัญหา ไม่สามารถถ่ายโอนเข้ามาได้ อย่างที่เคยคุยกันไว้ ขณะที่ธุรกิจเดิมที่เคยทำส่วนใหญ่ก็มีแค่ชื่อ แต่ไม่สามารถสร้างรายได้แบบมีสาระ
ดังนั้น ถึงตอนนี้ที่ทางของรายได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อมั่นและราคาหุ้นจึงยังคงหยุดนิ่ง ซึ่งเจ๊เมาธ์แนะนำว่า ตอนนี้อย่าเพิ่งไปยุ่งหากใครสนใจหุ้นตัวนี้ ยังควรจะต้องรอเวลา เอาไว้รอให้มีกำไรให้เห็นได้จริงแล้วค่อยมาว่ากันใหม่ก็ยังไม่สาย