*** แน่นอนว่าเรื่องของการบังคับขาย หรือ Force Sell ไม่ใช่เรื่องใหม่ของตลาดหุ้น แต่การที่หุ้นหลายตัวถูก Force Sell ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือ ใกล้เคียงกัน กลับเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งกว่า
ล่าสุด “ธนัช จุวิวัฒน์” อดีตผู้ถือหุ้นลำดับแรกของหุ้นตัวร้อนอย่าง YGG (บมจ. อิ๊กดราซิล กรุ๊ป) ซึ่งเดิมมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ถึง 41.143% ของกิจการ ได้ถูก Force Sell จนเป็นเหตุให้เหลือหุ้นในมือเพียง 4.286% และยังส่งผลให้ “ศรุต ทับลอย” ผู้ถือหุ้นลำดับ 2 ในสัดส่วนการถือหุ้น 7.723% ขยับขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับแรกของ YGG ซึ่งทำให้มีจุดที่เจ๊เมาธ์สนใจวิเคราะห์ตามมาอีกหลายอย่าง
อย่างแรก...เป็นเรื่องของการขายหุ้นออกมาต่อเนื่องกัน 3 วัน ของ “ธนัช จุวิวัฒน์” โดย วันที่ 2 ก.ค. ขายหุ้นออก 7.15 ล้านหุ้น หรือ 1.19% ผ่านกระดานหลักทรัพย์ ต่อมาวันที่ 3 ก.ค. ขายหุ้นออก 11.15 ล้านหุ้น หรือ 1.85% ผ่านกระดานหลักทรัพย์ และ ท้ายที่สุดวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ขายหุ้นออกไป 203.56 ล้านหุ้น หรือ 33.82% ผ่านกระดานหลักทรัพย์
ทำให้ล่าสุด “ธนัช” เหลือหุ้นอยู่เพียงแค่ 4.28% หรือคิดเป็น 25.80 ล้านหุ้น ซึ่งหากคำนวณจากราคาหุ้นหน้ากระดานล่าสุด (10 ก.ค.) ที่ปิดราคาหน้ากระดานอยู่ที่ 1.93 บาท ก็จะพบว่า มูลค่าหุ้นของ YGG ที่ “ธนัช” มีเหลืออยู่ในมือ มีมูลค่ารวมไม่ถึง 50 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างที่สอง...พบว่าการขายหุ้นของ “ธนัช จุวิวัฒน์” เป็นการขายหุ้นผ่านกระดานซื้อขายทั้ง 3 รอบ ไม่ใช่การขายหุ้นแบบบิ๊กล็อตที่เจาะจงขายให้ใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น หุ้นของ YGG ทั้งหมดของ ธนัช ที่ถูกบังคับขาย (Force Sell) จะถูกกระจายไปยังผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นส่วนใหญ่
หมายความว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของ YGG ในปัจจุบันจะมีหุ้นอยู่ในมือเพียง 7.723% เท่านั้น และนั่นก็ยังหมายความต่อไปว่า สถานะของ YGG ในตอนนี้ไม่ต่างไปจาก “เบี้ยหัวแตก” ซึ่งไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่สามารถกำหนดทิศทางของบริษัทได้อย่างแท้จริง
อย่างที่สาม...เป็นปัญหาที่ตามมาของหุ้น “เบี้ยหัวแตก” ซึ่งมักจะมีลักษณะของโครงสร้าง ทั้งการบริหารและโครงสร้างทางการเงิน ที่ไม่อ่อนแอลง จนเป็นเหตุให้ถูกเข้าแทรกแซงจากกลุ่มทุนภายนอก โดยไม่จำเป็นต้องทำรายการบิ๊กล็อตจากผู้ถือหุ้นรายใดรายหนึ่ง
เพราะเพียงใช้วิธีการเข้าเก็บหุ้นในกระดานเพียง 5-10% ก็ทำให้เป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งได้ง่ายๆ ซึ่งไม่แน่ว่า อาจจะทำให้ YGG สูญเสียความเป็นตัวตน จนอาจกลายเป็นเครื่องมือของการ “ปั่นหุ้น” จากกลุ่มทุนใหม่ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า ไม่มีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาช้อนซื้อหุ้นของ YGG ได้มากกว่า “ศรุต ทับลอย” ที่ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 7.723% ดังนั้น จึงอาจจะยังไม่ต้องคิดกันไปไกล
แต่ตอนนี้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของบริษัท ที่แม้จะจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานก็ยังลำบาก เป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไขให้ได้ก่อนที่จะคิดเรื่องอื่น เนื่องจากไม่ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่จะเปลี่ยนมือไปเป็นใคร แต่พนักงานก็ยังควรต้องได้รับเงินเดือน เรื่องมันก็มีเท่านี้เองเจ้าค่ะ
*** ดูเหมือนว่า การที่หุ้นเพิ่มทุนของ W ซึ่งถูกเสนอขายในราคาหุ้นละ 0.65 บาท ให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวน 10 ราย แต่มีนักลงทุนเพียง 2 ราย ที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 31.50 ล้านหุ้น จากหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด 1,650 ล้านหุ้น จนเหลือหุ้นเพิ่มทุนอีกจำนวนถึง 1,618.50 ล้านหุ้น ที่ยังขายไม่ได้
ทั้งนี้หากจะพูดตามตรงก็เป็นที่รู้กันว่าการ “เอะอะก็เพิ่มทุน” ของกลุ่มคนเบื้องหลังของหุ้นตัวนี้ก็คือ การ “เคาะกะลา” เพราะหวังอาจมีนักลงทุนหน้าใหม่ ที่ไม่ทันเกมหลุดเข้ามาเป็นเหยื่อ แต่ก็อย่างว่า ...อะไรที่ทำบ่อยเกินไปก็จะมีคนรู้ทัน จนทำให้แม้กระทั่ง “เพื่อนนักเล่นราคา” บางคนในกลุ่ม “ระแวง” จนขายหุ้นเพิ่มทุนได้ไม่หมดอย่างที่เห็น
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเป็นคนกันเองก็น่าจะมีการพูดคุยกัน
ดังนั้น เงินที่ได้มาจากการเพิ่มทุนรอบนี้ จะมากบ้างน้อยบ้าง ก็จะถูกนำไปซื้อหุ้นของกลุ่มทุนใหม่ ที่กำลังจะเข้ามาลงทุน W นัยว่าเป็นไปเพื่อเก็งกำไร เพราะไม่ว่าจะแบ่ง หรือ จะแยกกันยังไง แต่ท้ายที่สุด ก็ยังเป็นกลุ่มเดียวกันนั่นเอง ถือว่าแบ่งกันกิน จะเล่นรอบ หรือทำอะไรก็ไม่มีปัญหา เพราะหากมีเหยื่อรายใหม่เข้ามาก็สบายกันทั้งวง
แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อย หุ้นแบบนี้...เจ๊เมาธ์แนะนำว่าดูห่างๆ เพราะขนาดคนใกล้ตัวยังเมิน นับประสาอะไรกับคนนอก บอกเลยว่าหุ้นไม่มีสตอรี่ แต่ราคาวิ่งแบบที่ไม่มีเหตุผลรองรับ มันน่ากลัว และยิ่งถ้าหากได้รู้ว่ามีใครอยู่ ความน่ากลัวนี้ก็ยิ่งควรจะถอยออกให้ห่างนะคะ อย่าลืมว่าคนกลุ่มนี้เคยทำหุ้นอย่าง OTO ให้พัง จนเป็นที่ประจักษ์มาแล้วเจ้าค่ะ อิอิอิ