YGG แทงสูงกว่า...ก็ไปก่อน!

05 ก.ค. 2567 | 00:30 น.

YGG แทงสูงกว่า...ก็ไปก่อน! : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4007

*** ไม่จำเป็นที่จะต้องอธิบายให้มากความก็รู้ว่า สาเหตุที่ราคาหุ้นของ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ YGG ร่วงติดต่อกันถึง 3 ฟลอร์ ก่อนที่จะปรับราคาดีดกลับคืนมาได้บ้าง เป็นปัญหาที่เกิดจากการถูกบังคับขาย (Force Sell) ภายหลังการเอาหุ้นไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น ในสัดส่วนที่สูงกว่าหุ้นตัวอื่นในตลาดฯ ประมาณว่า แทงสูงมากกว่าใคร เวลาพัง...ก็ไปก่อนใครนั่นเอง

จากตัวเลขการเอาหุ้นไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น พบว่า YGG เป็นบริษัทที่นำหลักทรัพย์ไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น ในสัดส่วนสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย มากถึง 54.23% ในเดือนพฤษภาคม 

 

โดยปรับขึ้นจากในเดือนเมษายน ที่วางหุ้นค้ำเอาไว้ที่ 46.36% (จำนวนหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกัน ต่อ จำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท) โดยอ้างอิงตามตัวเลขของตลาดหลักทรัพย์ฯ ประจำเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ชัดเจนว่ากรณีของ YGG เป็นปัญหาที่เกิดจากการนำหุ้นไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น ไม่ต่างไปจาก “ฝีที่กลัดหนอง” มานานก่อนที่ฝีจะแตก...

*** หลังจากนี้จะมีหุ้นตัวไหนที่จะถูกบังคับขาย (Force Sell) ตามมาอีกบ้าง ???

อย่างแรก คงต้องวนกลับไปถึงเรื่องของ Z.Com ที่ประกาศให้ลูกค้าทุกรายที่มีบัญชีมาร์จิ้น จะต้องปิดพอร์ตพร้อมทั้งยัง “สั่ง” เรียกหนี้คืนภายใน 20 ธันวาคม 2567 รวมไปถึงยังมีบริษัทหลักทรัพย์อีกหลายแห่งที่เริ่มขยับตัว เพราะระแวงว่าปัญหาเรื่องบัญชีมาร์จิ้นอาจเกิดกับตัวเองได้เช่นกัน 

และนี่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้น ที่หลายบริษัทถูกแจ้งให้ต้องเตรียมเงิน หรือ หลักทรัพย์อื่นมาวาง หรือ มาชำระหนี้ จนอาจทำให้บริษัทขาดสภาพคล่อง ซึ่งกรณีนี้พบว่า บริษัทที่เอาหุ้นไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น อีก 4 รายถัดจาก YGG ที่วางหุ้นค้ำเอาไว้มากเป็นอันดับที่ 1 ของตลาดฯ ประกอบด้วย

อันดับที่ 2 คือ SCM วางหุ้นค้ำเอาไว้ 52.09%

อันดับที่ 3 คือ TFG วางหุ้นค้ำเอาไว้ 51.36%

อันดับที่ 4 คือ GPI วางหุ้นค้ำเอาไว้ 51.12%

อันดับที่ 5 คือ SAAM วางหุ้นค้ำเอาไว้ 49.97%

อย่างที่สอง เป็นกรณีที่ถ้าหากบริษัทถูกแจ้งให้ต้องเตรียมเงิน หรือ หลักทรัพย์อื่นมาวาง จนเป็นเหตุให้ผู้บริหารตัดสินใจขายหุ้นออกมาเองเพื่อที่จะคุมเกม เพื่อให้ขายหุ้นได้ในราคาสูงที่สุด เพราะกังวลว่า ถ้าหากหุ้นถูก Force Sell จากเจ้าหนี้บริษัทอาจจะไม่เหลืออะไรติดมือเลยก็เป็นได้ 

นั่นก็ทำให้เรื่องของการเทขายหุ้นออกมา แบบไร้เหตุผลในทุกราคา จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดจากการถูกบังคับขาย (Force Sell) จากเจ้าหนี้เพียงอย่างเดียว แต่ยังอาจเกิดจากที่ผู้บริหารเล่นเกมทางการเงินได้ในอีกกรณีเช่นกัน...

*** วนกลับมาที่เรื่องของ YGG อีกครั้ง ล่าสุดพบว่า นางสาวศิรกาญจน์ สุทธิเกียรติ ประธานกรรมการบริหารฝ่ายการเงิน ได้ลาออกจากตำแหน่ง โดยมีผลทันทีตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 

ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวว่าบริษัทไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้ตามกำหนด โดยเลื่อนเวลาจ่ายออกไปอย่างน้อยครึ่งเดือน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการสภาพคล่องอย่างรุนแรงของบริษัท จากการถูกเรียกเงินหรือหลักทรัพย์อื่นมาวาง หรือ มาชำระหนี้อย่างที่เจ๊เมาธ์พูดถึงในเรื่องบัญชีมาร์จิ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม...ใช่ว่าทุกบริษัทที่นำหุ้นไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้นจะต้องถูก Force Sell ไปทุกแห่ง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะปัจจัยการ Force Sell ยังมีเรื่องของผลประกอบการ เรื่องของธุรกิจ เรื่องของความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัท ซึ่งสะท้อนผ่านออกมาทางราคาหุ้น เรื่องของวัตถุประสงค์ของการนำเงิน ที่ได้จากบัญชีมาร์จิ้นไปใช้ประโยชน์ใด รวมไปถึงการนำหุ้นไปวางเอาไว้กับเจ้าหนี้รายใดอีกด้วย 

ดังนั้น หากไม่แย่เกินไปจริงๆ ที่ราคาหุ้นจะร่วงลงไปสองฟลอร์หรือ สามฟลอร์ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ สบายใจได้เจ้าค่ะ