SINGER เพิ่มทุน หรือ...เวียนเทียน!

09 ก.ค. 2567 | 23:30 น.

SINGER เพิ่มทุน หรือ...เวียนเทียน! : คอลัมน์เมาธ์ทุกเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

*** ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ บมจ. เอสจี แคปปิตอล หรือ SGC ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทกลุ่ม JMART ของ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” มีอันที่จะต้องเพิ่มทุน หลังจากที่อั้นมานานจนทนไม่ไหว แต่หากการเพิ่มทุนในครั้งนี้เป็นปัญหาของ SGC แต่เพียงบริษัทเดียว เรื่องนี้ก็คงไม่มีค่าอะไรที่เจ๊เมาธ์ต้องเอามาพูดให้เปลืองเวลา แต่เรื่องนี้กลับกระทบกับผู้ถือหุ้นรวมถึงบริษัทเครือ JMART ทั้งตระกูลนี่สิ ทำให้เจ๊เมาธ์ไม่พูดถึงก็คงจะไม่ได้...

อย่างแรก ต้องรู้เอาไว้ก่อนว่า บริษัทในเครือ JMART เป็นกลุ่มบริษัทที่มีการถือหุ้นไข้วกันไปมาทั้งตระกูล ดังนั้น การเพิ่มทุนจำนวน 5,232 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 8,502 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 3,270 ล้านบาท ในแบบของการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering : RO) ในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ จึงทำให้ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้น 74.92% อยู่ใน SGC จึงต้องควักเงินของตัวเอง เพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนถึงเกือบๆ 4 พันล้านบาท

ขณะที่ในฝั่งของ JMART ซึ่งถือหุ้นอยู่ใน SINGER อยู่ในจำนวน 25.20% ก็มีท่าว่าจะต้องรับภาระค่าใช้จ่าย ในการเพิ่มทุนนี้ไปตามสัดส่วนของการถือหุ้น ไม่ต่างไปจาก SINGER เช่นกัน

อย่างที่สอง คือ วัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนในครั้งนี้ คือ การนำเงินไปใช้หนี้ให้กับ SINGER ซึ่งบริษัทแม่เป็นหลัก หมายความว่าในทางทฤษฎีแล้ว SINGER อาจจะมีแค่รายจ่ายทางบัญชี แต่ในความเป็นจริง กลับไม่ได้มีการควักเงินใดออกมา เนื่องจากเงินเกือบๆ 4 พันล้านบาท ที่บอกว่าจะต้องจ่ายออกมาเพื่อการเพิ่มทุนทั้งหมด ก็จะถูกนำมา “เวียนเทียน” โดยนำกลับมาชำระหนี้ให้กับตนเอง 

ดังนั้น หากจะมองว่าเงินที่จะเพิ่มทุนใน SGC ของ SINGER เป็นเพียงเรื่องของการ “เวียนเทียน” ก็จะหมายความว่า เงินในส่วนของผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ถูกดึงมาเพิ่มทุนแบบ RO ในจำนวนที่เหลืออยู่อีก “พันกว่าล้าน” ก็จะเป็นของจริงที่ถูกดูดเข้าไปยัง SINGER และ JMART ซึ่งจะทำให้ทั้ง SINGER และ JMART มีรายรับเข้ามาในงบ โดยที่ทั้งสองบริษัทแทบไม่ต้องทำอะไรผ่านทางการ “บุ๊คเป็นรายได้” ที่มาจากการใช้หนี้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ที่เจ๊เมาธ์ว่ามา คือ การวิเคราะห์ โดยใช้มุมมองในเรื่อง “อัฐยายซื้อขนมยาย” ประมาณว่า เมื่อ SINGER สร้างรายได้เองไม่ได้หรือได้ก็น้อยมาก ดังนั้นจึงอาจใช้วิธีการ “เวียนเทียน” ผ่านการเพิ่มทุนของ SGC ซึ่งเป็นบริษัทลูก เพื่อทำให้งบการเงินของบริษัทมีความเคลื่อนไหว ...ไม่มีอะไรพิเศษทั้งนั้นค่ะ

*** ในที่สุด บมจ.สบาย คอนเน็กซ์ เทค หรือ SBNEXT หรือเดิมคือ TSR (บมจ. เธียรสุรัตน์) ซึ่งทาง SABUY ได้เข้าถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 24.90% เมื่อปี 2565 ขณะนี้ได้กลับไปอยู่กับ “กลุ่มแจ้งอยู่” อีกครั้ง โดยครั้งนี้ “เอกรัตน์ แจ้งอยู่” กลับมานั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมกับ การกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ตัวจริง
ว่าแต่มันเกิดอะไรขึ้นกับ SBNEXT กันแน่...

อย่างแรก ภายหลังจากที่ SABUY ได้เข้าถือหุ้นใหญ่จำนวน 136.90 ล้านหุ้น คิดเป็น 24.90% ต้นทุนเฉลี่ยราว 3.91 บาท/หุ้น พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทีมบริหาร แต่ในทางกลับกันผลการดำเนินงานกลับมีแต่ลดลง 

โดยหลังจากในปี 65 บริษัทมีกำไร 71.99 ล้านบาท ต่อมาในปี 66 พลิกเป็นขาดทุน 86.49 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 1/67 มีรายได้เพียง 363 ล้านบาท ขาดทุน 93.15 ล้านบาท ซึ่งนั่นก็ทำให้ราคาหุ้นของ SBNEXT ปรับราคาลงมาจนเหลือเพียง 0.40 บาท ในปัจจุบัน

อย่างที่สอง น่าสังเกตว่าถึงแม้กลุ่ม SABUY จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมไปถึงปรับโครงสร้างการบริหารใหม่ทั้งหมด แต่ในส่วนธุรกิจขายเครื่องกรองน้ำผ่านการขายตรง ซึ่งเป็นธุรกิจเดิมของ “เธียรสุรัตน์” ยังคงไม่เปลี่ยน อันอาจหมายความได้ว่า ถึงแม้ในท้ายที่สุดแล้ว SABUY จะไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SBNEXT แต่สิ่งที่จะตามไปกับ SABUY ก็จะเป็นเพียงธุรกิจที่ถูก SABUY วาดฝันเอาไว้ 

ในทางกลับกัน ธุรกิจขายเครื่องกรองน้ำผ่านการขายตรง ซึ่งเป็นความชำนาญเฉพาะของ “เธียรสุรัตน์” ก็จะกลับมาพร้อมกับ “กลุ่มแจ้งอยู่” เหมือนกับว่า SABUY ไม่เคยเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องใด อาจมีก็แค่ราคาหุ้นที่ปรับลงมามาก ซึ่งนั่นก็ถูกแลกมาด้วยเงินที่ SABUY ทุ่มเงินลงทุนกว่า 534 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น TSR นั่นเอง 

เจ๊เมาธ์ไม่อยากฟันธงว่าเกิดอะไรขึ้น ...แต่ที่เจ๊เมาธ์รู้แน่นอน ก็คือ ในท้ายที่สุด เมื่อ SABUY ออกไปแล้วทุกอย่างก็จะเข้ามาเหมือนเดิม SBNEXT ยังทำธุรกิจเดิม และ “กลุ่มแจ้งอยู่” ก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารเหมือนเดิม จะมีที่แตกต่าง ก็คือ รายย่อยซีดลง และเม็ดเงินก็หายไป ผ่านราคาหุ้นที่ปรับลงมาจนเหลือแค่ 0.40 บาทก็เท่านั้นเองค่ะ