SINGER หัวไดโว่...

02 ส.ค. 2567 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2567 | 00:35 น.

SINGER หัวไดโว่... : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

*** ในที่สุดการเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้นในเวลาเพียง 12 วัน ของ SINGER โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มทุนในบริษัทย่อยของตน ก็เป็นคำตอบว่าคำถามลอยๆ ในเรื่องการเพิ่มทุนของ บมจ. เอสจี แคปปิตอล หรือ SGC ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทกลุ่ม JMART ของ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” เป็นการ “เพิ่มทุนหรือเวียนเทียน” ตอนนี้...คำถามของเจ๊เมาธ์ได้คำตอบแล้ว....

อย่างหนึ่ง ต้องรู้ก่อนว่า SGC ประกาศเพิ่มทุนจำนวน 5,232 ล้านบาท โดยการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ นั่นจึงทำให้ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ในฐานะของบริษัทแม่ที่ถือหุ้น 74.92%

 

ขณะที่ในฝั่งของ JMART ซึ่งถือหุ้นอยู่ใน SINGER อยู่ในจำนวน 25.20% ก็มีท่าว่าจะต้องรับภาระค่าใช้จ่าย ก็ต้องรวมกันควักเงินเพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนถึงเกือบๆ 4 พันล้านบาท 

ขณะที่วัตถุประสงค์หลักในการเพิ่มทุนในครั้งนี้ คือ การนำเงินไปใช้หนี้ให้กับ SINGER เป็นหลัก หมายความว่า SINGER จะต้องควักเงินเงินสดเกือบๆ 4 พันล้านบาท ออกมาเพื่อการเพิ่มทุน ก่อนที่เงินทั้งหมดก็จะถูกนำกลับมาใช้หนี้คืนให้ตนเอง 

อย่างที่สอง เมื่อชัดเจนแล้วว่า SINGER เตรียมขายหุ้นกู้อายุแค่ 12 วัน เป็นการทำไปเพื่อนำเงินไปเพิ่มทุนใน SGC ซึ่งหากได้เงินสดจากการขายหุ้นกู้ครบตามจำนวนที่ต้องการ

ในท้ายที่สุด เมื่อเงินเพิ่มทุนใน SGC หมุนกลับเข้ามาหา SINGER ในรูปแบบของการชำระหนี้ ก็จะทำให้ SINGER มีเงินสดกลับมาใช้หนี้คืนให้กับเจ้าหนี้หุ้นกู้ โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นดอกเบี้ยหุ้นกู้ในระยะเวลาเพียง 12 วันเท่านั้น ในรูปแบบของการ “เวียนเทียน” ตามที่เจ๊เมาธ์เคยตั้งสมมุติฐานเอาไว้

ท้ายที่สุด ก็เป็นเรื่องของการเงินเพิ่มทุน ที่ยังขาดอยู่อีกจำนวนพันกว่าล้านบาท ซึ่งผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ถูกดึงมาเพิ่มทุนแบบ RO ในจำนวนที่เหลืออยู่ ก็จะเป็นของจริงที่ถูกดูดเข้าไปยัง SINGER JMART และ SGC ในแบบที่ทั้งสามบริษัทแทบไม่ต้องทำอะไรเลย

ดังนั้น บทสรุปการเพิ่มทุนของ SGC ก็คือ การที่ SINGER และ JMART ทำการ “เวียนเทียนหนี้” ของตัวเองเอามาบุ๊คเป็นรายได้ผ่านการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้อายุ 12 วัน และการที่ผู้ถือหุ้นใน SGC รายอื่น ต้องเดินหน้าเพิ่มทุนในแบบที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ดูเหมือนว่า SINGER ทำตัวเป็น “ไดโว่” ดูดผู้ถือหุ้นและนักลงทุนเข้าไปเท่านั้นเอง

*** น่าสนใจว่าราคาหุ้นของ บมจ. โมโน เน็กซ์ หรือ MONO และ บมจ. จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS ซึ่งมี “พิชญ์ โพธารามิก” มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 57.73% และ 53.21% ตามลำดับ นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มีรูปแบบการปรับราคาขึ้นลงสลับกันเป็นฟันปลา ประมาณว่า เมื่อเห็นราคาหุ้นของ MONO ที่กำลังขยับตัวขึ้นก็เริ่มมองเห็นขาลงของ JAS ในช่วงเวลาเดียวกัน

ว่าแต่ตอนนี้มันกำลังเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นของเสี่ยพิชญ์กันแน่ ???

อย่างแรก เป็นกรณีของ JAS ซึ่งในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา บอร์ดของ JAS มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนในราคาหุ้นละ 5 บาท โดยจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นแสดงเจตนาขายหุ้นคืนให้กับ JAS ระหว่างวันที่ 25 มิ.ย.-23 ก.ค. 67 พร้อมเตรียมออกวอแรนท์ตัวใหม่ (JAS-W4) ให้ผู้ถือหุ้นที่ไม่ต้องการขายหุ้นคืนให้บริษัทในการอัตรา 2 หุ้นต่อ 1 หน่วยวอแรนท์ ซึ่งคาดว่าจะซื้อขายได้ไม่เกินกลางเดือนตุลาคม 67

ดังนั้น นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นเกิด Dilution Effect (ผลกระทบที่ทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีสัดส่วนการถือหุ้น หรือ มีความเป็นเจ้าของในบริษัทน้อยลง) หลังจากที่ผู้ถือหุ้นเดิมได้รับสิทธิ์ในวอแรนท์ตัวใหม่ที่กำลังจะออกมา (JAS-W4) ก็เป็นได้

อย่างที่สอง เป็นจังหวะที่ราคาหุ้นของ MONO ปรับราคาขึ้นหลังจากที่ผู้บริหารกล่าวถึงผลการดำเนินงานในปี 2567 ว่า รายได้จะกลับมาเติบโตกว่าปี 2566 โดยคาดหวังจากธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่ง (แบบบอกรับสมาชิก) MONOMAX ซึ่งในปี 67 คาดจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านราย จากปัจจุบันที่มียอดสมาชิกอยู่ราว 1 ล้านราย รวมไปถึงคอนเทนต์ MONO ORIGINAL เข้ามาเสริม ซึ่งรายได้จะขยายตัวได้ 15-25% 

เพียงแต่ในมุมมองของเจ๊เมาธ์ ...เจ๊มองว่าการที่ราคาหุ้นของ MONO ปรับราคาขึ้นมาเกือบ 200% ในเวลาเพียงหนึ่งเดือนดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผล กับบริษัทที่ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายไตรมาสเท่าใดนัก

อย่างที่สาม เป็นมุมมองในเรื่องของการเวียนเทียนเล่นรอบราคา ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า หลังจบเกมเรื่องการดันราคาหุ้น JAS ผ่านทางสตอรี่ของการซื้อหุ้นคืน และการแจกวอแรนท์ ก็ถึงรอบของการดันราคาหุ้นของ MONO ซึ่งอยู่ภายใต้อาณาจักรของ “พิชญ์ โพธารามิก” ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม หากมองลงไปลึกอีกสักหน่อย ก็จะพบว่า ทั้ง JAS และ MONO ต่างก็มองข้ามไม่ได้ เนื่องจากทั้งสองเป็นบริษัทที่มีของอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นเงินสดที่ยังไม่ได้เอาไปทำอะไรกว่า 2 หมื่นล้านบาทของ JAS รวมไปถึง MONO ซึ่งมีธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่ง (แบบบอกรับสมาชิก) MONOMAX และคอนเทนต์ MONO ORIGINAL ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ดีที่สุดแต่ก็ไม่ได้แย่เกินไป 

บอกเลยว่าของแบบนี้มันไม่แน่ ในจังหวะที่ไม่มีอะไรเลย ก็อาจจะเป็นจังหวะที่ทำให้ ทั้ง JAS และ MONO กลับมาตั้งหลักใหม่อีกครั้งก็เป็นได้ ...เรื่องแบบนี้มันไม่แน่อยู่แล้ว