บมจ.การบินไทย (THAI) ก็ยังเป็นดั่ง “เหมืองทอง” ซึ่งถูกจับจ้องคอยมองหาแต่ผลประโยชน์ แม้ว่าจะอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลฯ ก็ยังไม่วาย...
เพราะเมื่อทุกอย่างเริ่มกลับมาเข้าที่ ตัวบริษัทเริ่มมีกำไรรวมถึงมีแนวโน้มว่าหุ้นของบริษัทจะได้กลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหุ้นได้อีก "การบินไทย" ก็เริ่มกลับเข้ามาอยู่ในโฟกัส เพียงแต่คราวนี้อาจมาในรูปแบบของ "ผู้พิทักษ์" หรือ เป็นผู้หวังดีที่จะช่วยดูแลผลประโยชน์ก็เป็นได้
หากยังจำกันได้ ในช่วงเวลาที่ “การบินไทย” เริ่มเสียหลัก เหล่าผู้พิทักษ์ในวันนี้ ในตอนนั้นต่างพากันทำเป็นมองไม่เห็น ว่ากันว่า...อาจถึงขั้นกะจะปล่อยให้ล้มละลาย ไปจนถึงทอดทิ้งให้ต้องเผชิญวิบากกรรมตามลำพังซะด้วยช้ำ!!!
ทุกอย่างเริ่มต้นหลังจาก “การบินไทย” ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปีจนในที่สุดต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ตามที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 โดยศาลฯ ได้แต่งตั้งผู้บริหารแผนจำนวน 5 คน เพื่อทำหน้าที่บริหารการบินไทย ให้เป็นไปตามแผน
จนต่อมา เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตแผนแก้ไขฟื้นฟูกิจการ แม้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ 78.59% ได้โหวตยอมรับการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ แต่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ 3-4 ราย ที่ยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขดังกล่าว
การเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารแผนฟื้นฟูสายการบินไทยกับ สายธนาคารกรุงเทพ ในฐานะเจ้าหนี้ นำไปสู่การลาออกของผู้บริหารแผนฯ จากธนาคารกรุงเทพ 2 คน ในวันที่ 21 ตุลาคม. 2565 ส่งผลให้มีผู้บริหารแผนฯ เหลืออยู่เพียง นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร
ด้วยเหตุที่แผนฟื้นฟูฯ เน้นไปที่การ “ปรับลดเพื่อเติบโต” ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนเครื่องบินที่มีหลายรุ่นมากเกินไป ให้สามารถควบคุมต้นทุน ทั้งการดูแล และ ซ่อมบำรุง การปรับลด หรือ ยกเลิกเส้นทางการบินที่ไม่สร้างรายได้หรือกำไร การปรับปรุงวิธีการขายตั๋วให้มีประสิทธิภาพ การขายสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก
รวมไปถึงการลดจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับภาระกิจ ซึ่งการปรับลดเหล่านี้ สร้างผลกระทบไปถึงผู้สูญเสียผลประโยชน์ในทุกภาคส่วน ...ส่งผลให้ผู้บริหารแผนฯ ทั้ง 3 ต้องต่อสู้กับแรงกดดันมหาศาล
แต่แม้จะเหลือเพียง 3 คน แผนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ก็ยังเดินหน้าไปด้วยดี บริษัทกลับมามีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ...ล่าสุด 9 เดือนแรกของปี 2567 มีรายได้รวม 146,624.91 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 15,195.21 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ "การบินไทย" ยังเตรียมตัวยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือ ออกจากแผนฯ ภายในไตรมาส 2/68 อีกด้วย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ...เพราะแม้การออกจากแผนฟื้นฟูกิจการจะเป็นเพียงแนวคิด แต่ก็ทำให้ “การบินไทย” กลับมาถูกจับจ้องอีกครั้ง...
ล่าสุดกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ และในฐานะที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักได้มีหนังสือมาที่บริษทฯ เพื่อเสนอให้เพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 ราย ด้วยเหตุผลที่ว่า “ในช่วงเวลาการดำเนินการตามแผนที่เหลืออยู่ บริษัทจะต้องตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ และมีผลผูกพันถึงการดำเนินงานต่าง ๆ ในอนาคต โดยการตัดสินใจที่สำคัญดังกล่าว บริษัทจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้นของบริษัทภายหลังการออกจากการฟื้นฟูกิจการมาร่วมตัดสินใจและสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง”
ดังนั้น ทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเรียกประชุมเจ้าหนี้ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นการแจ้งล่วงหน้าก่อนจัดประชุมเพียง 3 วันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหา คือ หลายฝ่ายเกิดความรู้สึกว่าไม่ไว้วางใจเนื่องจากมองว่าผู้เชี่ยวชาญที่กระทรวงการคลัง เสนอ อาจจะเป็นคนของ “ฝ่ายการเมือง” มากกว่าคนของคลัง
และเมื่อไม่ไว้ใจ...เจ้าหนี้บางส่วนจึงขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการประชุมเจ้าหนี้ออกไปเป็นวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เพราะมองว่าวาระพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผนเพิ่มอีก 2 คน ดูจะรีบเร่งมากไปจนอาจขาดความรอบคอบ
อย่าลืมไปว่า ผู้ถือหุ้นของ บมจ.การบินไทย (THAI) ไม่ได้มีแค่กระทรวงการคลัง หรือ พรรคพวกผู้มีอำนาจ แต่ยังมีนักลงทุนรายย่อยที่เป็นผู้ถือหุ้นอีกจำนวนมาก เฝ้ารอที่จะได้เห็นการบินไทยได้กลับมาเติบโตตามศักยภาพที่ควรจะเป็น ไม่ใช่แค่พอเริ่มฟื้นตัวก็จะถูกจับมาสูบเลือดสูบเนื้อจนฟื้นกลับมาไม่ได้
ว่ากันตามตรง...เจ๊เมาธ์ยังจำได้ว่า เมื่อครั้งที่ “การบินไทย” ตัดสินใจเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ หนึ่งใน “พันธกิจหลัก” ของการเข้าแผนฯ ก็คือ การมุ่งสู่การเป็นบริษัทเอกชนระดับ “มืออาชีพ” รวมไปถึงเพื่อให้ “หลุดพ้นออกไปจากการควบคุมจากฝั่งการเมือง” และผู้มีอำนาจทั้งหลาย
วันนี้ "การบินไทย" อาจเปรียบได้ดั่งดอกบัว ที่ไม่ว่าจะบริสุทธิ์สวยงามแค่ไหน แต่ “หากโผล่พ้นโคลนตมไม่ได้” ก็ไม่พ้นไปจากการ “เป็นอาหารของเต่าปลา”
เจ๊เมาธ์ก็ได้แค่หวังว่า อย่าได้มีปัญหาจนกลับไปมีปัญหาอย่างที่เป็นมาอีกเลยนะคะ ไม่เช่นนั้นสิ่งที่หลายคนหลายองค์กร ที่ลงทุนลงแรงเสียสละมาหลายปี ต้องสูญเปล่าไปอย่างแน่นอนเจ้าค่ะ