วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 20

03 ม.ค. 2568 | 23:30 น.

วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 20 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4059

อันที่จริงผมจะคุยเรื่อง เกาะกูด หันไปถามขอความเห็นกับ สหายนิรนาม ว่า เกาะกูด แปลว่า อะไร เขาก็สะบัดมุกใส่ไข่ฉับพลันทันใดว่า “ผมสนใจปัจจุบันมากกว่า เหตุที่เถียงกันให้มันยุ่งปวดขมับก็เพราะเอา ด.เด็ก มาประกอบตั้งชื่อเกาะ ถ้าเราไม่เอา ด.เด็ก เข้ามา คือ เอาคำว่า กูด มาลบ ด.เด็ก ออกซะ มันจะชัดเจนทันทีว่า นั่นมัน เกาะกู! เข้าใจรึเปล่า” (ฮา) 

ในเมื่อ กูรู เล่นกันแบบนี้ ผมก็เล่นมั่งว่า  คำว่า infant แปลว่า  “เด็กเล็ก” ซึ่งเป็นศัพท์ภาษาละติน แต่ก่อนเขาแปลกันว่า “คนที่พูดไม่ได้” ถ้างั้น “เฒ่าทารก” ท่านคงต้องเปลี่ยนฉายาใหม่ว่า “เฒ่าเยาว์วัย” รำพึงถึงประเด็นเหล่านี้ ก็นึกได้ว่ามีมุกต้องห้าม ไม่ควรนำมาใช้พูดกันในคืนที่จะมีการนับถอยหลัง
 

คนบ้านนอก : คุณมาจากไหน? 

คนนอกบ้าน : ผมมาจากสถานทีซึ่งเราไม่ได้พูดให้จบประโยคด้วยบุพบท

คนบ้านนอก : โอเค แล้วคุณถ่อร่างมาจากไหนล่ะ ไอ้จั๊ดง่าว? (ฮา) 

ใครจะเชื่อบ้างไหมว่า มวลพฤกษชาติ เขาก็มีวัฒนธรรมระบบอัตโนมัติ ยอดไม้ของ อะเคเซีย เขาก็หักเหลี่ยม ไม้หนึ่ง หลบหนี ยีราฟ จอมตอด ด้วยการปรับตัวให้กิ่งไม้ปรับตัวทอดยาวสูงขึ้นไปอีก ยีราฟ จอมตื๊อ ล่วงรู้ว่าจ๊อบนี้ต้องใช้วิทยายุทธ์โอลิมปิก ยืดคอยาวให้ถึงยอดไม้เพื่อกินใบอ่อน (ฮา)

อะคาเซีย มีพัฒนาการฉับไวเพิ่มขึ้นด้วยการใช้ ไม้สอง หลั่งสารเคมี “แทนนิน” ซุ่มไว้ในใบอ่อนมีผลให้ ยีราฟ เวียนศีรษะ (ฮา)

อะเคเซีย เขามี ไม้สาม ขับน้ำหวานออกมายั่วมดแบบเดียวกับ ต้นกระถินณรงค์ ตรงที่เขาก็สร้างกับดักสัตว์ให้มากินยอดใบอ่อน โทษฐานที่ ยีราฟ ไม่มีเอกสารสิทธิ์มาสำแดงยืนยันว่า รัฐบาลมนุษย์อนุมัติให้มากินฟรีได้ (ฮา)

อุบายที่ใช้ตอบโต้ ยีราฟ จอมตุกติก คือ ดึงดูดให้มดมาพ่นกรดฟอร์มิกวางยารอเหยื่อ สัตว์ที่อ้าปากมาเคี้ยวจะเจออาการถึงจุดสุดเซ็งคล้ายมดที่เข้าไปกัดงวงช้าง มดก็คงจะเล็งเอาไว้แล้วว่า ปลายงวงของ ยีราฟ มันอยู่ตรงไหน (ฮา)
จะเห็นได้ว่า ต้นไม้ก็อาศัยวัฒนธรรมเกิดจาก ธรรมชาติ กับ รุกขเทวดา มนุษย์ควรจะเรียนรู้การผูกเสี่ยว ตามหลักการผสมผสานระหว่างต้นไม้กับต้นไม้

                               วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 20

คำที่ท่านผู้อ่านคัดเลือกถามอย่างมีคุณภาพ ในการถามผมว่า “วัฒนธรรมต้องการอะไร?” ตอบได้เลยว่า 

“วัฒนธรรม” ไม่ใช่ “หนึ่งในหลายตัวเลือก” ตามรอย “เงาะป่าผู้ทรงเกียรติ” เพราะ “วัฒนธรรม” เป็น “เครื่องมือที่ทุกคนต้องมี” อย่างเช่น “ชุดความคิด” และ “ชุดปฏิบัติ” เนื่องจาก “วัฒนธรรม” เป็น “สื่อสารมวลโลกให้ม่วนแต๊” จะได้ช่วยให้ “สัตบุรุษ” แปลว่า “Gentlemen” ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วัฒนธรรมขนานแท้” ต้องเป็นกิจกรรมตัวอย่างที่ไม่สร้างความเสื่อม อย่างเช่น

“ซัดซวย”

อย่าเอาเบอร์โทรลูกค้าไปขายให้โจรเทา

“ฮีดเฮง”

วันปีใหม่เป็นโอกาสพิเศษที่เราควรจะล้างเท้าให้ คุณแม่ และ คุณพ่อ เพื่อ ขอโทษ ขอบคุณ และ ให้ผลไม้สไตล์โปรด แล้วเอาน้ำในกาละมังมากรองเพื่อเอาน้ำนั้นไปอาบแก้เคล็ด ผลลัพธ์จะเด็ดสาระตี่นะพี่น้อง

“จิตแจ้ง”

อโหสิกรรมให้กับทุกรูปทุกนาม ที่เขาเคยเบียดเบียนเราทุกภพชาติโดยไม่ถือโทษโกรธเคืองและไม่เลือกที่รักมักที่ชัง บุญนั้นจะเป็นพลังล้างความขุ่นในจิตใจโดยไม่ต้องพี้ยา จิตเราจะสว่างดุจพระจันทร์วันเพ็ญ

อย่าชะล่าใจว่า เรื่องเหล่านี้เรารู้เพียงพอแล้ว คิดจะเป็นจอมยุทธ์ต้องมีอาวุธลับเอาไว้สำรองเสมอ ผมเองเป็นวิทยากรมา 45 ปี ยังเผลอได้หน้าตาเฉย วันก่อนผมนัดพบรุ่นน้องไปคุยงานกันที่ ห้างเซ็นทรัลเวสต์เกรต โดยสารรถไฟสายสีม่วง ช่วงที่ไปเปลี่ยนขบวน สีน้ำเงิน ไปนั่ง สีม่วง รถไฟเข้ามาจอดเทียบชานชะลา ไม่มีการประกาศใดๆว่าให้รอก่อน ผมยืนอยู่หัวแถว ประตูเปิดปุ๊บผมก็เดินเข้าไปนั่งปั๊บ ประตูปิดเลยนิ ดีนะที่เข้าไปนั่งถูกขบวน ผู้ร่วมเดินทางทั้งแถบไม่มีใครก้าวตามเข้ามาเป็นเพื่อนสักคน (ฮา)

วัฒนธรรม เป็นรากฐานที่ช่วยแสวงหาความสวัสดี

วัฒนธรรม คือ นักออกแบบพฤติกรรมในความเป็นมนุษย์

วัฒนธรรม อยู่เพื่อปักหลักสร้างสรรค์  ห้างสรรพสไตล์ จะได้มีไว้ให้แฟนคลับเลือก

เบิร์นด์ บาวช์ กูรูสายวัฒนธรรมถามเองตอบเองว่า “ทำไมต้องมีวัฒนธรรม?” คำถามนี้สมเหตุสมผลครือกันเลย กับคำถามที่ใฝ่รู้ว่า “ทำไมคนเราต้องมีร่างกาย”

มีเรื่องเอามาเล่าส่งท้ายปีเก่าเคล้าเคลียปีใหม่แถมสักนิดว่า ชายคนหนึ่งที่ไปเยี่ยมชมวัดที่สวยงามแห่งหนึ่ง วัดนั้นตั้งอยู่บนภูเขาแห่งหนึ่ง และทางเดียวที่จะไปถึง วัดที่สวยงามแห่งหนึ่งได้ ต้องนั่งกระเช้า ที่เขาใช้เชือกชักรอกดึงขึ้นไปที่โบสถ์แห่งหนึ่ง 

ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นคนเดิมนั่นแระ สังเกตเห็นจนเริ่มชักจะป๊อดๆ ว่าเชือกมันขาดค่อนข้างมาก จึงถาม พระภิกษุรูปหนึ่ง ว่า “ผู้ดูแลคนใดคนหนึ่งเปลี่ยนเชือกบ่อยแค่ไหน พระภิกษุรูปหนึ่ง เพราะไม่ได้มาสองรูปก็ตอบเพียงหนึ่งครั้งว่า “เปลี่ยนให้ทุกครั้งที่เชือกมันขาด” (ฮา)

ดวงชะตาของทุกท่านในทุกๆ ปี “ขอให้ร้ายกลับกลายเป็นดี” และ “ไม่มีคำว่าไม่มี” ตลอดกาล