*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,945 ระหว่างวันที่ 3-6 ธ.ค. 2566 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ “ภาคการท่องเที่ยว” ของไทย ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งในการค้ำจุนเศรษฐกิจประเทศ ยังคงมีบทบาทและทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม จากการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้อัพเดทสถานการณ์การท่องเที่ยวประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-26 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา พบมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ทั้งสิ้น 24,487,178 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวแล้ว 1,039,530 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.มาเลเซีย 3,988,343 คน 2.จีน 3,053,186 คน 3.เกาหลีใต้ 1,447,187 คน 4.อินเดีย 1,431,487 คน 5.รัสเซีย 1,253,836 คน
*** ทั้งนี้ ภาครัฐได้ตั้งเป้าหมายสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ปี 2566 ให้กลับมาในอัตรา 80% ของปี 2562 โดยคาดว่าจะผลักดันเพื่อให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2566 แตะที่ระดับ 1.3-1.5 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคน ก่อนหน้านั้นประเทศไทยเคยทำไว้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ราว 39-40 ล้านคน เมื่อปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ...แม้ช่วง 3 ไตรมาสแรกการท่องเที่ยวไทยจะไปได้ดี แต่ต้องมาลุ้นว่าเมื่อจบ 4 ไตรมาส ทั้งปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาเที่ยวไทยบรรลุเป้าที่วางไว้หรือไม่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจาก “จีน” ที่แม้จะยกเว็นวีซ่าให้แล้ว แต่ก็ดูจะเข้าไทยไม่คึกคักอย่างที่คาดหมายไว้
*** ทำตามสัญญาประชาคมที่เคยให้ไว้ขณะหาเสียงเลือกตั้ง และแล้ว “รัฐบาลเพื่อไทย” ที่มี เศรษา ทวีสิน เป็นนายกฯ ขับเคลื่อนการบริหารประเทศ ก็ได้มีมติให้ “ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอ โดยเป็นการปรับอัตราเงินเดือน “แรกบรรจุ” และ การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว คาดว่าเริ่มต้นได้เดือน พ.ค. 2567
*** สำหรับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ จะทยอยปรับตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) ในอัตรา 10% ภายใน 2 ปี เช่น คุณวุฒิระดับปริญญาตรี จากเดิม 15,000 บาท เป็น 16,500 บาท ในปีที่ 1 และปรับเป็น 18,150 บาท ในปีที่ 2 , การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 ครั้ง ให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละปีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการ ก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี
*** สำหรับกลุ่มข้าราชการที่จะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนนั้น ประกอบด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ ข้าราชการในหน่วยธุรการของศาล (สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ) ข้าราชการในสำนักงานขององค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ (สตง. สนง.ป.ป.ช. สนง.กสม. และข้าราชการธุรการอัยการ)
*** ในส่วนของการปรับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว ประกอบด้วย ปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวจากเดิม เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็น เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท, ปรับเพดานขั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท เป็น เดือนละ 11,000 บาท, ปรับเงินเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญขั้นต่ำ จากเดิม 10,000 บาท เป็น 11,000 บาทครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ทหารกองประจำการ และ ผู้รับบำนาญ คาดว่าจะใช้งบประมาณ เพิ่มขึ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาทต่อปี ... ตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ปริญญาตรี ต้องได้เงินเดือน 25,000 บาท มารอดูกันว่าในยุค “รัฐบาลเพื่อไทย” จะทำได้ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่
*** จาก “ข่าวดี” ไปดู “ข่าวร้าย” เป็นข่าวร้ายเรื่อง “ค่าไฟแพง” ที่จะกลับมาแล้วหลังปีใหม่ 2567 เมื่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 53/2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และมีมติเห็นชอบให้ “ปรับค่าเอฟที” ขายปลีกสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
การพิจารณาปรับค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ดังกล่าวนี้ กกพ.คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และขณะเดียวกันต้องไม่กระทบต่อศักยภาพความมั่นคงในการบริการพลังงานของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยเป็นการปรับให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. รับภาระไว้บางส่วน เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็น ...หมดโปรช่วยเหลือ “ค่าไฟแพง” คนไทยก็หันมาเดือดร้อนกับไฟแพงกันต่อไป...