*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,942 ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ย. 2566 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** ยังคงเป็นคำถามที่ค้างคาใจหลายคนว่า “เศรษฐกิจไทยวิกฤตจริงหรือ” หลัง “รัฐบาลเศรษฐา” โดยเฉพาะตัว นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เองที่ออกมาย้ำในหลายเวทีว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ จำเป็นต้องกู้เงินมาดำเนินนโยบาย “แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
“ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด ที่ประสบปัญหาสะสมมาโดยตลอดในเรื่องของจีดีพีที่ไม่เติบโตมานาน ทุกคนมีความเป็นห่วงว่านโยบายนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งผมเคยพูดไปแล้วว่าประเทศไทยอยู่ในสภาพเศรษฐกิจวิกฤต และมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ถือเป็นนโยบายสำคัญที่เราจะผลักดันให้เกิดขึ้น และมั่นใจว่าจะมีการผลักดันให้เกิดขึ้น” นายกฯ เศรษฐา ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ขณะปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
ถัดมาวันที่ 19 พ.ย. 2566 ที่ประเทศไทย เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกฯและรมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “The time to act is now พลิกวิกฤต ฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน” ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 โดยย้ำถึงนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยว่า “มีบางคนเห็นว่า ไม่เร่งด่วน ไม่จำเป็น ไม่วิกฤต แต่รัฐบาลนี้เห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เร่งด่วน และสภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่วิกฤต ส่วนที่บอกว่า ถ้าจะวิกฤต ต้องจีดีพีติดลบ ท่านพูดถูก ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่วิกฤต แต่เราหรือประเทศไทย ไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เราอยู่บนโลกของการแข่งขันที่สูงมาก ถ้าย้อนกลับไปดูประเทศคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จะพบว่าตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวขยายตัวไปเท่าไรในปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับไทย ซึ่งเชื่อว่าทุกคนทราบดีว่า ไทยสามารถทำได้และไปไกลได้อีก ขณะที่ในช่วง 9-10 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยต่ำกว่า 2%”
*** “เศรษกิจวิกฤต-ไม่วิกฤต” ลองไปดูรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566-2567 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดย ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัว 1.5% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 1.8%
ทั้งนี้เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยติดลบ 3.1% ทำให้สาขาอุตสาหกรรมติดลบไปด้วย 4% ขณะที่การบริโภคภาครัฐบาล ติดลบ 4.9% เป็นผลจากการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาด ลดลง 38.6% และรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัว 0.5% ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 66) เศรษฐกิจไทยขยายตัว อยู่ที่ 1.9%
สศช.ปรับประมาณการจีดีพีทั้งปี 2566 ใหม่ จากเดิมประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้อยู่ในกรอบ 2.5-3% เหลือเป็นขยายตัว 2.5% หรือเน้นกรอบล่างของคาดการณ์เดิม เทียบกับปี 2565 ที่จีดีพีโตได้ 2.6% โดยประเมินว่า การลงทุนภาครัฐจะหดตัวไปถึง 1.8% เพราะติดปัญหาเรื่องของงบประมาณปี 2567 ที่ยังไม่สามารถใช้ได้ โดยทั้งปี 2567 คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในระดับ 2.7-3.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.2%
*** สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2567 คาดการณ์จีดีพีจะโตได้กว่า 3.7% ในกรอบบน สศช.ยังไม่ได้รวมผลจากการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เข้าไปด้วย เนื่องจากต้องรอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ท้ายที่สุดแล้วจะใช้วงเงินเท่าใด ใช้เงินจากแหล่งใด ใช้เงินกู้หรือไม่ และรอดูความชัดเจนในประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ รูปแบบการใช้จ่าย
*** เลขาฯ สศช. ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังสามารถขยายตัวได้ดี ไม่ได้เข้าขั้นวิกฤต แม้ตั้งแต่หลังผ่านการระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจไทยก็มีความผันผวนมาตลอดโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก อาทิ ปัญหาเงินเฟ้อสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่เศรษฐกิจภายในของไทยเองยังสามารถเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค หรือ การท่องเที่ยว
แต่หากจะให้ดีกว่านี้ ก็ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคใหญ่ และมีความเกี่ยวข้องกับการส่งออก โดยยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้าง เพื่อไม่ให้การเติบโตอยู่ในระดับแค่กว่า 3% ไปแบบนี้ โดยต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่มีผลต่อการเติบโตของประเทศ
...เศรษฐกิจไทยวิกฤตจริงหรือไม่ ดูจากคำแถลงและตัวเลขของ “สภาพัฒน์” แล้ว น่าจะเป็นคำตอบได้อย่างดี