TSE หรือนี่คือหุ้นการเมือง???

13 ธ.ค. 2565 | 20:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2565 | 09:54 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

***ดูเหมือนว่า การประกาศรายชื่อเอกชนยื่นคำขอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จำนวน 303 จากทั้งหมด 670 โครงการ ของ กกพ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) จะมีไรแปลกอยู่บ้าง เนื่องจากพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่าง บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นมากสุดจำนวนถึง 50 โครงการ รองลงมาคือ BGRIM ซึ่งได้มา 8 โครงการ ส่วนบริษัทที่เหลือเช่น BCPG  GUNKUL  ACE EGCO TPIPP  WHA UAC และ QTC ต่างก็ผ่านเกณฑ์เพียงแค่บริษัทละไม่กี่โครงการเท่านั้น  


เนื่องจากในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TSE มี บริษัท พี.เอ็ม. เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TSE ในสัดส่วน 36.98% (บ. พี.เอ็ม. เอ็นเนอร์ยี่ มี “ประชา มาลีนนท์” ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 63.43%) และมี บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 9% ขณะที่ “รัตนา มาลีนนท์” ลูกสาวของ “ประชา” ถือหุ้นอยู่อีก 1.9% 


อย่าลืมว่า “ประชา มาลีนนท์” เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ STEC ก็มี บริษัท ซี.ที. เวนเจอร์ จำกัด ซึ่งมี นัยน์ภัค  ชาญวีรกูล และ เศรณี ชาญวีรกูล บุตรสาว และบุตรชายของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในรัฐบาลปัจจุบันเป็นถือหุ้นใหญ่

 

เจ๊เมาธ์ไม่ได้บอกว่า TSE เป็นหุ้นเกี่ยวกับการเมือง เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทแห่งนี้มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนเรื่องที่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นต้นปีหน้า หรือ จะเกี่ยวกับการจับมือระหว่างพรรคการเมืองอย่างไรหรือไม่...เรื่องนี้เจ๊เมาธ์ไม่รู้จริงๆ เจ้าค่ะ อิอิอิ 


*** เมื่อว่ากันด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง ก็ทำให้เจ๊เมาธ์อดนึกไปถึงหุ้นตัวแรง ที่ขยับราคาขึ้นมาอย่างโดดเด่นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาด้วยไม่ได้ เพราะหลังจากที่ชื่อของ “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ขยับขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการปรับราคาขึ้นมาขึ้นมาเนื่องจากบริษัทมีกำไรดีขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (2564) ทั้งที่แม้ว่าจะมีกำไรอยู่บ้าง แต่ในส่วนของรายได้กลับไม่ได้เติบโตอย่างมีนัยยะอย่างที่ควรจะเป็น 


ดังนั้น ประเด็นหลักที่มองได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นของ SIRI ปรับตัวแรงขึ้นมาจึงเป็นเพียงแรงจูงใจจากเรื่องการเมืองเป็นหลัก ถึงแม้ในท้ายที่สุดแล้ว “เศรษฐา” อาจจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน หรือแม้แต่อาจจะไม่ได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ก็ตาม แต่เมื่อราคาหุ้นปรับขึ้นมาได้ไกลขนาดนี้ ก็เพียงพอที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้วเต็มๆ
 

*** ราคาหุ้นของ TRUE และ DTAC กลับมาขยับราคากันอีกครั้งหลังจากที่ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของสภาองค์กรของผู้บริโภค กับ พวกที่ขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา 4 ประเด็นหลัก โดยเฉพาะประเด็นการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ ที่เกิดจากการควบรวมให้แก่ผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัทที่ราคาพาร์ 4 บาท ก่อนจะนำหุ้นบริษัทใหม่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนหุ้น TRUE และ DTAC ที่เพิกถอนออกจากตลาดไปพร้อมกัน ขณะที่ก่อนหน้า คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้ตีความแล้วว่า กสทช.มีหน้าที่เป็นผู้รับรู้ และกำหนดกติกาให้การควบรวมกระทบกับผู้บริโภคน้อยที่สุด ดังนั้น จากนี้ไปเราอาจจะได้เห็นการกลับมาไล่ราคาหุ้นของ TRUE และ DTAC ก็เป็นไปได้ เตรียมตัวกันให้ดี....ทุกอย่างพร้อมแล้ว 


*** ถึงแม้เจ๊เมาธ์จะดีใจที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยครบ 10 ล้านคน แต่มุมมองที่เจ๊เมาธ์มีต่อ AOT ในเรื่องของการเป็นหุ้นหลุมหลบภัยยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะถึงแม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก แต่บริษัทยังมีโอกาสที่จะต้องแบกรับผลการดำเนินงานที่ขาดทุนต่อไปจนถึงปลายปี เนื่องจากที่มาของรายได้ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และถึงแม้ว่าราคาหุ้นของ AOT จะปรับตัวดีขึ้นจนเกือบจะเท่ากันกับราคาหุ้นก่อนช่วงโควิด แต่ก็เป็นราคาหุ้นที่มาไกลกว่าเป้าหมายพื้นฐานที่นักวิเคราะห์จากหลายสำนักวิเคราะห์ให้เอาไว้แล้วเช่นกัน ดังนั้น ถ้านักลงทุนคาดหวังว่าราคาหุ้นของ AOT จะไปต่อได้เรื่อยๆ ก็อาจจะผิดหวัง แต่ถ้าคาดหวังให้เป็นหลุมหลับภัยก็ไม่มีปัญหา เพราะแม้ว่า AOT จะไม่ขึ้นสูงไปมากกว่านี้...แต่ก็ไม่ลงต่ำเกินไปแน่นอนค่ะ


*** ปิดท้ายที่...คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรวมปริมาณรับซื้อประมาณ 5,200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 1. ก๊าซชีวภาพ 335MW 2.พลังงานลม 1,500 MW 3. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery storage) 1,000 MW 4. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 MW โดยเมื่อ 9 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา มีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบ และเตรียมประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกภายในวันที่ 15 มี.ค.2566 และเริ่มทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567 เป็นต้นไป


ยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานก.ก.บริหาร บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EP) ชี้แจงว่า บริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้รับคัดเลือกและผ่านคุณสมบัติในรอบแรกในการจำหน่ายพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ให้กับ กกพ. 8 โครงการ กำลังการผลิตรวม 61.625 เมกะวัตต์  แบ่งเป็น บริษัท เอ็ปโก้ กรีน พาวเวอร์ พลัส จำกัด 4 โครงการ และ บริษัท อีเทอร์นิตี้ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) 4 โครงการ ซึ่ง EP มั่นใจอย่างมากว่าบริษัท มีความพร้อมในทุกมิติที่จะทำงานหากได้รับเลือกอย่างเป็นทางการจาก กกพ. ที่จะประกาศผลภายในวันที่ 15 มี.ค.2566 ซึ่งการผ่านการคัดเลือกในรอบแรก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของบริษัทฯ ซึ่งมีทั้งประสบการณ์การทำงานที่มีมายาวนาน และที่สำคัญกลุ่มบริษัทมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะสามารถดำเนินงานตามแผนงานที่เสนอได้ทุกโครงการ 


โดยที่ผ่านมามีโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่ EP ดำเนินการอยู่ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ประเทศเวียดนาม จำนวน 160 mw ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียม COD กับทางการเวียดนาม รวมถึงโครงการโซลาร์รูฟ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว