“โรคมะเร็งตับ” เป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในประเทศไทย ผู้ป่วยมะเร็งตับมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการมากแล้วหรือเป็นระยะท้ายของโรค ขนาดของก้อนมะเร็งเมื่อตรวจพบมักโตเกินกว่าจะผ่าตัดได้
สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งตับที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักมีความสัมพันธ์กับภาวะดังต่อไปนี้
การรักษาโรคมะเร็งตับทำได้หลายวิธี วิธีที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก แต่ผู้ป่วยส่วนมากมักมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ โรคตับแข็ง หรือ มีก้อนเนื้องอกหลายตำแหน่ง เพราะฉะนั้นการรักษามะเร็งตับอีกวิธีที่นิยมอย่างแพร่หลาย คือการให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะทางผ่านทางหลอดเลือดแดง ที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งตับโดยตรง หรือที่เรียกว่า “TACE” หรือ Transarterial Oily Chemoembolization
นพ.ปรีช์โสภณ โศภนคณาภรณ์ รังสีแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีร่วมรักษาของลำตัว โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า TACE เป็นการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะที่ โดยแพทย์จะใส่สายสวนหลอดเลือดเข้าทางขาหนีบและสอดสายขนาดเล็กเข้าไปยังหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้อมะเร็งโดยตรง จากนั้นจึงให้ยาเคมีบำบัด
โดยจะอุดกั้นหลอดเลือดด้วยเม็ดโฟม (gel foam) เจลาตินขนาดเล็ก เพื่อไม่ให้เลือดกลับไปเลี้ยงก้อนเนื้องอกได้อีกและทำให้ก้อนเนื้องอกฝ่อตายในที่สุด ทั้งนี้ ปริมาณของสารเคมีบำบัดที่ใช้ มีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับการให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำ จึงช่วยลดผลข้างเคียงที่มีต่อส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
อย่างไรก็ตาม พบว่าเซลล์มะเร็งบางส่วนอาจเหลืออยู่และก่อตัวขึ้นได้อีกจากการกระตุ้นให้เนื้อเยื่อปกติที่อยู่ข้างเคียงสร้างหลอดเลือดใหม่เข้ามาเลี้ยงตัวก้อนเนื้อมะเร็งได้อีก ดังนั้น การทำ TACE อาจจำเป็นต้องทำซ้ำ ทุก 4-6 สัปดาห์ ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือมีหลายตำแหน่งเพื่อจำกัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,915 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2566